พูดอย่างไรให้คนรัก ???




การติดต่อสื่อสารสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างคนเราด้วยกัน ซึ่งคนเรามักจะติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลาผ่านทั้งทางการพูด-การฟัง การเขียน-การอ่าน การแสดงกิริยาท่าทาง แต่การติดต่อสื่อสารที่เป็นพื้นฐานที่สุดของคนเราก็คือการพูดและการฟังนั่นเอง การพูดนั้นดูจะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ แต่การพูดให้คนฟังเกิดความรู้สึกที่ดี ประทับใจ จนสามารถทำให้คนรักหรือรู้สึกมีทัศนคติที่ดีกับเราได้นั้น อาจเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลายๆคน ดังนั้น เราจึงขอนำเสนอวิธีว่าควรพูดอย่างไรที่จะทำให้มีแต่คนรัก ดังนี้
      
       1.สร้างภาษากายให้ดูดี
      
       บุคลิกลักษณะมีความสำคัญต่อการสนทนาเป็นอย่างมาก เพราะหากมีบุคลิกลักษณะที่ดีก็ทำให้คนอยากจะร่วมสนทนากับเรา ที่ว่า “ดูดี” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการวางมาด หรือวางท่าทางที่ไม่เป็นธรรมชาติ เพราะคงไม่มีใครที่ชอบคนลักษณะเช่นนี้ แต่การสร้างภาษากายที่ดูดี คือ เวลาสนทนากันควรมีบุคลิกภาพที่ดีเหมาะสม ไม่นั่งกอดอกหรือเอามือล้วงกระเป๋า มองคู่สนทนาด้วยสายตาเป็นมิตร สบตาคู่สนทนาเป็นระยะๆ และไม่มองจ้องหน้าคู่สนทนามากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความอึดอัด อีกทั้งไม่ทำสีหน้าบึ้งตึง รำคาญ หรือเบื่อหน่าย รวมถึงควรแสดงออกถึงความสนใจกับคนที่เราพูดคุยด้วยการตั้งใจฟังในสิ่งที่คู่สนทนาพูด โดยการยิ้มรับ พยักหน้า หรือตอบแสดงการรับรู้ว่า “ครับ” หรือ “ค่ะ” โดยพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นควรให้เป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการดูแลรักษาสภาพร่างกายของตัวเองด้วยการแต่งกายที่สะอาด สุภาพเรียบร้อย ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภาษากายให้ดูดีได้
    

  
       2.พูดจาสุภาพ
      
       ทุกคนชอบคนที่พูดจาสุภาพอ่อนโยน การพูดจาสุภาพหมายถึงการพูดเพราะ พูดจามีหางเสียงลงท้าย ครับ ค่ะ จ๊ะ จ๋า รวมถึงการไม่พูดจาขัดคอคู่สนทนาและไม่พูดคำหยาบคาย อันนี้สำคัญมาก เพราะคนที่พูดจาหยาบคายนั้นมักเป็นที่รังเกียจของคนส่วนใหญ่ แต่เด็กๆ วัยรุ่นมักชอบพูดคุยกันด้วยคำหยาบเหมือนเป็นเรื่องปกติ บางทีเด็กวัยรุ่นผู้หญิงก็เรียกสรรพนามกันว่ากู - มึง พูดคำด่าคำ ฟังแล้วก็ตกใจ นอกจากนี้ ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่พอเหมาะโดยไม่ควรพูดตะเบ็งเสียงดังจนเกินไป อีกทั้งไม่ควรพูดไปหัวเราะไป เพราะนั่นคือการแสดงออกถึงความไม่สุภาพต่อคู่สนทนา
      
       3.พูดชัดถ้อยชัดคำ
      
       เป็นสิ่งสำคัญที่หลายคนอาจมองข้าม แต่แท้ที่จริงแล้วการเป็นคนพูดชัดถ้อยชัดคำคือเสน่ห์ในการพูดอย่างหนึ่ง การพูดชัดถ้อยชัดคำหมายถึง การพูดจาฉะฉานชัดเจนน่าฟัง มีการพูดเน้นจังหวะและเว้นจังหวะที่พอเหมาะ คือ ไม่พูดเร็วและรัวเกินไปจนผู้ฟังตามไม่ทันหรือฟังไม่รู้เรื่อง อีกทั้งไม่พูดช้าเกินไปจนพาให้ง่วงนอน นอกจากนี้ ควรพูดออกเสียงคำควบกล้ำอักขระ ร.เรือ ล.ลิง.ให้ถูกต้องชัดเจนซึ่งควรฝึกตั้งแต่เด็กๆ เพราะเมื่อติดในการพูดไม่ชัดไปจนถึงโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องที่แก้ได้ยากมาก ผู้เขียนเห็นคนที่มีชื่อเสียงบางคนพูด ร.เรือ ล.ลิง หรือพูดคำที่มีตัวอักษร ส.เสือไม่ชัด ทำให้เสียบุคลิกในการพูดเป็นอย่างมาก
      


       4.พูดให้ถูกกาลเทศะ
      
       หมายถึง การที่เราต้องดูว่าเราพูดกับใคร พูดเรื่องอะไร หัวข้ออะไร พูดที่ไหน เป็นการพูดสนทนาแบบกันเองหรือแบบจริงจัง การพูดให้ถูกกาลเทศะต้องคำนึงถึงเนื้อหาสาระในการพูดเป็นหลัก โดยการพูดต้องพูดอย่างมีสาระ มีขอบเขตและเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการสื่อสารกับผู้ฟังว่าอย่างไร และเรื่องอะไร อย่าพูดจาเลอะเทอะเรื่อยเปื่อย เพราะจะทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญและเบื่อหน่าย นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการพูดที่ถูกกาลเทศะ ก็คือ การพูดให้เหมาะสมกับผู้ฟัง เช่น เมื่อพูดกับคนที่อาวุโสกว่า เราต้องพูดด้วยน้ำเสียงสุภาพนอบน้อม และคำพูดที่ควรมีให้ติดปากอยู่เสมอคือ “สวัสดี…ขอบคุณ…ขอโทษ”
      
       5.เรื่องที่ไม่ควรพูดเมื่อเจอกับคู่สนทนาเป็นครั้งแรก
      
       - คุยแต่เรื่องของตัวเองมากจนเกินไป ควรให้ความสำคัญกับคู่สนทนาอย่างจริงใจคือเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี
      
       - หัวข้อที่สนทนานั้นควรเริ่มจากเรื่องรอบตัวทั่วๆไป เช่นเรื่องดินฟ้าอากาศ เรื่องสถานที่ท่องเที่ยว เรื่องอาหาร เรื่องเพลง เรื่องภาพยนตร์ เพื่อประเมินความสนใจของคู่สนทนา
      
       - อย่านินทาผู้อื่น อย่าพูดจาก้าวร้าว วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น อีกทั้งไม่ควรพูดจาลามกหรือนำปมด้อยของคู่สนทนาหรือผู้อื่นมาพูด เช่น ตัวอ้วน ตัวดำ หัวล้าน เพราะนอกจากจะไม่ตลกแล้ว ยังทำให้คู่สนทนารู้สึกรังเกียจเราตั้งแต่ครั้งแรกที่มีโอกาสพูดคุยกัน
      
       - อย่าคุยเรื่องส่วนตัว ข้อพึงระวังในการสนทนาครั้งแรก คือการไม่ควรถามซอกแซกในเรื่องส่วนตัวที่ทำให้คู่สนทนาเกิดความรู้สึกเหมือนถูกคุกคามและเกิดความอึดอัดไม่สบายใจ
      
       นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ การพูดโกหก พูดตลบตะแลง พูดจาส่อเสียด หรือพูดจาสองแง่สามง่าม เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะนอกจากจะไม่มีใครอยากจะสนทนากับเราแล้ว ยังอาจเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นจนไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วยก็เป็นได้ ดังนั้น หากจะพูดสิ่งใดออกไปควรที่จะคิดตรึกตรองเสียก่อนเพื่อที่ว่าสิ่งที่ออกไปจากปากเรานั้นมันไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ พูดดีจึงเป็นศรีแก่ตัวและสามารถทำให้คนอื่นประทับใจในตัวเราได้


ขอบคุณที่มา : life&family ; manageronline โดย ดร.แพง ชินพงศ์





แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement