เรื่องร้อนๆ ที่อันตรายหากไม่ระวัง


“ทำไมร้อนแบบนี้” “โอ๊ย..ร้อนจังเลย” “ตับจะแตก” เสียงบ่นพึมพำที่ได้ยินกันหนาหูในช่วงนี้ จากอากาศที่ร้อนอบอ้าวและดูเหมือนจะร้อนกว่าในทุกๆ ปีที่ผ่านมา และจากสภาพอากาศแบบนี้ คุณรู้หรือไม่ว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ในหลายๆ ทาง หากเราไม่ระมัดระวัง.....

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวไว้ว่า จากอากาศที่ร้อนถึงร้อนมากติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะเดือนเมษายนนี้แสงแดดจะแรง อากาศร้อนจัด เสี่ยงต่อการป่วยด้วย 4 โรคสำคัญ ได้แก่

1.โรคลมแดดหรือฮีสโตรก (Heat Stroke) อาการที่สังเกตง่าย คือ ผิวหนังจะแดงร้อน และแห้ง ไม่มีเหงื่อ หากวัดปรอททางปาก อุณหภูมิจะสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส หรือ 103 องศาฟาเรนไฮต์ ผู้ป่วยจะชีพจรเต้นแรง คลื่นไส้ โดยเบื้องต้น ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวหรือแช่ตัวในน้ำเย็น ในรายที่มีอาการหนัก อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นห่อตัวไว้ และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้

2.โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) จะมีอาการเหงื่อออกมาก หน้าซีด ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย อ่อนแรง หรือเป็นลม ในการช่วยเหลือคนที่เป็นโรคเพลียแดด ให้ดื่มน้ำเย็น อาบน้ำหรือเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หากเป็นไปได้ให้อยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย และสวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย อาการก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปกติได้เอง

3.โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) มักพบในผู้ที่ทำงานกลางแดด หรือออกกำลังกายหักโหมขณะที่มีอากาศร้อน จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หน้าท้อง แขน ขา มีอาการเกร็ง ผู้ป่วยต้องหยุดออกกำลังกายหรือหยุดใช้แรงทันที เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ไม่ควรออกกำลังกายซ้ำภายใน 2-3 ชั่วโมง ให้ดื่มน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่ หากเป็นไปได้ให้อยู่ในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 1 ชั่วโมงให้รีบไปพบแพทย์ และ

4.ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) เป็นอาการที่เบาที่สุด ผิวหนังจะเป็นรอยแดงปวดแสบปวดร้อนเล็กน้อยหลังถูกแดด ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ในการดูแลหากผิวหนังไหม้แดด ขอให้หลีกเลี่ยงการออกแดดซ้ำ และประคบด้วยความเย็น เช่นผ้าเย็น กระเป๋าน้ำแข็ง ถุงเจลแช่เย็น และทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็นรอยไหม้ หากมีตุ่มพุพองขึ้นห้ามเจาะ เพราะจะทำให้อักเสบได้

          นอกจากโรคที่ต้องระวังในช่วงนี้แล้ว เรื่องของ “อาหารการกิน” ในช่วงนี้ก็สำคัญเช่นกัน เพราะในสภาพอากาศร้อนเช่นนี้ มันเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ง่าย โดยที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงหน้าร้อนระหว่างเดือนมีนาคม–เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่อากาศในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงมาก และมักพบการเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารไม่สะอาด อาหารปรุงสุกๆดิบๆ และอาหารที่ทำล่วงหน้าเกิน 4ชั่วโมง  ซึ่งอากาศร้อนแบคทีเรียจะเจริญเติบโตได้เร็ว ทำให้อาหารบูดง่าย

           อีกหนึ่งโรคสุดท้ายที่ต้องระวังอย่างยิ่งในช่วงนี้ นั่นคือ โรคพิษสุนัขบ้า โดยแพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า"ช่วงเดือนเมษายน อากาศจะร้อนจัดมาก ซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตและแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน อย่าง โรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสเรบีส์กัด ข่วน เลีย หรือมีน้ำลายกระเด็นเข้าตา ปากและทางผิวหนังที่มีบาดแผล เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายทำให้เสียชีวิต ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันจึงขอให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน้อยปีละ 1ครั้ง สัตว์เลี้ยงอายุตั้งแต่ 3เดือนจะต้องฉีดวัคซีนเข็มแรก เนื่องจากเด็กๆจะนิยมเล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆ เมื่อโดนกัดหรือข่วนเพียงเล็กน้อยก็คิดว่าไม่มีอันตราย อาจจะเสียชีวิตได้ถ้าสัตว์นั้นมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากสถิติผู้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าร้อยละ 60เกิดจากสุนัขของตนเองมากกว่าสุนัขจรจัด" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

           สำหรับอาการของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีน้ำลายไหล ซึม เบื่ออาหารคอแข็ง วิ่งพล่าน โมโหร้าย วิ่งกัดคนไม่เลือก หากพบเห็นไม่ควรเข้าใกล้ และแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อกำจัดสัตว์ที่มีอาการโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อคนโดนสุนัขกัดจะต้องล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หลายๆ ครั้ง ไม่ควรบีบเลือดออกจากแผล เมื่อล้างแผลให้สะอาดเช็ดแผลให้แห้ง แล้วใส่ยาแผลสด กักขังสุนัขไว้ในกรง ให้น้ำให้อาหารตามปกติ ภายในวัน 10 วัน ถ้าสุนัขไม่มีอาการใดๆ แข็งแรง และกินอาหารได้ตามปกติ ก็มั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า หากสุนัขตายจะต้องรีบแจ้งให้ปศุสัตว์จังหวัดตรวจสอบสวนโรคทันที และรีบนำคนที่ถูกสุนัขกัดพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

นี่อาจเป็นเพียงบางส่วนของภัยร้ายในช่วงที่อากาศร้อนจัดแบบนี้  อย่างไรก็ตามเราควรเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับมันอยู่เสมอ อย่างน้อยก็เพื่อตัวคุณเองนะคะ

ขอบคุณที่มา : www.thaihealth.or.th






 


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Quiz


Advertisement