สมองมนุษย์พัฒนาเพราะ"รัก" ไม่ใช่เงินหรือการเรียนพิเศษ


 
       หากมนุษย์ในยุคโลกาภิวัฒน์จะหยุดความเร็วลงสักหน่อย ใช้ความสังเกตมากสักนิด เราคงสังเกตพบความผิดปกติบางประการที่กำลังเกิดกับเด็ก ๆ ในปัจจุบัน นั่นก็คือสถิติของการเกิดโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กกลุ่มที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนความรัก หรือก็คือเด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งตั้งแต่แรกเกิด
      
       โดยนักวิจัยพบว่า ในระบบประสาทส่วนกลางของสมองของเด็กกลุ่มที่เติบโตมาในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้านั้น จะมีเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นสีเทา (Grey Matter) และส่วนที่เป็นเนื้อสีขาว (White Matter) น้อยกว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวปกติ และสาเหตุที่ทำให้การพัฒนาของสมองเด็กเป็นไปเช่นนั้น ก็เพราะสภาพแวดล้อมภายในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้านั้น "ขาดแคลนสิ่งที่เอื้อต่อการพัฒนาของสมอง" ทั้งในด้านบุคลากรที่มีไม่พอเพียง และสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นใด ๆ ทำได้เพียงนอนเงียบ ๆ อยู่ในเตียงของตัวเอง หรือไม่ก็ต้องร้องไห้จนเสียงแหบเสียงแห้งกว่าจะได้สิ่งที่ตนเองต้องการ
      
       ความขาดแคลนเหล่านั้นจึงทำให้สามารถอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดเด็กที่อาศัยอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กจึงมีแนวโน้มจะเกิดโรคสมาธิสั้น หรือความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ขึ้นมาได้ง่ายกว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวอันอบอุ่น
      
       สำหรับระบบประสาทส่วนกลางนั้น ประกอบด้วยเนื้อเยื่อสมองส่วนสีเทา (Grey Matter) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อสมองที่อยู่รอบนอกของสมอง ส่วนเนื้อเยื่อสมองส่วนสีขาว (White Matter) นั้นจะอยู่ส่วนในของสมอง และทั้งสองส่วนประกอบด้วยเซลล์ประสาทเช่นเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงว่า ในส่วนของเนื้อเยื่อสีเทานั้นหน้าที่หลักเป็นการประมวลผล ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ความจำ ทักษะการพูด ฯลฯ ส่วนเนื้อเยื่อสีขาวจะทำหน้าที่ในการรับส่งสัญญาณจากอวัยวะส่วนต่าง ๆ ไปยังสมองโดยตรง รวมถึงการควบคุมการทำงานของอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกาย เป็นต้น (อ้างอิงจาก
http://www.differencebetween.net/science/health/difference-between-grey-and-white-matter)
      
       นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบด้วยว่า เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กนั้นจะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่ามาตรฐาน และมีทักษะทางการใช้ภาษาด้อยกว่าผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีความรักความอบอุ่นอีกด้วย
      
       ดร.ชาร์ลส์ เนลสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจากบอสตันกล่าวว่า การศึกษาชิ้นนี้พบช่วงเวลาที่สำคัญของสมองมนุษย์ นั่นก็คือช่วง 2 ปีแรกของชีวิต และการดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาที่สำคัญยิ่งของสมองของเด็ก ๆ เหล่านั้น
      
       "สิ่งที่สามารถอธิบายได้ถึงปัญหาทางพัฒนาการที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ สถานรับเลี้ยงเด็กที่ถูกทอดทิ้งนั้นขาดแคลนสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ อันเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้สมองของมนุษย์เกิดการพัฒนา"
      
       ปัจจุบันมีพ่อแม่จำนวนมากที่ต้องการให้ลูกของตนเองแสดงความเป็นอัจฉริยะในด้านใดด้านหนึ่งออกมา และพยายามหาวิธีต่าง ๆ มากมายในการพัฒนาศักยภาพของสมองลูก แต่สำหรับเด็กกำพร้า พวกเขาไม่เพียงแต่ขาดความรักความเอาใจใส่ แต่สิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างสมองก็ยังไม่ได้รับโอกาสในการเติบโตอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างมาก
      
       การวิจัยนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และโรงพยาบาลเด็กแห่งบอสตัน สหรัฐอเมริกา

 
 
ขอบคุณ ที่มา : life&family ; manageronline





แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement