นอกจากการดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ดื่มแล้วไม่ขับ ยังจำเป็นต้องรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งแบบที่เกิดผลขึ้นทันที หรือเกิดขึ้นหลังจากการดื่มไปแล้วด้วย
ระหว่างการเวิร์คชอป ดริงค์ไอคิว รู้ทันแอลกอฮอล์ นายแพทย์วรพงษ์ สำราญทิวาวัลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ เชียงใหม่ เล่าถึงผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายจากการดื่มว่า แม้แอลกอฮอล์จะเป็นเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมองให้หลั่งสารสื่อประสาทชื่อ กาบา ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้ แต่ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะไปกดระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อความสามารถทางร่างกายและจิตใจ การตัดสินใจเสื่อมลง และที่สำคัญยังจะทำให้หน่วยกรองที่ไตเปิดกว้าง จึงขับปัสสาวะมากกว่าปกติ จนต้องไปเข้าห้องน้ำปัสสาวะบ่อย ส่งผลให้ร่างกายยิ่งมีโอกาสขาดน้ำได้สูง โดยเฉพาะกับคนที่ดื่มน้ำน้อยมาตั้งแต่ก่อนดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งระหว่างการดื่มและหลังดื่มก็ยังดื่มน้ำเปล่าน้อยด้วย
อย่างไรก็ตาม คนดื่มแอลกอฮอล์บางคนจะเกิดอาการปวดศีรษะหรือแฮงค์ในวันรุ่งขึ้น ซึ่ง นพ.วรพงษ์ บอกว่า การแฮงค์ก็เป็นผลมาจากการที่ร่างกายขาดน้ำ ดังนั้นถ้าขาดน้ำมากๆ ก็อาจไม่ใช่แค่ปวดศีรษะ อาการอื่นๆ ของคนขาดน้ำก็จะปรากฏตามมา เช่น กระหายน้ำ ผิว ริมฝีปาก และช่องปากแห้ง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เซื่องซึม กระสับกระส่าย ตาลึกโหล ไม่มีเหงื่อ ปัสสาวะน้อยและสีเหลืองเข็มมาก หรือใน 4-6 ชั่วโมงไม่ปัสสาวะเลย ชีพจรเต้นเร็ว หายใจถี่ มีไข้ ความดันโลหิตต่ำ หากรุนแรงก็อาจทำให้ชัก หมดสติ ที่สำคัญถ้าได้รับน้ำทดแทนไม่ทันเวลา อาจอันตรายถึงเสียชีวิต
นอกจากเรื่องขาดน้ำจนแฮงค์ในวันต่อมาแล้ว นพ.วรพงษ์ ยังเตือนอีกว่า ผู้หญิงไม่ควรดื่มมาเนื่องจากจะมึนเมาได้ง่ายกว่าผู้ชาย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะธรรมชาติสร้างให้ผู้หญิงมีไขมันมาก แต่มีน้ำในร่างกายน้อยกว่าชาย ส่วนแอลกอฮอล์นั้นมีคุณสมบัติละลายในน้ำ แต่ไม่ละลายในไขมัน เหตุนี้จึงทำให้ผู้หญิงรู้สึกมึนเมาได้ง่ายกว่าผู้ชาย เพราะแอลกอฮอล์ยังคงความเข้มข้นแทนที่จะเจือจางไปกับน้ำในร่างกาย อีกทั้งการดื่มมากจนขาดสติยังเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้หญิงที่ดื่ม
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว หากต้องร่วมสังสรรค์ด้วยการดื่ม จำเป็นต้องดื่มน้ำเปล่ามากๆ เพื่อป้องกันอันตรายจากการขาดน้ำนั่นเอง