ปวดหลัง..สัญญาณเตือนภัยคุณแม่หลังคลอด


  
       คุณแม่หลังคลอดที่มีปัญหาปวดหลัง อาจเป็นสัญญาณเตือนนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น ข้อกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกมีปัญหา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือถึงขั้นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้
      
       ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ไคโรเมด สหคลีนิค มีคำแนะนำดีๆ เพื่อให้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูก ได้เข้าใจถึงภาวะการรับน้ำหนักของโครงสร้างร่างกาย และพร้อมที่จะรับมือกับอาการปวดหลัง หลังจากที่ต้องแบกรับน้ำหนักของลูกน้อยตลอด 9 เดือน ซึ่งอาจเป็นเหตุนำไปสู่โรคที่กล่าวมา
      
       อาการปวดหลังหลังคลอดนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างร่างกาย โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งร่างกายจะต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้นจากน้ำหนักของเด็กที่เพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ รวมทั้งผลจากการบำรุงครรภ์ทำให้โดยเฉลี่ยร่างกายต้องรับน้ำหนักมากขึ้น 25-30 กิโลกรัม ทั้งที่จริงแล้วน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักขึ้นจากเดิมเพียง 9-13 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่มาตรฐานที่แพทย์ให้การแนะนำ เมื่อน้ำหนักของเด็กมากขึ้นจะถ่วงท้องด้านหน้าเพิ่มขึ้น โครงสร้างร่างกายของเราจะมีการปรับสภาพ โดยการหมุนของแกนกระดูกอุ้งเชิงกรานไปด้านหน้า และเกิดการแอ่นตัวมาด้านหลังตอนบน เกิดเป็นลักษณะของการแอ่นของหลังตอนล่าง
      
       เมื่อแนวโน้มโครงสร้างมีการเปลี่ยนแปลง ภาวะการทำงานของกล้ามเนื้อที่พยุงหลังย่อมมีผลกระทบ ทำให้เกิดสภาพไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ โดยเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบางส่วนที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น สภาพที่เกิดขึ้นนี้ถ้าถูกปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้โครงสร้างหลังเสียความมั่นคง และนำไปสู่ภาวะของอาการปวดได้
      
       การออกกำลังกายหลังคลอดจะช่วยบรรเทาอาการปวดนี้ได้ โดยมีท่าของการออกกำลังกายดังนี้
      
       - ยืนหลังพิงฝาผนัง ส้นเท้าชิดผนัง พยายามกดหลังให้ส่วนเว้าของหลังชิดกับผนังให้มากที่สุด และแอ่นสะโพกขึ้นมาด้านหน้าเล็กน้อย พร้อมกับเกร็งหน้าท้องและคลาย ทำสลับกัน 10-15 ครั้ง ท่านี้จะช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และลดการแอ่นของหลังส่วนล่าง
      
       - นั่งเก้าอี้ หลังเหยียดตรง มือซ้ายจับเข่าขวา พยายามบิดตัวไปทางขวาช้าๆ สลับกัน มือขวาจับเข่าซ้าย บิดตัวไปทางซ้ายช้าๆ ท่านี้ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
      
       - การอุ้มเจ้าตัวน้อยก็สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่กล้ามเนื้อคุณแม่ยังไม่แข็งแรง จึงควรอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง โดยอุ้มให้ใกล้ตัวมากที่สุด หากเมื่อยหรือเกิดอาการล้าให้สลับแขนอุ้ม เพื่อลดปัญหาอาการปวดหลัง
      
       - แม่หลังคลอดควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูโครงสร้างร่างกาย ตั้งแต่ในระยะ 1-2 เดือนแรกหลังคลอด ไม่ควรทิ้งช่วงนานเกิน 3 เดือน เนื่องจากอาการอาจสะสมจนกลายเป็นปัญหาปวดหลังเรื้อรังได้ค่ะ




ขอบคุณ ที่มา : นิยสารรักลูก      

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement