"บิ๊กอายส์" เป็นคอนแท็กต์เลนส์ชนิดหนึ่งที่มักจะย้อมด้วยสีสันต่างๆ ฟ้า ม่วง เหลือง ฯลฯ ตามแต่ความนิยม หรือความต้องการของตลาดความนิยมในบิ๊กอายส์ของวัยรุ่นไทยนั้นส่วนมากจะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมต่างประเทศ อย่างเจป๊อบหรือเคป๊อบ ที่เข้ามากับนักร้องบ้าง หนัง หรือซีรีส์บ้าง
เมื่อไม่นานมานี้เองมีข่าวเด็กอายุ 18 ปี ใส่บิ๊กอายส์แล้วเกิดอาการเคืองตา จนต้องไปพบจักษุแพทย์ ปรากฏว่าพบการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า "ซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า" (Pseudomonas aeruginosa) แม้ว่าจะรักษาได้ทันท่วงที แต่ก็ทำให้กระจกตาเป็นแผลโดยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก!
นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร หัวหน้าศูนย์จักษุและต้อกระจก โรงพยาบาลบ้านแพ้ว องค์การมหาชน อธิบายว่า บิ๊กอายส์ก็คือคอนแท็กต์เลนส์ชนิดหนึ่ง แต่ใช้สำหรับแฟชั่น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วคอนแท็กต์เลนส์ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีก็คือ สามารถช่วยเหลือเรื่องกระจกตา ทำให้สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ส่วนข้อเสียคือ อาจเกิดอาการติดเชื้อ "ซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า" ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มากับคอนแท็กต์เลนส์ ความสามารถของเจ้าเชื้อตัวนี้ก็คือ สามารถกัดกระจกตาทะลุภายในระยะเวลาเพียง 2 วัน! นั่นคือ มีโอกาสตาบอด หรือบางรายเชื้อกินเร็วมาก ติดเชื้อตอนเช้า ตอนเย็นไปหาหมอก็ไม่ทันแล้ว
"บางรายที่ติดเชื้อนี้กระจกตาไม่ทะลุก็จริง แต่ทำให้เป็นแผลเป็นบริเวณตาดำ ทำให้การมองเห็นแย่ลง ซึ่งเวลาที่คนอื่นมองจะเห็นเป็นรอยขาวๆ บริเวณตาดำ"คุณหมอพรเทพอธิบายเพิ่มเติมว่า เชื้อโรคตัวนี้มักจะมากับน้ำ เช่น เราเอาคอนแท็กต์เลนส์ไปโดนน้ำที่ไม่สะอาด หรือมือเราเองที่สกปรกแล้วไปจับคอนแท็กต์เลนส์ แค่นี้ก็ติดเชื้อโรคได้แล้ว อย่างน้ำประปาแม้ว่าจะสะอาด แต่มีงานวิจัยออกมาว่าเชื้อโรคจะอยู่ตรงบริเวณหัวก๊อก คือเมื่อผ่านก๊อกแล้วก็จะพาเอาเชื้อโรคออกมาด้วย ฉะนั้น หากมีอาการดังต่อไปนี้เมื่อใส่คอนแท็กต์เลนส์ คือมีอาการปวด เคืองตา ตาแดงมากหรือมีขี้ตามากผิดปกติ อย่างแรกที่ควรทำคือ เอาคอนแท็กต์เลนส์ออกและไปพบแพทย์ทันที อย่าล้างตาด้วยน้ำประปาหรือน้ำยาต่างๆ
นพ.พรเทพแนะนำอีกว่า ควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์หากไม่จำเป็น ซึ่งวิธีที่จะทำให้ตาดูดีมีหลายวิธี เช่น การรับประทานวิตามินเอ การกะพริบตาบ่อยๆ ก็จะทำให้ตาดูชุ่มชื้น รวมทั้งต้องเปลี่ยนค่านิยมของวัยรุ่นในเรื่องการใส่บิ๊กอายส์ด้วย
ด้าน ผศ.พญ.วรินทร จักรไพวงศ์ หัวหน้าหน่วยกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า บิ๊กอายส์เป็นคอนแท็กต์เลนส์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติและย้อมสีเข้มในเนื้อเลนส์ ถือได้ว่าเป็นของแปลกปลอมบนกระจกตาที่มีความหนา ซึ่งส่งผลให้มีน้ำและอากาศผ่านเข้าสู่กระจกตาได้น้อยลง จนเกิดภาวะกระจกตาบวม
อีกทั้งคอนแท็กต์เลนส์ที่ย้อมสีนั้นมักจะมีผิวขรุขระซึ่งสามารถทำให้เกิดการระคายเคือง อักเสบ หรือมีรอยถลอกจากการขูดขีดบนผิวกระจกตาเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเชื้อก่อโรคนั้นอาจเป็นเชื้อที่พบได้เป็นปกติบริเวณผิวตาที่มักมีความรุนแรงต่ำ หรือเป็นเชื้อโรคที่ไม่ได้พบเป็นปกติบริเวณนี้ และมีความรุนแรงมากกว่า
มีเชื้อโรคหลายชนิดซึ่งมีอันตรายต่อลูกตา ที่อาจติดมาอยู่บนคอนแท็กต์เลนส์ หากดูแลรักษาความสะอาดไม่ดีดังเช่นที่เป็นข่าว คือซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มีความร้ายแรงสูงและฟักตัวได้เร็วมาก ส่วนมากจะพบได้ในน้ำนิ่ง อย่างเช่น น้ำประปาที่ค้างในท่อ
ผศ.พญ.วรินทรให้ความรู้อีกว่า การใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ถูกต้องนั้นควรจะได้รับคำแนะนำจากจักษุแพทย์ เพราะต้องเลือกใช้คอนแท็กต์เลนส์ที่มีความโค้งพอดีกับกระจกตา ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้วัดและตรวจให้ได้สภาพที่เหมาะสมหลังใส่ แต่ปัจจุบันคนทั่วไปมักจะซื้อใส่เองเหมือนกับการเลือกซื้อเสื้อใส่โดยไม่ได้วัดตัว จึงอาจไม่พอดี เหมาะสมกับตัว รวมทั้งคนที่จะใส่คอนแท็กต์เลนส์นั้นควรจะต้องมีน้ำตาที่เพียงพอเพื่อหล่อลื่นและต้องไม่มีโรคที่กระจกตา
หัวหน้าหน่วยกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ ภาควิชาจักษุวิทยา ยังยกตัวอย่างให้ฟังอีกว่า เคยพบผู้ป่วยเด็กมัธยมต้นรายหนึ่งมีปัญหาเรื่องกระจกตาอักเสบ เล่าให้ฟังว่า เพื่อนๆ ในโรงเรียนจำนวนมากที่ใส่บิ๊กอายส์เป็นแฟชั่น ซึ่งในกลุ่มเพื่อนก็จะซื้อมาคนละสี จากนั้น ก็จะมาแลกสลับกันใส่โดยที่ไม่ได้มีการทำความสะอาดที่ถูกต้อง ไม่เท่านั้นยังใส่บิ๊กอายส์นอนอีกด้วย จนวันหนึ่งเมื่อตื่นขึ้นมาก็พบว่าตัวเองมีอาการปวดตา ตาแดงและมองภาพได้ไม่ชัดเช่นปกติ เพราะเกิดอาการติดเชื้อรุนแรงที่กระจกตาทั้งสองข้าง ซึ่งปกติมักไม่พบอาการติดเชื้อพร้อมกันทีเดียวในตาสองข้าง ถือว่าโชคร้ายมาก
แม้ว่าตอนนี้จะรักษาอาการติดเชื้อที่กระจกตาเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมองอะไรได้เป็นเพียงภาพไหวๆ เท่านั้น แม้กระทั่งยกนิ้วให้นับตรงหน้าก็ยังมองไม่เห็นเลยว่ามีกี่นิ้ว เนื่องจากกระจกตาเป็นฝ้าขาวจากแผลเป็นหลังการติดเชื้อ"ไม่มีวันที่ตาของเด็กคนนี้จะกลับมาใสเป็นปกติได้อีกแล้ว เพราะกระจกตาเป็นอวัยวะที่บอบบางมาก วิธีที่อาจจะกลับมามองเห็นได้เหมือนเดิมคือ ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจากผู้บริจาคเท่านั้น" ผศ.พญ.วรินทรกล่าว และว่า ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเองพบผู้ป่วยที่มีปัญหาจากการใส่คอนแท็กต์เลนส์ทั้งธรรมดาและสี มากถึงปีละ 30-40 ราย ถือว่าเยอะมาก
ผศ.พญ.วรินทรยังให้คำแนะนำในฐานะจักษุแพทย์ว่า ไม่แนะนำให้ใส่คอนแท็กต์เลนส์บิ๊กอาย หรือคอนแท็กต์เลนส์สีเลย นอกเสียจากว่าจะเป็นคอนแท็กต์เลนส์ที่หมอให้ใส่เพื่อแก้ไขความผิดปกติของสายตาเท่านั้น อีกทั้งควรใส่อย่างถูกต้อง และดูแลรักษาอย่างเหมาะสมเคร่งครัดด้วย"การใส่บิ๊กอายเป็นการเพิ่มความเสี่ยง การที่ใส่แล้วปกติสบายตาดี ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสติดเชื้อ มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้เหมือนกันเพียงแต่อาจจะยังไม่เกิดขึ้นเท่านั้น" ผศ.พญ.วรินทรกล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณที่มา : มติชนออนไลน์
ขอบคุณภาพประกอบจาก : nubigeye