ย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคมมาไม่กี่วัน ซึ่งถือว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝนในกลางเดือนนี้ แต่ไทยก็ยังคงเผชิญสภาพอากาศอบอ้าว และร้อนจัด หรือ ร้อนสุด ๆ ซึ่งตัวเลขชี้ระดับอุณหภูมิสูงสุดในหลายจังหวัดทะลุกว่า 40 องศาเซลเซียส ไปแล้ว บางจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ก็เฉียดแตะ 40 องศา ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าปีนี้ร้อนตับแลบกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
จากการย้อนดูสถิติอุณหภูมิสูงสุดในรอบ 61 ปีที่ผ่านมา ปี 2555 นี้ ยังมิใช่เป็นปีที่ร้อนจัดสุด ๆ ทำลายสถิติในอดีต เพราะสถิติความร้อนสูงสุดที่ได้บันทึกไว้ พบว่า ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีระหว่าง พ.ศ.2549-2553 พบว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2522 และวันที่ 23 เม.ย.2533 กรุงเทพมหานครอุณหภูมิสูงสุดเคยขึ้นไปถึง 40 องศา ขณะจังหวัดที่เคยมีอุณหภูมิสูงสุดในรอบ 61 ปีที่ผ่านมา คือ อุตรดิตถ์ 44.5 องศา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2503
สำหรับสถิติย้อนหลังในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา จังหวัดที่อากาศร้อนทะลุ 40 องศา พบว่า
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2541 หัวหิน อุณหภูมิ 41.2 องศา
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2548 ตาก 41.2 องศา
วันที่ 31 มีนาคม 2548 หนองคาย 42.8 องศา
วันที่ 15 พฤษภาคม 2553 แม่ฮ่องสอน 44 องศา
และวันที่ 20 เมษายน 2522 กรุงเทพฯ 40 องศา
ส่วน ปี 2555 นี้ พบว่า
เมื่อวันที่ 14 เมษายน อำเภอเมือง ตาก 41.2 องศา
วันที่ 16 เมษายน อำเภอแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน 41 องศา
และระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน ลำปาง 40 องศา
สำหรับกรณี ดวงอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะในประเทศไทย ซึ่งเกิดช่วงฤดูร้อนนี้ นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมดาราศาสตร์ไทย เขียนบทความบนเว็บไซต์สมาคมฯ ว่า แต่ละปีประเทศที่อยู่ในเขตร้อนจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุด 2 วัน กรุงเทพฯ อยู่ในราววันที่ 27 เมษายน และ 16 สิงหาคม ดังนั้น เดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมจึงมักเป็นช่วงที่กรุงเทพฯ มีอากาศร้อนที่สุด ส่วนในเดือนสิงหาคมแม้ว่าดวงอาทิตย์จะผ่านจุดเหนือศีรษะเช่นกัน แต่กลับไม่ค่อยร้อนมาก เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน
นายวรเชษฐ์ ยังคำนวณวัน-เวลาที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้
- อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 8 เมษายน เวลา 12:20 น.
- อ.เมืองนครศรีธรรมราช วันที่ 12 เมษายน เวลา 12:21 น.
- อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 21 เมษายน เวลา 12:20 น.
- กรุงเทพมหานคร วันที่ 27 เมษายน เวลา 12:16 น.
- อ.เมืองนครราชสีมา วันที่ 1 พฤษภาคม เวลา 12:09 น.
- อ.เมืองอุบลราชธานี วันที่ 2 พฤษภาคม เวลา 11:58 น.
- อ.เมืองพิษณุโลก วันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 12:16 น.
- อ.เมืองเชียงใหม่ วันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 12:20 น.
หลังจากช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะครั้งแรกของปีไปแล้ว จะเคลื่อนไปทางทิศเหนือมากขึ้น สังเกตได้ว่าในเวลาเที่ยงวัน ดวงอาทิตย์จะอยู่สูง และเบนไปทางทิศเหนือ ไม่เหมือนฤดูหนาวที่เบนไปทางทิศใต้ หากมีประตู หรือ หน้าต่างที่หันไปทางทิศเหนือ และใต้ จะพบว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องเข้ามาในบ้านได้เปลี่ยนทิศทางไปจากเดิม
ส่วนวัน-เวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะครั้งที่ 2 ของปี จะเริ่มที่ภาคเหนือก่อน แล้วลงไปทางใต้ ยกตัวอย่างบางจังหวัด ดังนี้
- อ.เมืองเชียงใหม่ วันที่ 29 กรกฎาคม เวลา 12:31 น.
- อ.เมืองพิษณุโลก วันที่ 6 สิงหาคม เวลา 12:25 น.
- อ.เมืองอุบลราชธานี วันที่ 11 สิงหาคม เวลา 12:06 น.
- อ.เมืองนครราชสีมา วันที่ 12 สิงหาคม เวลา 12:17 น.
- กรุงเทพมหานคร วันที่ 16 สิงหาคม เวลา 12:22 น.
- อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 22 สิงหาคม เวลา 12:24 น.
- อ.เมืองนครศรีธรรมราช วันที่ 1 กันยายน เวลา 12:20 น.
- อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 5 กันยายน เวลา 12:17 น.
แต่ละพื้นที่จะร้อนที่สุดหรือไม่นั้น? ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในวันดังกล่าวด้วย หากมีเมฆมาก ฝนตก หรือ ลมพัดแรง ก็จะคลายความร้อนอบอ้าวลงกว่าวันอื่นที่มีท้องฟ้าแจ่มใส หรือ ลมอ่อน
กว่าฤดูร้อนจะผ่านพ้นไป จึงต้องระวังสุขภาพให้ดี (โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้เป็นโรคอ้วน หรือ มีน้ำหนักตัวมาก ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ต้องทำงาน หรือ ออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมถึงผู้ที่ดื่มสุรา หรือ เบียร์ ในขณะสภาพอากาศร้อน) เพราะเสี่ยงต่อการป่วยโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก โรคเพลียแดด โรคตะคริวแดด และผิวหนังไหม้แดด ที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต คือ โรคลมแดด ซึ่งเกิดจากการได้รับความร้อนมากเกินไป ในภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ได้ รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาเร่งด่วน จึงควรเลี่ยงอยู่กลางแจ้งแดดจัดเป็นเวลานาน ดื่มน้ำให้เพียงพอ และสวมใส่เสื้อผ้าเบาสบาย
ขอบคุณ ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์