7 สัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณช้อปมากไปแล้ว


 
 

   
       มีคนจำนวนไม่น้อย มือเติบ ช้อป ช้อป ช้อป จนเข้าข่ายติดการช้อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อเห็นรายการทีวีมีอะไร ลดราคาหรือขายสินค้าออนไลน์จะเข้าไปคลิกและจับจ่ายใช้สอยทันที นักจิตวิทยา กล่าวว่า ภาวะติดการชอปปิ้ง นี้คือ การที่เราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เหมือนการติดการพนัน หรือการติดเหล้า ซึ่งจะส่งผลเสียโดยตรงต่อทางด้านอารมณ์และด้านการเงินของเรา
      
       สัญญาณ 7 ประการที่บอกว่าคุณกำลังมีปัญหา มีดังนี้
      
       1.คุณมีข้าวของมากมายที่ยังมีป้ายราคาติดเก็บไว้ ไม่ว่าจะเป็นในตู้เสื้อผ้า ชั้นวางรองเท้า หรืออื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้าวของเครื่องใช้ที่ใครให้คุณเป็นของขวัญ แต่เป็นฝีมือคุณเองที่ซื้อ ยังไม่แกะกล่อง หรือป้ายราคาออก บางครั้งแทบจะลืมไปแล้วว่าเรามีสินค้าเหล่านี้อยู่ กล่องรองเท้าวางไว้สูง หรือมีเสื้อผ้าสีซ้ำๆ เบียดกันอยู่ในตู้เสื้อผ้าเต็มไปหมด
      
       2.บ่อยครั้งที่คุณซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้วางแผนเอาไว้ คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่เห็นข้าวของแล้วอยากได้ขึ้นมาง่ายๆ โดยที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าในการซื้อเอาไว้ เช่น ซื้อเทียนหอมใส่ในห้องนอน ที่หุ้ม IPad, Iphone อันใหม่ทั้งๆ ที่ของเก่าก็ยังใช้ได้ดีอยู่ คุณเป็นคนตกหลุมหรือถูกครอบงำอะไรง่าย ๆ จากกิเลสทางสายตา ชอบมองหา เสื้อผ้าตัวใหม่ รองเท้าคู่ใหม่หรือกระเป๋าใบใหม่อยู่เสมอ
      
       3.ทะเลาะ หรือหงุดหงิดใจทุกครั้งเมื่อมีคนตำหนิว่าคุณซื้อข้าวของมากเกินไปแล้ว คนส่วนใหญ่ที่ติดการช้อปมากเกินไปมักจะเป็นพวกที่ต้องการเติมถังอารมณ์ให้เต็ม ปราศจากการควบคุมตนเอง ขาดความเชื่อมั่น คนที่มีปัญหาเรื่องติดการช้อปปิ้งมากเกินไปมักมีปัญหาอารมณ์ด้านอื่นๆ ด้วย เช่น อารมณ์แปรปรวน ปัญหาการรับประทานอาหาร หรือทดแทนการถูกทารุณทางด้านร่างกายหรือจิตใจบางอย่าง การที่บางคนติดช้อปปิ้งอย่างเมามันก็เพื่อชดเชยความว้าเหว่ภายในใจ
      
       4.คุณรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ซื้อของ คนที่ติดการชอปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจมักมีความสุขเมื่อเวลาจับจ่ายซื้อของ โดยที่สารอดรีนารีนจะหลั่งออกมาเมื่อเวลาซื้อของ ไม่ใช่เพราะจะได้เป็นเจ้าของสิ่งนั้น แต่มีความสุขกับการใช้จ่ายเงิน นักวิชาการกล่าวว่าสารเคมีในสมองที่มีความสัมพันธ์กับความสุขจะถูกปล่อยออกมาเหมือนคลื่นในขณะช้อปหรือได้เห็นสิ่งที่ปรารถนา ความสุขวูบวาบที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหมือนสารเสพติด
      
       5.ซื้อเพราะความรู้สึกผิด ความรู้สึกผิดนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการซื้อข้าวของชิ้นใหญ่ หลายครั้งที่ผู้ติดการช้อปมักชอบของลดแลกแจกแถมหรือไม่ต่อราคา คิดว่า หากไม่ซื้อไปคงเสียดายแย่ คนที่ติดการชอปปิ้งจะตกในหลุมที่ลึกมากขึ้นและมากขึ้น และรู้สึกว่าการซื้อของเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและไม่ควรพลาดอย่างแรง
      
       6.คุณพยายามปกปิดนิสัยการชอปปิ้งจากคนรอบข้าง หากคุณเริ่มซ่อนของที่ซื้อมาที่ตู้เสื้อผ้าลูก หรือพยายามไม่ให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าคุณกำลังซื้อสินค้าขายทางอินเทอร์เน็ตชิ้นใหม่อยู่ นั่นเป็นสัญญาณแล้วว่าคุณกำลังใช้เงินของครอบครัว ของคนที่รัก หรือเงินที่ได้มาจากการทำงานของคุณที่น่าจะไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่ดีกว่า
      
       7.คุณรู้สึกหงุดหงิดใจหากวันไหนไม่ได้ช้อป คุณอาจรู้สึกกระวนกระวายใจหากไม่ได้ดื่มกาแฟของร้านที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยม หรือรู้สึกว่าขาดอะไรบางอย่างไปหากไม่ได้รูดบัตรเครดิตตลอดทั้งวัน มีรายงานจากผู้ติดช้อปปิ้งว่า เขารู้สึกเหมือนขาดอะไรไปหรือไม่เข้าที่เข้าทางทั้งวันหากไม่ได้ช้อป ในกรณีออกไปซื้อของข้างนอกได้ ซื้อทางอินเทอร์เน็ตแทนก็ยังดี
      
       หากคุณเริ่มเข้าข่ายที่กล่าวมา หรือเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดการช้อปมากเกินไปแล้ว อย่าเพิ่งกังวลมากเกินไป หรือบางท่านอาจสงสัยว่าเรามีอาการดังกล่าวมานั้นจริงหรือไม่ พยายามหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงชอบช้อป ช้อป ช้อป และหาวิธีการแก้ไขจะช่วยได้มาก ทั้งนี้ สิ่งนี้เป็นพฤติกรรมที่ดีต่อตัวเองและต่องบประมาณกระเป๋าของเรา วิธีง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้คือ
      
       • หากิจกรรมอื่นมาทำแทนการชอปปิ้ง เช่น วิ่ง ออกกำลังกาย ฟังเพลง ดูทีวี กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้สามารถทดแทนอาการติดการช้อปได้ อีกทั้งไม่ทำให้กระเป๋าแฟบด้วย
      
       • แยกแยะหาตัวปัญหาที่แท้จริง คือ การหาสิ่งที่เป็นเรื่องรบกวนใจ ที่ชอบทำให้เราเข้าไปหาซื้อมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะกับแฟนหรือหงุดหงิดเรื่องการประชุม เครียดเรื่องลูก เมื่อความรู้สึกเหล่านี้เริ่มเข้ามารบกวนใจเราเมื่อไหร่ ให้เรารีบปฏิเสธการออกไปช้อปทันที
      
       • กำจัดสิ่งยั่วยวนออกไป ง่ายๆ คือ ไม่เดินไปเฉียดร้านขายของสุดโปรด หรือพยายามลดค่าใช้จ่ายต่างๆลง พยายามลดการขับรถออกไปจับจ่ายนอกบ้าน หรือออกไปหากมีความจำเป็นเท่านั้น ถ้าหากว่าการช้อปออนไลน์เป็นจุดอ่อนของคุณ ให้บล็อกเว็บนั้นออกไป
      
       • นำเงินไปซื้อของให้พอสำหรับการซื้อที่จำเป็นเท่านั้น ไม่มากเกินไป เอาบัตรเครดิตเก็บไว้ที่บ้าน จัดงบประมาณการใช้จ่ายในครอบครัวโดยที่ไม่ให้ใช้จ่ายเกินงบนั้น
      
       • ขอความช่วยเหลือ หากเราติดการชอปปิ้งจริงให้ขอความช่วยเหลือ ไม่ต้องอาย เริ่มจากการอ่านคำแนะนำจากหนังสือ หรือปรึกษาเพื่อน คนในครอบครัวให้ช่วยตรวจสอบตัวเรา หรือบางครั้งอาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เช่นนักจิตวิทยา
(
http://www.psiadmin.com/index.php?option=com_content&view=article&id=3&Itemid=7 )
      
       การติดการชอปปิ้งอาจเป็นปัญหาที่เรามองข้าม แต่แท้จริงแล้วเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้หลายครอบครัวเกิดการทะเลาะและแตกแยก รวมทั้งเกิดปัญหาในการใช้จ่ายเกินตัวทำให้หลายครอบครัวประสบปัญหาอย่างมากมาย ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ 
       
     


ขอบคุณ ที่มา : manageronline โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ
 
 





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement