สืบเนื่องจากเหตุสารเคมีรั่วภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เตือนให้ระวังอันตรายจากสารเคมีที่ปนเปื้อนมาในอากาศ
โดยบรรดาเคมีพิษในอากาศมีอยู่หลายชนิดที่ก่อให้เกิดพิษร้ายถึงขั้นส่งผลต่อสุขภาพ ดังจะขอแบ่งง่ายๆ เป็น 2 พวก คือ พิษเฉียบพลัน และ พิษสะสม ส่วนลักษณะการเกิดพิษนั้นอาจแบ่งได้เป็น พิษเฉพาะที่ กับ พิษทั่วตัว ทั้งสองนี้อาจเกิดพร้อมกันไปก็ได้ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่กับนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่ใดที่มีสารเคมีก็ควรต้องระวังไว้ทั้งสิ้น และยังไม่เฉพาะกับซากกากเคมีเท่านั้น แต่ซากพืช ซากสัตว์ก็หมักจนเกิดพิษได้ อย่างเช่น ก๊าซมีเทน เป็นต้น
สำหรับตัวผู้ร้ายของเราที่เพิ่งระเบิดแถวนิคมอุตสาหกรรม คือ โซเดียมไฮโปคลอไรท์ เป็นสารฆ่าเชื้อหรือใช้ฟอกขาวทำโซดาไฟก็ได้ มีกลิ่น ฉุน มาก ถ้ารั่วออกมามากเช่นนี้ กลิ่นจะเตะจมูกคนจนรู้สึกได้
อาการเจ็บป่วยจากการได้สารพิษมีชื่อเรียกว่า ท็อกซิโดรมส์ มาจากท็อกซินผนวกกับซินโดรม ซึ่งผลของพิษที่ออกฤทธิ์ต่อสุขภาพมีดังต่อไปนี้ ระคายเยื่อบุอ่อน อาทิ เยื่อบุตา จมูก ช่องคอ ทางเดินหายใจ, เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ คออักเสบ หลอดลมบวมตีบ หายใจไม่ออก, คลื่นไส้อาเจียน, วิงเวียนสับสน, และอื่นๆ เช่น ฤทธิ์ต่อระบบประสาท สมอง ตับ ไต หัวใจ และกล้ามเนื้อ
ส่วนวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีสูดดม สัมผัสหรือเข้าหูเข้าตา โดยเฉพาะโซเดียมไฮโปคลอไรท์ และโทลูอีน เริ่มจาก ดูอวัยวะ ดูทางพิษเข้า เช่น กลืนเข้าคอ, สูดเข้าจมูก, สัมผัสกับผิวหนังหรือทางอื่นๆ เพราะแต่ละช่องทางการสัมผัสสารพิษจะเป็นตัวกำหนดการดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ถ้าเข้าคอก็ต้องกลั้วคอล้าง หรือเป็นหมอกควันพิษที่แสบหูแสบตาไปหมด ก็ต้องล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือปลอดเชื้อดังนี้ เป็นต้น
ต่อมา ผละให้ไว ไปยัง Support zone ที่จัดไว้ให้ไวที่สุด สารกลุ่มโซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นสารระเหยที่ลอยอ้อยอิ่งอยู่ในอากาศได้จึงต้องรีบออกมาจากสถานที่เกิดเหตุนั้นโดยไว แต่ก็ต้องไม่ตระหนกจนเกินไปเพราะในความสับสนนั้นอาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารนั้นมากยิ่งขึ้นได้
ให้ดูพิษ ถ้าเราทราบแหล่งที่มาของสารพิษนั้นด้วยได้จะดีเพราะเป็นข้อมูลที่บอกชนิดของพิษนั้นได้ว่าจะทำอันตรายกับอวัยวะใดของเราบ้าง การมีตัวอย่างสารพิษหรือมีข้อมูลโรงงานผลิตจะช่วยคุณหมอในการดูแลรักษาเบื้องต้นได้มาก
ไล่ตามปิด เมื่อทราบชนิดของพิษแล้วก็จะรู้ว่าอวัยวะที่เป็นเป้าใหญ่คืออะไร ให้มาพุ่งเป้าที่ส่วนนั้นๆ เช่น ไฮโปคลอไรท์จะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ คอเจ็บก็หาอุปกรณ์มาปิดตาปิดปากส่วนที่เสี่ยงเอาไว้ หรืออย่างโทลูอีนก็เป็นสารที่ระเหยได้หรือเป็นของเหลวให้สัมผัสได้ก็ต้องหาเสื้อกันสารเคมีชนิดที่มิดชิดมิดเม้นจะได้เลี่ยงสัมผัสเราง่าย
ทิศทางลม ใช้ได้กับสารระเหยที่เป็นเคมีลอยล่องอยู่ในอากาศรอบตัว โดยปกติถ้าเป็นก๊าซจะอยู่ได้ไกลถึง 600 เมตรในที่ลมสงบ แต่ถ้าลมแรงก็จะลอยไปไกลกว่านั้นมาก หากรู้ทิศแล้วจะได้หลบไว้ไม่ไปอยู่ใต้ลม เพราะเคมีบางชนิดก็เป็นก๊าซหนักจะลอยลงไปปกคลุมคนที่นอนอยู่ได้ เช่น กรณียูเนียนคาร์ไบด์ที่อินเดีย
ผสมน้ำ การปฐมพยาบาลด้วยน้ำสะอาดยังเป็นสิ่งที่ใช้ได้อยู่เสมอ หากแสบหูแสบตามากให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ น้ำ หรือเปิดน้ำก๊อกให้ไหลผ่าน ถ้าเปื้อนตามตัวให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนนั้นออก แล้วล้างน้ำให้มากเข้าไว้ จะช่วยให้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการสัมผัสเคมีพิษซ้ำสอง
ไม่ซ้ำอาเจียน สำหรับท่านที่เผลอกลืนเข้าไป การให้อาเจียนไม่ใช่ทางแก้ที่ดีนัก เพราะความตกใจอยู่แล้วอาจทำให้สำลักลงปอดยิ่งพาให้สารนั้นเข้าปนเปื้อนในตัวเราหนักขึ้นถึงขั้นปอดอักเสบ หรือถ้าไม่สำลักสารก็มักขึ้นมาในหลอดอาหารอีกครั้งทำอันตรายขึ้นมาได้ซ้ำสองอีกครั้งหนึ่ง
และ พบหาหมอ เมื่อแก้เบื้องต้นแล้วก็ยังไม่พ้นคุณหมอ โดยคุณหมอด้านเกี่ยวกับพิษต่อสุขภาพนี้คือ นักพิษวิทยา เป็นเชี่ยวชาญอาการพิษจากเคมี เมื่อไปหาแล้วให้ข้อมูลท่านละเอียดก็จะบอกได้ถึงชนิดของพิษนั้นและวิธีแก้หรือการส่งต่อไปหาคุณหมอเฉพาะทางในแต่ละด้าน เช่น โดนสารเคมีเข้าตาก็ส่งไปพบจักษุแพทย์
ขอบคุณ ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์