..เวลาจามให้เอามือปิดปาก ..เวลามีไข้ให้นอนพักผ่อนเยอะๆ ..ไม่ควรออกกำลังกาย หลากความเชื่อแสนคลาสสิกที่ได้ยินกันมานาน เชื่อว่าหลายคนต้องมีแอบสงสัย -> จริงมั้ยนะกับความเชื่อเหล่านี้!! เอางี้ดีกว่า เรามาฟังคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกันค่ะ ว่าความเชื่อไหนกันที่ถูก แล้วความเชื่อไหนบ้างที่ผิด เผื่อคุณๆ จะได้เอาไว้เป็นแนวปฏิบัติตัวให้หลีกไกลโรคไข้หวัด ในภาวะฝนตกชุกอย่างช่วงนี้ไงคะ
ความเชื่อที่1 : ห้ามออกจากบ้าน ขณะที่ผมยังเปียก
ข้อเท็จจริง ถึงผมไม่เปียกก็เป็นหวัดได้ ถ้ารับเชื้อหวัดเข้าไป
หลายคนมีความเชื่อว่า หากออกจากบ้านในขณะที่ผมเปียก ศีรษะเย็น จะเสี่ยงต่อการเป็นหวัด ทว่าความจริงแล้วผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ Rachel Vreeman คุณหมอด้านกุมารเวชศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัย Indiana เปิดเผยว่า ไม่เป็นความจริง เพราะไม่ว่าผมคุณจะเปียก หรือไม่เปียก คุณก็สามารถเป็นไข้หวัดได้ หากได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไป
เราได้ทำการศึกษาวิจัยกับคน 2 กลุ่ม โดยฉีดเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไปในจมูกของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากนั้นให้คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในสภาพอากาศที่เปียกและเย็น อีกกลุ่มอยู่ในสภาพอากาศปกติ ซึ่งผลวิจัยพบว่า คนทั้งสองกลุ่มไม่ได้มีแนวโน้มในการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันเลย ดังนั้นการเป็นหวัดจึงมาจากเชื้อไวรัสมากกว่าสภาพอากาศ
ความเชื่อที่2 : เป็นไข้แล้ว กินอาหารน้อยลงกว่าปกติ
ข้อเท็จจริง ต้องกินอาหารที่ดี และมีประโยชน์ให้มากกว่าปกติ
ข้อนี้ไม่ถึงกับเป็นความเชื่อที่ผิด แต่คุณหมอVreeman ระบุว่า คนส่วนใหญ่มักปล่อยเลยตามเลย พอป่วยรู้สึกเบื่ออาหารก็จะไม่กิน หรือกินน้อยลง ซึ่งเป็นความผิดมหันต์ค่ะ เพราะแท้จริงแล้วเมื่อเป็นหวัด ร่างกายจะต้องการพลังงานจากอาหารมากกว่าปกติ เพื่อนำไปต่อสู้กับเชื้อไข้หวัด ดังนั้นหากมีไข้ เป็นหวัด จำให้ขึ้นใจว่า ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพยายามดื่มน้ำมากขึ้น ร่างกายจะได้ไม่แย่ไปกว่าเดิมไงล่ะ
ความเชื่อที่3 : ห้ามดื่มนมวัว เดี๋ยวน้ำมูกเยอะ
ข้อเท็จจริง นมวัวไม่ได้ทำให้ปริมาณน้ำมูกเพิ่มขึ้น
สำหรับความเชื่อนี้ คุณหมอVreeman แห่งมหาวิทยาลัย Indiana ฟันธงว่า ไม่เป็นความจริงค่ะ คนส่วนใหญ่รวมถึงกุมารเวชศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า นมวัวหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัว จะเพิ่มการผลิตเมือก ซึ่งนั่นหมายถึงจะทำให้มีน้ำมูกมากขึ้น แต่จากผลการศึกษาด้วยวิธีการให้คนกลุ่มหนึ่งดื่นนมวัว อีกกลุ่มให้ดื่นนมถั่วเหลือง ผลก็ยังปรากฏว่า ปริมาณน้ำมูกของคนทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันเลย
ความเชื่อที่4 : จับหน้าผาก สังเกตอาการไข้
ข้อเท็จจริง ใบหน้าสามารถสังเกตอาการไข้ได้รวดเร็วกว่าที่หน้าผาก
แท้จริงแล้ว การสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ตัวว่าเริ่มมีอาการไข้หรือไม่นั้น ควรสังเกตที่ใบหน้ามากกว่าการเอามือแตะหน้าผากอย่างที่หลายคนเคยชิน
Daniel Sessler นักวิจัยแห่ง Cleveland Clinic ระบุว่า ใบหน้าของเราจะบอกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงร่างกายได้มากที่สุด (มากกว่าศีรษะเสียอีก) ดังนั้นหากเริ่มรู้สึกว่าใบหน้าของตัวเองร้อน ก็ไม่ต้องรอให้หน้าผากหรือศีรษะร้อนค่ะ เร่งควาญหาเสื้อหนาๆ มาใส่ให้อบอุ่นได้เลย เพราะนั่นคือสัญญาณเตือนของอาการไข้หวัดแล้ว
ความเชื่อที่5 : กินซุปไก่ น้ำแกงชั้นยอด ช่วยลดไข้หวัดได้
ข้อเท็จจริง ช่วยได้จริง แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าในน้ำซุปมีผักอยู่ด้วย
มีการกล่าวขานว่า ซุปไก่เป็นยารักษาหวัดตามธรรมชาติ ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Nebraska ให้ข้อมูลว่า เป็นความเชื่อที่ถูกต้องแล้ว เพราะไก่มีโปรตีน และกรดอะมิโนตามธรรมชาติ ที่ออกฤทธิ์เหมือนยาขับเสมหะ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมที่จะใส่ผัก เข้าไปด้วยนะคะ เพราะผักอย่าง หอม หรือกระเทียม จะทำให้ซุปไก่ มีประโยชน์มากยิ่งขึ้นค่ะ
ความเชื่อที่6 : เมื่อเป็นไข้ ควรผักผ่อนเยอะๆ และห้ามออกกำลังกาย
ข้อเท็จจริง คุณต้องการการผักผ่อนก็จริง แต่การออกกำลังกายสักเล็กน้อยจะทำให้คุณรู้สึกดียิ่งขึ้น
ข้อนี้เป็นความเชื่อฝังแน่น ที่หลายท่านคงได้ยินมาบ่อยๆ ส่วนข้อเท็จจริงสำหรับกรณีนี้ การศึกษาจากมหาวิทยาลัย Ball State ได้ทำการศึกษากับอาสาสมัคร 2 กลุ่มที่เป็นหวัด โดยให้กลุ่มหนึ่งออกกำลังกาย 30 นาทีต่อครั้ง และ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่อีกกลุ่มพักผ่อนเฉยๆ โดยไม่มีการออกกำลังกาย และผลการศึกษาพบว่า แม้การหายจากภาวะป่วยของคนทั้งสองกลุ่มจะใช้เวลาไม่ต่างกัน แต่ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายจะรู้สึกดีกว่าสบายตัวกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยชิ้นนี้ระบุด้วยว่า การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ จะเกิดผลดีต่อร่างกายของคุณ แต่หากคุณกำลังป่วย แล้วดันไปออกกำลังกายหักโหม เช่น มากกว่า 90 นาทีต่อครั้ง ถือว่าไม่ดีนะคะ เพราะเป็นการเสี่ยงที่จะทำให้ร่างกายเราเจ็บป่วยมากกว่าเดิมค่ะ
ความเชื่อที่7 : การใช้มือปิดปากเมื่อจาม
ข้อเท็จจริง ไม่ควรทำ เพราะจะยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้มากขึ้น
เรื่องนี้หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ เลยต้องเตือนกันอีกทีว่า แม้การใช้มือปิดปากระหว่างไอหรือจามจะดูสุภาพ แต่กลับเป็นสิ่งที่ทำให้เชื้อโรคแพร่ไปยังผู้อื่นได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อเราไอหรือจามใส่มือ เชื้อโรคที่ติดอยู่ในมือจะสามารถแพร่ไปติดใครต่อใครได้ง่าย ผ่านจากการสัมผัสสิ่งต่างๆ เช่น โทรศัพท์ ปุ่มกดลิฟท์ หรือแม้แต่ลูกบิดประตู
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อคือ เมื่อเป็นไข้หวัดควรล้างมือบ่อยๆ ใช้กระดาษทิชชูแทนผ้าเช็ดหน้า จะได้ใช้แล้วทิ้งไปเลย แต่หากไม่มีทิชชู เมื่อไอหรือจามควรใช้วิธีจามใส่ข้อศอกด้านในของตัวเอง เพราะเป็นจุดที่แพร่เชื้อโรคได้น้อยกว่ามือของเราค่ะ
ที่มา : tlcthai.com