ปวดหลังเรื้อรัง..ไม่ใช่แค่เหตุบังเอิญ


โครงสร้างของกระดูกสันหลัง
    กระดูกสันหลังคือกระดูกส่วนที่อยู่ถัดจากกะโหลกศรีษะลงไป โดยเริ่มตั้งแต่กระดูกท้ายทอยไปจนถึงกระดูกก้นกบ ซึ่งประกอบไปด้วยกระดูกกว่า 30 ชิ้น วางเรียงซ้อนๆกัน ระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกไว้คอยรองรับ เพื่อไม่ให้กระดูกแต่ละชิ้นเสียดสีกันในขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว นอกจากนี้ก็จะมีเส้นเอ็นที่เปรียบเสมือนเป็นเชือกร้อยยึดกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกเหล่านี้ไว้ให้ติดกัน
    ภายในแกนกลางของกระดูกสันหลังจะเป็นที่อยู่ของไขสันหลังซึ่งเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือด และนอกจานี้ยังเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทซึ่งเชื่อมต่อระหว่างสมองกับอวัยวะส่วนต่างๆทั่วร่างกาย

อาการปวดหลัง อาจเป็นเรื่องใหญ่
    เนื่องจากกระดูกสันหลังมีความสำคัญและยังมีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับอวัยวะส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบประสาท ฉะนั้นเมื่อเกิดอาการปวดหลังขึ้น โดยอาจจะทราบหรือไม่ทราบสาเหตุก็ตาม หากอาการปวดนั้นเป็นมากและมีทีท่าว่าจะเรื้อรังหรือมีอาการปวดร่วมกับอาการอย่างอื่นด้วย ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ทั้งนี้เพราะอาการปวดดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติบางอย่างที่อยู่เหนือความคาดหมายก็เป็นได้

ลักษณะของอาการปวดที่จำเป็นต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ได้แก่
1. อาการปวดหลังร่วมกับแขนขาชาไม่มีแรง กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นไปได้ว่าไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ทางที่ดีควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพื่อทำการเอ็กซเรย์ตรวจดูกระดูกสันหลังและหาตำแหน่งที่บาดเจ็บ ผู้ป่วยบางรายเพียงให้นอนพักรักษาตัวก็อาจหายจากอาการดังกล่าวได้ แต่บางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด
2. ปวดหลังบริเวณเอวและมีไข้หนาวสั่น สาเหตุของอาการอาจเกิดจากการติดเชื้ออักเสบของไต เมื่อรักษาไตจนเป็นปกติดีแล้ว อาการปวดดังกล่าวก็จะหายไป
3. ปวดหลังจากยกของหนัก หรือออกกำลังกายมากเกินไป จนรู้สึกว่าหลังขยับไม่ได้ หรือปวดร้าวไปจนถึงขาข้างใดข้างหนึ่ง อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนเคล็ดไปกดทับเส้นประสาท การรักษาจะต้องให้ผู้ป่วยสวมเสื้อดามหลัง และให้เข้ารับการทำกายภาพบำบัด ส่วนในรายที่อาการหนักมากอาจต้องผ่าตัด
4. ปวดหลังเรื้อรังนานเป็นแรมเดือนและปวดมากขึ้นเรื่อยๆหากเป็นในคนอ้วน หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี อาจเกิดขึ้นเนื่องจากโรคไขข้ออักเสบ หรือกระดูกสันหลังสึกกร่อน การรักษาในกรณีนี้แพทย์จะให้ยาแก้ปวดมาทาน ให้รับการทำกายภาพบำบัด สวมเสื้อดามหลัง แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นคนอ้วนมากก็จะต้องให้ลดน้ำหนัก
5. อาการปวดหลังที่เกิดในสตรีมีครรภ์อาจเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อยึดกระดูกหย่อนยาน การแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของทารก หรือมดลูกที่โตขึ้นกดทับเส้นประสาททำให้ปวดหลังจนร้าวไปถึงขาได้ ซึ่งหากอาการปวดเป็นมากผิดปกติควรรีบปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์โดยด่วน


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement