เคยรู้สึกไหมคะว่า บางครั้งความหงุดหงิดจากการใช้เงินในสิ่งจำเป็นที่ไม่จำเป็น กลายเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ทำให้คุณทั้งหงุดหงิดและเสียดายเมื่อคุณทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายตอนสิ้นเดือน สิ่งจำเป็นที่ไม่จำเป็นที่ถูกละเลย ถูกมองข้ามเหล่านี้ได้แก่ การชึ้นแท็กซี่โดยไม่เตรียมแบงก์ปลีกไว้ การซื้อของยามเร่งรีบตามร้านทั่วไป ที่เจ้าของร้านมักจะอ้างว่า ไม่มีเงินทอน แต่ให้คุณซื้อของอย่างอื่นในร้านเพิ่มแทนการทอนเงิน ฯลฯ ถึงเวลาแล้วล่ะค่ะ ที่ต้องหาวิธีการประหยัดและป้องกันเงินที่คุณอุตส่าห์ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้ได้มา เพื่อให้อยู่กับคุณได้นานๆ
1. ทำบัญชีล่วงหน้าของเดือน แบ่งกลุ่มการใช้เงินให้ชัดเจน
คำนวณและกำหนดงบประมาณในแต่ละส่วนให้ชัดเจน เพื่อจะได้มองเห็นภาพการเงินของตนเองหลังจากรับรายได้ของแต่ละเดือน เช่น กลุ่มอาหารจะใช้งบประมาณรายวันและต่อเดือนจำนวนเท่าใด กลุ่มค่าเดินทาง เช่น ค่ารถเมล์ ค่ารถแท็กซี่ หรือค่าโดยสารอื่นๆ ประมาณเดือนละเท่าใด โดยยึดหลักการพิจารณาถึงรายได้และความจำเป็นในแต่ละเดือนเป็นเกณฑ์ เมื่อวางงบประมาณของแต่ละเดือนได้แล้ว ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองให้มากที่สุดในการปฏิบัติตามแผนงบประมาณที่วางไว้
2. ไปธนาคาร เพื่อแลกแบงก์ปลีกและเหรียญ
ให้แลกแบงก์ปลีกฉบับละ 20 บาท ไว้อย่างน้อยเดือนละ 3,000-5,000 บาท และเหรียญ 5 บาท 10 บาท ตลอดจนเหรียญ 1 บาท ตามความเหมาะสมเพื่อป้องกันการใช้เงิน นอกเหนือความต้องการ
3. จัดแบ่งเงินตามจำนวนของงบประมาณในแต่ละกลุ่มประเภทที่ได้วางแผนการใช้ไว้
นำแยกใส่ซองเก็บไว้เป็นซองๆ เขียนไว้หน้าแต่ละซองถึงรายละเอียด งบประมาณรายวัน ตั้งแต่วันที่เท่าใด ถึงเท่าใด และนำไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยส่วนตัว เพื่อหยิบมาใช้เป็นวันๆไป หรืออาจจัดเตรียมไว้เป็นรายสัปดาห์ก็ได้
4. มีสมุดเล็กๆ สำหรับบันทึกการใช้จ่ายประจำวัน
พกติดตัวเพื่อควบคุมการใช้จ่ายรายวันให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
5. การจับจ่ายซื้อของ ควรไปตามลำพังพร้อมกับโน้ตเล็กๆ บันทึกสิ่งของที่ต้องการและจำเป็นต้องใช้
ไม่ควรไปกับเพื่อนเพื่อป้องกันการซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือแม้กระทั่งบางทีอาจต้องมีการหยิบยืมกัน เพื่อให้ได้ของถูก (ที่ไม่จำเป็น) ทำให้งบประมาณที่วางไว้ถูกกระทบส่งผลถึงการเงินและวิถีชีวิตของคุณในภายหน้าได้
6. คำนวณการใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละวัน
รวมถึงจำนวนเงินสำรองฉุกเฉินต้องจัดแยกไว้ในส่วนลับตาของกระเป๋าเงิน หรืออาจใช้วิธีกดจากตู้ ATM เท่านั้น สำหรับจำนวนเงินที่ต้องใช้ยามฉุกเฉิน เพราะหากสามารถเก็บเงินส่วนนี้ไว้ได้ก็จะกลายเป็นเงินเก็บรายเดือนไปโดยอัตโนมัติ จึงขึ้นอยู่กับความเป็นคนมีวินัย และใจแข็งต่อสิ่งยั่วยวนทางวัตถุของคุณผู้เป็นเจ้าของเงินนั่นเอง
ที่มา : นิตยสาร Lisa