5 เรื่องที่พ่อแม่ "ไม่ควรทำ" ในบ้าน



กล่าวได้ว่า บ้านคือสถานที่มีรักที่ให้ความรักและความเข้าใจ แต่ถ้าบ้านเต็มไปด้วยอารมณ์ร้อน และบรรยากาศที่รู้สึกแย่ คนในบ้านก็จะร้อนและค่อย ๆ ถอยห่างออกจากบ้าน วันนี้เรามี 5 เรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรทำในบ้านมาฝากให้พิจารณากัน เพราะเป็นเรื่องหลัก ๆ ที่ทำให้บ้านในความรู้สึกของลูกเปลี่ยนไป ซึ่งแทนที่จะรู้สึกดี แต่กลับจะรู้สึกแย่ได้ หากพ่อแม่แสดงพฤติกรรม หรือท่าทีดังต่อไปนี้
       
1. เอาปัญหาจากการทำงานมาระบายออกด้วยอารมณ์กับคนในครอบครัว เช่น โวยวาย ใส่อารมณ์ และทำลายข้าวของ ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกมาทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัวนี้ เด็กกำลังเลียนแบบจากสิ่งที่พ่อแม่เป็นมากกว่าสิ่งที่พ่อแม่สอน ถ้าต้องการให้ลูกเติบโตเป็นคนอย่างไร ควรทำตัวให้เป็นคนเช่นนั้นให้ได้ก่อน แต่ถ้าเผลอหลุดอารมณ์ร้อน ๆ ออกมาก็ควรเข้าไปขอโทษลูก แต่ไม่ใช่หลุดบ่อย ๆ ควรรู้จักควบคุม และนึกถึงความรู้สึกของลูกเป็นหลัก ถ้าปัญหาหนักเกินแก้ควรหาทางปรึกษาปัญหานั้น ๆ กับคู่ชีวิต
       
2. เร่งรัดลูกในการเรียนรู้เกินไป แต่ไม่เข้าใจว่า เด็กยังต้องรอการเติบโตจากภายภาคหน้า บางครั้งเขาอาจจะทำอะไรไม่ได้ตามที่เราหวัง ควรให้เวลาลูกเตรียมตัวเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ ได้เมื่อเขาพร้อม แต่ถ้าลูกมีปัญหาในด้านการเรียน ควรมานั่งคุยกันเพื่อหาสาเหตุ และแก้ปัญหากันต่อไป ดีกว่าที่จะไปกดดัน หรือเข้มงวดกับลูกมากจนเครียดเกินไป นั่นอาจไม่เป็นผลดีต่อตัวลูก
       
3. ใช้วิธีบ่น และต่อว่าในการฝึกวินัยให้ลูก แต่เวลาลูกทำดีกลับไม่เคยชม ซึ่งการบ่น และต่อว่านี้ มักเป็นไปตามอารมณ์ของพ่อแม่มากกว่าความผิดของลูก อาจทำให้ลูกเป็นคนก้าวร้าวได้ ทางที่ดี ควรชื่นชมและให้กำลังใจลูกเมื่อเขาทำในสิ่งที่ดี ส่วนในกรณีที่ลูกทำผิด ควรพูดคุยด้วยท่าทีเป็นมิตร นุ่มนวล น่าฟัง ซึ่งบ่งบอกถึงความรู้สึก และเหตุผลแทนการใช้อารมณ์ และการออกคำสั่ง เช่น ลูกของแม่เป็นเด็กน่ารัก พูดง่าย แม่อยากให้ลูกปิดคอมพิวเตอร์แล้วเข้านอนไว ๆ เพราะแม่กลัวว่าลูกจะตื่นไม่ไหว เป็นต้น ซึ่งการตีควรเลือกใช้เป็นวิธีสุดท้าย และไม่ควรใช้เป็นกิจวัตรเมื่อเด็กทำผิด
       
4. ทำตัวเป็นพระเอกหนังบู๊ล้างผลาญเลือดท่วมจอมากกว่าที่จะแก้ปัญหาด้วยสติ ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง แต่พระเอกอย่าง "พ่อ" ควรทำหน้าที่คอยดูแลสุขทุกข์และสร้างความสุขให้แก่ทุกคนในบ้าน พ่อต้องเป็นฮีโร่ของลูกที่ช่วยแก้ไขปัญหาภายใน และภายนอก ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา พร้อมช่วยให้ลูกตัดสินใจแก้ปัญหาได้ตลอดเวลา ส่วนแม่ต้องคอยเป็นกำลังใจให้กับคนในครอบครัว พูดแต่พองาม และใช้คำพูดที่กลั่นกรองด้วยเหตุผล และความรัก แล้วทุกปัญหาจะคลี่คลายไปได้ด้วยดี
       
 5. ทำหน้าบึ้งตึง หรือมีท่าทีเฉยเมยเหมือนไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน ซึ่งการแสดงสีหน้า หรือท่าทางแบบนี้ ทำให้ลูกกลัว และไม่กล้าเข้าใกล้ แถมยังรู้สึกอึดอัดอีกด้วย ทางที่ดี ควรยิ้มให้กัน เพราะการยิ้มช่วยให้เกิดอารมณ์ที่เป็นสุขตามมา ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย และยังช่วยสร้างบรรยากาศในทางสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นกับครอบครัวด้วย นอกจากนี้การโอบบ่า จับมือ ลูบศีรษะกับลูก-หลาน บ่งบอกได้หลายความรู้สึก และใช้ได้หลายสถานการณ์ เช่น การแสดงความรัก ความเอ็นดู ความเห็นใจ แต่ถ้าครอบครัวใดเขินอาย การแสดงความห่วงใยด้วยการถามไถ่ และใส่ใจความรู้สึกของลูก เช่น กินข้าวหรือยัง วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับลูกค่ะ



ขอบคุณ ที่มา : manageronline  


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement