รักแค่ไหน... คุณพ่อคุณแม่จะรู้ไหม ถ้าไม่แสดงออก



          ถ้าหากพูดถึงเพลงสุดคลาสสิคอย่าง “เด็กเอ๋ย เด็กดี” แล้ว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ในรุ่นไหนๆ ต่างคงเคยได้ยินได้ฟัง และเคยขับร้องกันมาบ้างในสมัยวัยเรียน ซึ่งบทเพลงเหล่านี้ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมการปฏิบัติตน เพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทหน้าที่อันสำคัญของตนเอง และปลูกฝังให้เด็กทำดีหรือทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและสังคม ซึ่งนับเป็นพื้นฐานสู่การเป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป

          พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู กุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กต่อการตอบสนองเรื่องการทำความดีว่า การรับรู้ถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเด็กวัย 6-12 ปีนั้น ถือได้ว่ามีการวิเคราะห์สิ่งรอบตัวเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งพัฒนามากกว่าวัยเตาะแตะที่มีการวิเคราะห์สิ่งรอบตัวตามจินตนาการและไม่สามารถแยกแยะถูกผิดได้เอง โดยเด็กวัย 6-12 ปีจะสังเกตพฤติกรรมของพ่อแม่ และทำตามแบบอย่าง และไม่กล้าทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากกลัวถูกจับได้และกลัวโดนทำโทษเท่านั้น ยังไม่เกิดการวิเคราะห์ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดแบบชัดเจน พ่อแม่จึงควรให้คำแนะนำและเป็นแบบอย่างที่ดี พร้อมสอนให้เด็กรู้จักอารมณ์ของตนเองก่อน เพื่อสะท้อนให้เห็นการแสดงออกที่เกิดขึ้น เช่น โกรธ หรือโมโห พร้อมรู้จักระงับอารมณ์และจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม เช่น การออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น เมื่อเด็กรู้จักการระงับอารมณ์และจัดการกับอารมณ์ได้แล้ว พ่อแม่ควรให้รางวัลอาจเป็นสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ หรือคำชื่นชม เพื่อให้เด็กสามารถรับรู้ได้ถึงผลตอบรับที่ดีจากการกระทำความดี

          ส่วนวิธีการที่จะปลูกฝังให้เด็กเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่และเป็นคนดีของสังคมนั้น ควรเริ่มจากพ่อแม่หรือบุคคลใกล้ชิดที่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้ หรือแม้แต่ตัวละคร ตัวการ์ตูนที่เด็กๆ ชอบ ก็ยังมีส่วนช่วยในการสร้างจินตนาการ และพัฒนาความคิดในเชิงบวกของเด็กได้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แต่แบบอย่างหรือเรื่องราวของตัวละครควรแสดงให้เห็นถึงการปลูกฝังในการตอบแทนบุญคุณของบุพการีอย่างสม่ำเสมอ เด็กก็จะซึมซับความกตัญญูนั้นไปเรื่อยๆ จนเกิดความพยายามในการแสดงออกถึงการเป็นลูกที่ดี เช่น เสนอตัวในการช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานต่างๆ แบ่งเบาภาระงานบ้านที่ตนเองสามารถทำได้ จนเมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็จะมีความกตัญญูต่อครอบครัว นำพาให้เด็กเป็นคนดีของสังคมต่อไป

ข้อมูลจาก Sabinie









แสดงความคิดเห็น






Insurance


Advertisement