ความกังวลอันดับต้นๆ ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ คือ สงสัยว่าลูกน้อยมีพัฒนาการทางการพูดช้ากว่าที่ควรหรือไม่ เรื่องนี้ แพทย์หญิงเสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก กล่าวในงานเปิดตัว 20 สุดยอดคุณแม่ Mommy Bear Blogger ปี4 ว่า
"ปัญหาเด็กพูดช้า" หรือที่เรียกว่า "ปากหนัก" กรณีนี้มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง วิธีเช็คง่ายๆ คือ ถ้าเด็กอายุ 1 ปี ควรพูดได้เป็นคำแล้ว และพูดได้อย่างน้อย 1-2 คำ เมื่อเข้าวัย 1 ขวบครึ่ง ต้องพูดเป็นคำได้สัก 5-8 คำ ที่สำคัญต้องเป็นคำที่มีความหมาย เช่น หม่ำ คือ ต้องการสื่อว่า หิว หรือกำลังกิน ไม่ใช่พูดลอยๆ
ล่วงเข้าสู่ขวบปีที่ 2 ลูกควรพูดได้ 200-250 คำ หรือสามารถสร้างวลีได้ เช่น กินนม เปิดตู(เปิดประตู) ดังนั้น ถ้าความสามารถของลูกในด้านการพูดยังไม่เข้าข่ายข้างต้น อาจเข้าข่ายพูดช้าปากหนัก
พ่อแม่ที่พบว่าลูกพูดช้าแล้วพากันมาปรึกษาหมอนั้น แพทย์หญิงเสาวภา เผยว่า หมอจะเริ่มจากการดูประวัติครอบครัว ว่าเคยมีใครพูดช้าหรือไม่ เพราะกรณีนี้สามารถเป็นปัจจัยข้อหนึ่งได้
นอกจากนี้จะดูเรื่องการเลี้ยงดู โดยเฉพาะการให้เวลาทำกิจกรรม และการสื่อสารกับลูก ที่มีการโต้ตอบกันโดยตรงมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียวบ่อยๆ หรือให้ดูทีวีมากเกินไป ยิ่งถ้าลูกพูดช้า หมอไม่แนะนำให้เด็กเล่นกับอุปกรณ์เทคโนโลยีจอสัมผัสมากนัก เนื่องจากเด็กจะสูญเสียทักษะทางสังคม
อย่างไรก็ตาม แม้เด็กจะพูดช้า แต่เด็กก็ยังสามารถสื่อสารผ่านท่าทางได้ เช่น ส่งของให้แล้วมองตาเพื่อสื่อสาร ทำท่าทางเล่นจะเอ๋กับพ่อแม่ ทว่าเด็กที่พูดช้าบวกกับการไม่สื่อสารทางอื่นๆ อาจเข้าข่าย "ออทิสติก"
อาการที่อาจบ่งชี้ว่า เด็กเป็นออทิสติก คือ พูดช้า ร่วมกับมีปัญหาการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมบกพร่องระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ ซึ่งดูง่ายๆ คือ เด็กมักไม่ค่อยสบตา ไม่พยายามสื่อสาร เช่น อาจชี้ว่าต้องการอะไร แต่เมื่อส่งของให้ผิดก็จะเฉยๆ
ทั้งนี้ หากสงสัยเด็กจะเป็นออทิสติก ควรปรึกษาแพทย์ เพราะมักเป็นโรคอื่นด้วย เช่น สมาธิสั้น สติปัญญาบกพร่อง ทางแก้ที่หมอขอแนะคือ ให้เวลาอยู่กับเด็กมากๆ ทำกิจกรรมกับเขา ใช้น้ำเสียงดึงดูดเขา ให้เขาพยายามมองหน้าเรา เหล่านี้ถือเป็นการช่วยเหลือเด็กออทิสติกได้ดี จากนั้นแพทย์จะแก้อาการอื่นที่เป็นอยู่ด้วย
ขอบคุณ ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์