โรคพ่อแม่ทำ


 

>
เมื่อเอ่ยถึง “โรค” เป็นความผิดปกติในตัวเด็กที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ใครจะไปนึกว่า อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ผิดพลาด และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งนับเป็นเรื่องของความละเอียดอ่อนในการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ทุกคนควรเรียนรู้ และเชื่อว่า คงไม่มีใครอยากให้เกิดกับลูกอันเป็นที่รักอย่างแน่นอน 
       
      พญ.ตวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก และวัยรุ่น ผู้เขียนหนังสือเคล็ดลับเลี้ยงลูก “4ดี” ถึงประเด็นดังกล่าว และสามารถสรุป “โรคพ่อทำแม่ทำในยุค 2012” ออกเป็น 4 โรคหลักๆ เพื่อให้พ่อแม่เกิดการฉุกคิด และให้ความใส่ใจในการเลี้ยงลูกกันมากยิ่งขึ้น เริ่มจาก

      
       โรคสมาธิสั้น
      
       ในยุคที่เร่งรีบ และแข่งขันสูง พ่อแม่หลายๆ คนมีเวลาให้ลูกน้อยลง ทำให้สื่อต่างๆ อย่างโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ เข้ามาแทนที่ โดยสื่อเหล่านี้ถือเป็นน้ำผึ้งเคลือบยาพิษสำหรับเด็กเลยก็ว่าได้ การปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอสี่เหลี่ยมมากๆ อาจทำให้ความฉลาดลดลง เนื่องจากสมองจะทำงานแค่ระดับตื้นๆ คือ แค่เห็นภาพและรับรู้ภาพแล้วเปรียบเทียบกับความจำเก่า เพราะโทรทัศน์จัดภาพให้เสร็จสรรพ เด็กดูเหมือนฉลาด แต่มักจะเรียนรู้จากความจำระดับตื้นๆ ขาดจินตนาการและการคิดต่อยอด ในที่สุด เด็กก็จะกลายเป็นคนคิดอะไรแบบผิวเผิน สมาธิไม่ดี ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้หรือผลการเรียนแย่ลง ดังนั้น ไม่ควรให้เด็กนั่งหน้าจอก่อนอายุ 2 ปี เพราะจะทำให้เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นในเรื่องต่างๆ
      
       “ทุกวันนี้ สภาพแวดล้อมยุ่งยากกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้การเลี้ยงลูกยากขึ้น ประกอบกับครอบครัวไทยยุคใหม่ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ต้องทำงาน และมีเวลาให้ลูกน้อยลง ส่งผลให้พ่อแม่และลูกมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันน้อยลงตามไปด้วย กลายเป็นสื่อที่เข้ามาทดแทน โดยเฉพาะโทรทัศน์ เป็นสื่อที่น่ากลัวมาก แม้แต่หมอ หรือผู้ใหญ่หลายๆ คน ยังไม่สามารถคัดกรองได้ดีเลย นับประสาอะไรกับเด็ก ทางที่ดี ถ้าไม่อยากให้ลูกกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น ควรปรับสภาพแวดล้อมให้เด็กอยู่กับหน้าจอสี่เหลี่ยมน้อยลง” พญ.ตวงพร เผย

       โรคเครียด
      
       ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ่อแม่ทุกคนล้วนมีความกลัวอยู่ในตัวว่าจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี หรือส่งเสริมศักยภาพให้ลูกได้ไม่เต็มที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายๆ คนจึงกดดัน และค่อยๆ นำความเครียดของตัวเองไปลงที่ตัวเด็ก เพื่อตอบสนองในสิ่งที่พ่อแม่อยากให้ทำ หรืออยากให้เป็น เช่น ต้องเรียนตามโปรแกรมที่พ่อแม่วางเอาไว้ หรืออยู่ในกรอบที่พ่อแม่กำหนด แต่นั่นหารู้ไม่ว่า คุณกำลังทำให้เด็กเครียด ยิ่งถ้าเด็กถูกกดดัน หรือถูกอัดวิชามากเกินวัยด้วยแล้ว เด็กอาจกลายเป็นม้าตีนต้น แต่ตายตอนจบได้ หมายความว่า พอถึงจุดหนึ่งเด็กจะรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่สนใจเรียนในที่สุด
      
       “พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกเป็นนักร้อง ก็เลยเชียร์ให้ลูกร้องเพลง แต่จริงๆ แล้วลูกชอบเล่นดินน้ำมัน ชอบเล่นกีฬามากกว่า การที่พ่อแม่จับกิจกรรมไม่ตรงจริตเด็ก อาจเกิดเป็นความเครียดตามมาได้ และเมื่อเกิดความเครียดสะสมมากขึ้น ถ้าเด็กไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ และจิตใจ โอกาสที่เด็กจะออกไปหาวิธีระบายในทางที่ไม่เหมาะสมย่อมเกิดได้สูง” จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นสะกิดใจพ่อแม่

 

       โรคติดเกม/อินเทอร์เน็ต
      
       ปัญหาเด็กติดเกม เป็นปัญหาที่ค่อยๆ ซึมลึก และยากที่จะแก้ไขเข้าไปทุกที จนหลายๆ ฝ่ายเริ่มเป็นห่วง และกลัวว่า เด็กยุคใหม่จะเป็นโรคติดเกม/ติดอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมในบ้านที่ไม่มีการฝึกวินัยในการเล่น หรือบางบ้านปล่อยให้เกม หรือคอมพิวเตอร์เข้ามาอยู่เป็นเพื่อนลูกแทนพ่อแม่ เนื่องจากไม่มีใครช่วยดู อย่างไรก็ดี ปัญหาเด็กติดเกม ใช่ว่าจะเกิดจากครอบครัวที่มีปัญหาเสมอไป หลายครอบครัวที่อบอุ่นแต่ไม่รู้มาก่อนว่า เกมจะก่อปัญหา จึงให้ลูกเล่นตามใจชอบตั้งแต่เด็ก ทำให้เด็กค่อยๆ ติดจนกลายเป็นโรคติดเกมในที่สุด ยิ่งถ้าพ่อแม่ไม่มีกิจกรรมดีๆ มารองรับด้วยแล้วก็ยากที่จะกู่กลับ บางคนติดเกมจนไม่สนใจเรียนกันเลยก็มี
      
       ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กติดเกมจนกลายเป็นโรคติดเกม ควรสร้างข้อตกลงในการเล่น หรือใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่เล็กๆ เช่น ฝึกให้เด็กเล่นจนครบเวลาตามที่กำหนดไว้ และให้ลูกปิดคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ควรเล่นเกิน 3 ชม.ต่อวัน เพราะมีการศึกษาวิจัย พบว่า เด็กที่เล่นเกิน 3 ชม.ต่อวัน มีแนวโน้มที่จะติดเกมมากกว่าเด็กที่เล่นน้อยครั้งถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ถัดมา คือ หากิจกรรมเสริมที่น่าสนใจและสนุกสำหรับเด็ก เช่น พากันไปออกกำลังกาย ทำงานศิลปะ เป็นต้น
      


       ภาวะ/โรคซึมเศร้า
      
       โลกของเด็กเล็กมีเพียงพ่อกับแม่เท่านั้น การกระทำและการแสดงออก รวมไปถึงการใช้คำพูดของพ่อแม่ ควรถนอมน้ำใจเด็ก และทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย หากปล่อยให้อารมณ์หงุดหงิดง่าย ควบคุมตัวเองไม่ค่อยดี มีความเครียดสะสม และหลุดแสดงอารมณ์ไม่พอใจใส่เด็กเมื่อเด็กทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่ดี หรือเอาปัญหามาลงที่ตัวเด็ก สิ่งเหล่านี้หารู้ไม่ว่า คุณกำลังทำให้ลูกเกิดความกลัว เก็บกด ขาดความเชื่อมั่น นับถือตัวเองต่ำ และเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ ในขณะที่เด็กบางคนอาจเป็นด้านตรงกันข้าม คือ ก้าวร้าว และมีอารมณ์รุนแรง ทางที่ดี ครอบครัวควรให้ความรัก ความเข้าใจ สอนให้เด็กเข้มแข็ง รู้จักใช้เหตุผล และแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้นควรลดความขัดแย้งต่างๆ ในครอบครัวลงด้วย
      
       “พ่อแม่ที่รักลูกอย่างสุดหัวใจเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่ถ้ารักไม่ถูกทางก็อาจนำมาซึ่งปัญหาได้ เช่น ชดเชยเวลาที่หายไปจากการทำงานด้วยการตามใจซื้อของเล่นให้เยอะแยะเต็มไปหมด ซึ่งความรักในลักษณะนี้เป็นการปลูกฝังนิสัยเอาแต่ใจให้เด็กในตอนโตได้ เกิดเป็นปัญหาพฤติกรรมที่สร้างความหนักใจให้แก่พ่อแม่ตามมา ดังนั้นการเลี้ยงลูก ไม่ใช่เรื่องยาก แค่รู้จักเด็ก และควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดี มีการใช้สัมผัส ใช้คำพูดที่สร้างสรรค์ ตลอดจนใช้เวลาคุณภาพร่วมกันก็จะช่วยให้การอยู่ร่วมกันกับเด็กเป็นเรื่องง่าย และมีความสุขมากยิ่งขึ้น” พญ.ตวงพร สรุป


 

ขอบคุณ ที่มา : manageronline


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Quiz


Advertisement