มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดสัมมนา เรื่อง กลยุทธ์การตลาดดิจิตอล สำหรับ SMEs สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง eventpro.in.th แพลตฟอร์มการนำเสนออีเวนท์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย และ boxbox.me ระบบการบริหารสมาชิกลูกค้าออนไลน์ หนึ่งในวิทยากร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ทที่น่าสนใจ ดังนี้
จากผู้ใช้อินเตอร์เน็ททั่วโลก พบว่า ใน 1 นาที มีการถ่ายโอนข้อมูลกันถึง 6 แสนกิ๊กกะไบท์ และในจำนวนนี้ มีการดูยูทูบ 1 ล้านครั้ง , ค้นหาข้อมูลในกูเกิ้ล 2 ล้านครั้ง และ เข้าเฟสบุ้คถึง 6 ล้านครั้ง
ข้อมูลจาก go-gulf.com ผู้ใช้โซเชียลมีเดียของประชากรทั้งโลก ดังนี้ มีผู้ใช้เฟสบุ้ค จำนวน 900 ล้านคน ทวิตเตอร์ 500 ล้านคน และกูเกิ้ลพลัส อยู่ในอันดับรองลงมา
ในจำนวน 900 ล้านคนที่เปิดใช้เฟสบุ้คนี้ มีจำนวน 700 ล้านคนที่เข้าชมและใช้งาน โดยใช้เวลาเฉลี่ย 405 นาทีต่อเดือน
ส่วนในกลุ่มประเทศอาเซียนมีข้อมูลที่น่าสนใจ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการทำธุรกิจ ด้วยการใช้กลยุทธ์การตลาดในโลกออนไลน์ ดังนี้
ประเทศไทย มีประชากรทั้งหมด 67 ล้านคน ผู้ใช้อินเตอร์เน็ทจำนวน 18 ล้านคนหรือ คิดเป็น ร้อยละ 27 ในจำนวนนี้ใช้โซเซียลเน็ทเวิร์ก 12 ล้านคน โดยทั้งหมดใช้เฟสบุ้ค และชาวไทยใช้เวลาในการท่องอินเตอร์เน็ท 16.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ ดูทีวี เพียง 10.9 ชั่วโมง
ลาว มีประชากรทั้งหมด 6 ล้านคน ผู้ใช้อินเตอร์เน็ท 5 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 8 ในจำนวนนี้ ใช้โซเชียลเน็ทเวิร์ก 1 แสนคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 2 เท่านั้น
กัมพูชา มีประชากรทั้งหมด 13 ล้านคน ผู้ใช้อินเตอร์เน็ท 3 แสนคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 2 และในจำนวนนี้ใช้โซเชียลเน็ทเวิร์ก 4 แสนคนหรือคิดเป็นร้อยละ 3
ส่วน พม่า มีประชากร 48 ล้านคน ใช้อินเตอร์เน็ทไม่ถึงร้อยละ 1 และมีร้านอินเตอร์เน็ทคาเฟ่ประมาณ 1,100 ร้านเท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้ น่าสนใจสำหรับนักลงทุนชาวไทย
ในขณะที่ บรูไน มีประชากร 4 แสนคน ใช้อินเตอร์เน็ท 3 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 79 และใช้โซเชียลเน็ทเวิร์ก 2 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 55
ฟิลิปปินส์ มีประชากร 94 ล้านคน ในจำนวนนี้ ใช้อินเตอร์เน็ทร้อยละ 32 พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ทของชาวฟิลิปปินส์ คือชอบแชร์รูปในโซเชียลมีเดีย เหมือนคนไทย กระทั่งมีชาวตะวันตกล้อเลียนว่า แอพพลิเคชั่น อินสตาแกรม มีไว้เพื่อให้สาวไทยโชว์เล็บ (ถ่ายรูปเล็บ โชว์เพื่อนในอินสตาแกรม)
อินโดนีเซีย มีประชากร 230 ล้านคน ใช้อินเตอร์เน็ทร้อยละ 17 มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย นับเป็นเมืองหลวงของโทรศัพท์มือถือ บีบี ดังนั้นจึงไม่สนใจแอพพลิเคชั่น ทั้งของแอปเปิ้ล และแอนดรอย
มาเลเซีย มีประชากร 28 ล้านคน ใช้อินเตอร์เน็ท 16 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 59 และในบรรดาผู้ที่ใช้เฟสบุ้คในประเทศนี้ มีจำนวนเพื่อนเฉลี่ย 233 คน ซึ่งนับว่ามากที่สุดในโลก นั่นหมายความว่า ชาวมาเลย์ สนใจรับข่าวสารจากเพื่อนมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีข้อมูล ว่ามีการซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ท ผ่านบัตรเครดิตเฉลี่ยสูงถึง ปีละ 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐ นั่นแสดงว่า ชาวมาเลย์ เชื่อมั่นกับการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ทผ่านบัตรเครดิต ในขณะที่ชาวไทย ยังไม่มีความเชื่อมั่นนี้
เวียดนาม มีประชากร 85 ล้านคน ในจำนวนนี้ ใช้อินเตอร์เน็ท 29 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ทั้งนี้ ชาวเวียดนามใช้เฟสบุ้คเพียง 2.9 ล้านคน แต่ไปใช้โซเซียลเน็ทเวิร์ก ที่ชื่อว่า ซิ้งก์ ( Zing ) ถึง 6.8 ล้านคน และ ส่วนใหญ่ สนใจโฆษณาทางอินเตอร์เน็ท และอยากเห็นโฆษณาที่ตรงกับความต้องการของตัวเอง
สิงคโปร์ มีประชากร 5 ล้านคน ในจำนวนนี้ใช้อินเตอร์เน็ท 3.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 72 มีข้อมูลของชาวสิงคโปร์ ที่น่าสนใจคือ ให้เวลากับอินเตอร์เน็ท มากกว่า ดูทีวีถึง 2 เท่า และมีการใช้สมาร์ทโฟนมากที่สุดในโลก ณ ขณะนี้
สำหรับประเทศที่ใช้เฟสบุ้คมากที่สุดในโลก 3 อันดับแรกได้แก่ ตุรกี เวเนซุเอล่า และตูนีเซีย
ประเทศที่ใช้ทวิตเตอร์มากที่สุดในโลก 3 อันดับแรกได้แก่ เวเนซุเอล่า บราซิล และอินโดนีเซีย
ประเทศที่ติดอันดับใช้ ไฮไฟว์ มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ ประเทศไทย โรมาเนีย และเปรู
ส่วนข้อมูลทางด้านทวิตเตอร์ ในประเทศไทย มีเรื่องที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันคนดังในสังคมไทย ที่ใช้ทวิตเตอร์ และมีผู้ติดตามมากที่สุดในประเทศไทย 3 อันดับแรกได้แก่ 1.นิชคุณ หรเวชกุล นักร้อง 2.วุฒิธร มิลินทจินดา หรือวู้ดดี้ พิธีกร และ 3. พระมหาวุฒิชัย ( ว.วชิรเมธี )
นอกจากนี้ วิลาส ยัง กล่าวอีกว่า ในยุคปัจจุบัน เวบไซต์ที่จะอยู่รอดได้ จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ถ่ายทอดข้อมูลของตัวเอง รวมทั้ง การขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ท จะช่วยเพิ่มยอดขายได้อย่างดี เนื่องจากความต้องการของลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน การวางสินค้าขายหน้าร้านในตำแหน่งที่ดีๆ อาจจะวางได้แค่เฉพาะสินค้าที่ขายดีเท่านั้น แต่ในโลกออนไลน์ลูกค้ามีโอกาสและเวลาเลือกสินค้าได้มากกว่า
ขอบคุณ ที่มา : มติชนออนไลน์