เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นที่รักของผู้อื่น


 

 
 
 
       ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวอกของคนเป็นพ่อแม่ อยากให้ลูกเติบโตเป็นเด็กน่ารัก และเป็นที่รักของผู้อื่น ไม่ว่าจะกับเพื่อน หรือคนรอบข้าง เมื่อไรที่เห็นลูกไม่มีใครเล่นด้วย หรือไม่เป็นที่ต้องการของเพื่อน และสังคม คงไม่ต้องถามเลยว่าคนเป็นพ่อแม่จะรู้สึกเช่นไร วันนี้เรามีแนวทางในการสร้างพื้นฐานให้ลูกฉลาดที่จะอยู่กับผู้อื่นมาฝากกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันได้เลยค่ะ
       
       "แม่" เพื่อนคนแรกของลูก
      
       เมื่อลูกเกิดมา แม่เป็นผู้ดูแลให้ลูกได้รับความสุขกายสบายใจ อบอุ่น และปลอดภัย ซึ่งลูกรับรู้ได้จากน้ำเสียงของแม่ การสัมผัส การตอบสนองของแม่ ไม่ช้าลูกจะเรียนรู้ว่า คนคนนี้คือคนที่จะคอยตอบสนองความต้องการของเขา คือคนที่เขาไว้วางใจได้ ยามใดที่เขาหิว และร้อง แม่คือคนที่จะเข้ามาหา ทำให้เขาอิ่ม
      
       ความไว้วางใจที่แม่สร้างให้เกิดในใจลูก เป็นพื้นฐานที่มั่นคงที่สุดสำหรับการพัฒนากลูกให้มีทักษะทางสังคมที่ดี เพราะการที่เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับใครได้นั้น เราจะต้องเกิดความไว้วางใจคนคนนั้นเสียก่อน ดังนั้น ถ้าแม่สร้างประสบการณ์ให้ลูกเกิดความรู้สึกไว้วางใจ ลูกก็จะมีความไว้วางใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและคนที่สามารถสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดกับลูกเป็นคนแรกก็คือแม่
      
       ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเห็นพ้องต้องกันว่า ความรู้สึกไว้วางใจในในมนุษย์ด้วยกันนี้ ถ้าไม่สร้างเสียตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิต จะไม่สามารถสร้างขึ้นในภายหลังได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กอาจกลายเป็นคนระแวงคน และสังคมจนเกินเหตุ โอกาสที่จะเติบโตเป็นคนมองโลกในร้ายย่อมมีได้สูง
      

 


       เพราะฉะนั้น แม้ว่าแม่ต้องกลับไปทำงาน แต่หากได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่ลูก หรือทำให้ลูกเกิดความรู้สึกไว้วางใจได้แล้ว ก็ถือว่าได้สร้างพื้นฐานที่ดีให้ลูกแล้ว ซึ่งผลที่เห็นได้ชัดในเวลาอันใกล้ก็คือ ลูกจะมีพัฒนาการทางด้านภาษารุดหน้า และแน่นอนว่า ลูกสามารถที่จะมีทักษะทางสังคมที่ดีในอนาคตด้วย
      
       "พ่อ" ความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง
      
       หลังจากลูกมีความผูกพันกับแม่แล้ว ลูกก็พร้อมที่จะสร้างสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งคนต่อมาจะเป็นใครไปไม่ได้ คือพ่อนั่นเอง เพราะพ่อเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุดรองจากแม่ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกสามารถทำให้ลูกเกิดความรู้สึกไว้วางใจเพื่อนมนุษย์ได้เหมือนกัน แต่ด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกัน ทั้งจากหน้าตา ท่าทาง น้ำเสียง สัมผัส หรือแม้แต่กลิ่นกาย ในขณะที่แม่ให้ความรู้สึกนุ่มนวล อ่อนโยน อบอุ่น พ่อจะให้ความรู้สึกสนุกสนาน ตื่นเต้น เป็นเพื่อนเล่นคนโปรดของลูก เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมทำให้ลูกได้เรียนรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป
      
       กระนั้น สิ่งที่จะทำให้เด็กเรียนรู้วิธีสร้างสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกับคนอื่น ยังรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมในครอบครัวด้วย เด็ก ๆ เรียนรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์จากการเฝ้าดูคนรอบข้างปฏิบัติต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่พ่อปฏิบัติกับแม่ คนในครอบครัวปฏิบัติต่อกัน หรือวิธีที่แต่ละคนปฏิบัติต่อตัวเด็กเอง เด็กจะซึมซับและจะนำวิธีการเหล่านี้ไปลองมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ถ้าเลี้ยงดูลูกให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ให้โอกาสได้เรียนรู้ความสนุกสนานที่เกิดจากการเล่นกับผู้อื่น ลูกก็จะสามารถเข้าสังคม อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ง่าย และรู้จักสร้างมิตรภาพที่แท้จริงขึ้นมาได้

      
       สอดรับกับ จอห์น โบว์ลบี้ นักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษที่กล่าวเอาไว้ว่า "ความผูกพันแน่นแฟ้นที่เด็กมีต่อพ่อแม่ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เด็กเติบโตเป็นคนมีความสุข เมื่อพ่อแม่แสดงความเข้าอกเข้าใจและตอบสนองความต้องการของเด็ก พ่อแม่ได้ปลูกสร้างพื้นฐานความรู้สึกที่มั่นคงในตัวลูก"
      
       นอกจากนั้นแล้ว ทักษะการเข้าสังคมของลูกจะดีหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวาของพ่อแม่ด้วย
      
       ในกรณีนี้ ผศ.ดร.มนัสนันท์ หัตถศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผยว่า หากพ่อแม่ขาดความสม่ำเสมอหรือขาดความคงเส้นคงวา ลูกอาจสับสน ขาดการเรียนรู้ และไม่แน่ใจว่าพฤติกรรม หรือสิ่งที่เขาทำดีหรือไม่อย่างไร กลายเป็นคนไม่มั่นคงทางอารมณ์ และมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ง่าย
      
       "ความคงเส้นคงวาของพ่อแม่จะมีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี ถ้าลูกอารมณ์ดีก็ช่วยให้เขาปรับตัวได้ง่าย แต่ถ้าพ่อแม่ไม่คงเส้นคงวา ชมบ้าง ไม่ชมบ้าง เช่น วันนี้ลูกเอางานศิลปะมาให้ดู พ่อแม่ก็ชื่นชม พอวันรุ่งขึ้น ลูกเอาให้ดูใหม่ แต่พ่อแม่มีความเครียดสะสมจากงาน กลับบอกลูกไปว่า อย่าเพิ่ง ๆ กลับไปก่อน ลูกก็เกิดความสับสนว่าทำไมวันนี้ไม่ได้รับความสนใจเหมือนเมื่อวาน กลายเป็นเด็กไม่กล้า และไม่มั่นใจในตัวเอง ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และการปรับตัวในเรื่องต่าง ๆ ตามมา" ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพัฒนาการเด็กทิ้งท้าย

 
 
ขอบคุณ ที่มา : life&family ; manageronline





แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement