น้อยคนนักที่จะเกิดมาบนโลกนี้แล้วไม่เคยถูกใครอิจฉาเลย การถูกอิจฉาริษยาจากคนในที่ทำงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย มักเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งถ้าหากคุณโชคดีพอ คนที่อิจฉาคุณก็จะไม่สามารถทำอะไรคุณได้ ทำได้เพียงแค่แอบมองคุณจากมุมมืด พร้อมส่งสายตาอิจฉามายังคุณเท่านั้น แต่ถ้าคุณโชคร้าย คุณก็อาจโดนคนประเภทนี้ออกมาเล่นงานคุณจัง ๆ จนเจ็บหนัก เสื่อมเสียชื่อเสียงได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ไม่แน่ว่าความร้ายกาจของคนที่อิจฉาคุณอยู่นั้นอาจถูกสยบลงได้ หากคุณมีวิธีจัดการที่ดีกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งวิธีจัดการจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ
1. หยิบยื่นความเป็นมิตร
แม้ว่าคุณอาจได้ยิน หรือพอจะรู้สึกได้ว่า มีคนบางคนแอบอิจฉาคุณอยู่ แต่การเดินหน้าเข้าไปลุย หรือเข้าไปจัดการกับคู่กรณีอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก หากทำได้ ลองมีน้ำใจ ทำสิ่งดี ๆ กับเธอคนนั้นก่อนจะดีกว่า เช่น พูดกับเธอดี ๆ หรือมีขนมก็แบ่งกัน การลองทำสิ่งดี ๆ แก่กันอาจช่วยเปิดโอกาสให้คุณและเธอคนนั้นได้รู้จักกันดียิ่งขึ้น และทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีได้
แต่ถ้าหากลองทำแล้วยังไม่เป็นผล ก็อย่านำเรื่องนี้มาเก็บเป็นอารมณ์ให้กังวลใจไปเลย เพราะคนเราก็มีได้หลายมุม หลายความรู้สึก เราไม่อาจทำให้ทุกคนรู้สึกดีกับเราได้ทั้งหมด หรือถ้าสบโอกาส ลองสังเกตดูก็ได้ว่า เธอคนนั้นทำนิสัยเดียวกันกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ หรือไม่ ถ้าทำ ก็เป็นไปได้ว่า นั่นคือตัวตนของเธอ และไม่ได้มีแต่คุณที่เจอเธออิจฉาใส่
2. กระตุ้นให้มีการทำงานเป็นทีม
เพราะการทำงานเป็นทีมจะสำเร็จได้ ทุกคนต้องหันมาร่วมมือกัน ซึ่งการทำเช่นนั้นก็อาจทำให้คุณและคนที่อิจฉาคุณได้มีโอกาสศึกษานิสัยใจคอกันมากขึ้นกว่าเดิม เข้าใจกันมากกว่าเดิม นำไปสู่การเลิกอคติ หรือมองกันในแง่ร้ายได้
3. มุ่งมั่นในหน้าที่ของตัวเอง
การเปลี่ยนจุดหมายในการทำงาน แทนที่จะพัฒนางานของตนเองให้ดีขึ้น ไปหาคนที่อิจฉา หรือจ้องจะทำไม่ดีกับคุณอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ คุณควรเอาเวลาในออฟฟิศไปมุ่งมั่นพัฒนางานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ศึกษาความต้องการขององค์กร เป้าหมายของหัวหน้างาน ฯลฯ แล้วปรับปรุงการทำงานของตนเองให้เป็นไปในทิศทางนั้น ๆ เพื่อที่ว่าอย่างน้อย เพื่อนร่วมงานคนนั้นก็จะได้ไม่สามารถทำลาย หรือพูดถึงคุณในแง่ไม่ดีได้นั่นเอง
4. เข้มแข็งเข้าไว้
บางคนกว่าจะทราบว่ามีคนอิจฉา หรือลอบใส่ความ ก็มาสังเกตได้เมื่อสายไปเสียแล้ว เช่น เพื่อนร่วมงานทั้งออฟฟิศต่างได้รับข้อมูลเท็จเกี่ยวกับตัวคุณจากคน ๆ นั้น และไม่มีใครอยากคบหาสมาคมกับคุณอีก ถ้าเป็นเช่นนี้ ขอให้เข้มแข็งเข้าไว้ ยืดอกเชิดหน้าให้มั่น (จะแอบร้องไห้ก็ได้ ถ้าร้องเสร็จแล้วตาไม่แดง) เพราะถ้าคุณไปแอบร้องไห้ หรือทำตาแดง ๆ ก็เท่ากับเข้าล็อกตามที่เขาต้องการ แล้วเขาก็จะจัด "ปฏิบัติการลอบเมาท์" ตามมาอีกชุดใหญ่
5. สร้างความน่าเชื่อถือในหมู่เพื่อนร่วมงาน
ไม่มีอะไรสามารถสร้างแรงหนุนให้กับคุณ และผลักคำกล่าวหาร้าย ๆ ออกไปได้เร็วเท่ากับการทำดีกับคนรอบข้าง หากคุณได้รับการยอมรับจากทีม หรือคนอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมั่นในตัวของคุณ พวกเขาจะไม่สนใจคำว่าร้ายนินทาจากคนที่อิจฉาคุณแต่ประการใด และจะทำให้คนที่อิจฉาคุณอยู่นั้นต้องยอมจากไปแต่โดยดี
6. กันไว้ดีกว่าแก้
การป้องกันการเกิดความอิจฉาในหมู่เพื่อนร่วมงาน อาจทำได้หลายแบบ เช่น การกล่าวชื่นชมทุก ๆ คนที่มีส่วนต่อความสำเร็จในงาน (เพื่อนร่วมงานบางคนอาจหาความมีส่วนร่วมไม่เจอ แต่ก็ขอให้พยายามนึกให้ออก) แม้จะเล็กน้อย แต่การกล่าวชมออกไป เผื่อแผ่ความดีความชอบออกไป จะทำให้คุณไม่ตกเป็นเป้าจากคนขี้อิจฉาเหล่านั้น อีกทั้งยังทำให้คนที่ได้รับคำชม หรือการพูดถึงจากคุณไม่รู้สึกอิจฉาคุณด้วย
7. หากปัญหารุนแรง เข้าพบหัวหน้าย่อมดีที่สุด
ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเข้าไปร้องไห้ฟูมฟายขณะเล่าให้ผู้จัดการ หรือหัวหน้าของคุณฟัง เพราะมันจะดูเหมือนเด็กถูกเพื่อนแกล้งแล้วเข้าไปฟ้องครู ถ้าจะเข้าพบหัวหน้าเพื่อแจ้งถึงปัญหาดังกล่าวให้รับรู้ การวางตัวให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่น เอ่ยถึงปัญหา และความวิตกกังวลของคุณ ขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับปัญหาดังกล่าว เรียกว่า ทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ดีกว่า
8. ไม่ว่าอย่างไร เป็นคนน่ารักไว้ก่อน
แม้ว่าจะมีคนทำไม่ดีกับคุณอย่างมาก แต่ถ้าคุณอดทนกับมัน และใจดีพอที่จะไม่ถือสาหาความกับเรื่องไร้สาระเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกอิจฉานั้นก็จะถูกแทนที่ด้วยความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้นั่นเอง
แต่ถ้าวันใด ตัวคุณเองกลายเป็นฝ่ายอิจฉาคนอื่นบ้าง ก็จัดการกับความรู้สึกของตัวเองก่อนที่จะไปทำร้ายใครดีกว่านะคะ
ขอบคุณ ที่มา : life&family ; manageronline