จากการศึกษาจากเว็บเอ็มดี พบว่า ผู้ปกครองที่เลี้ยงลูกแบบตามใจมักจะชอบให้อะไรทุกอย่างที่ลูกขอ ทำให้ลูกขาดความเข้าใจว่าโลกภายนอกที่แท้จริงเป็นอย่างไร การเอาใจและตามใจลูกมากเกินไปคือการให้จนเหลือเฟือ มากกว่าความจำเป็น ไม่จำกัดขอบเขต หรือไม่คาดหวังให้ลูกพยายามทำในสิ่งที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการโดยเฉพาะเมื่อผ่านพ้นวัยคลานไปแล้ว
แต่ในกรณีที่ลูกเป็นเด็กทารก เราจะไม่ใช้คำว่าโอ๋ลูกหรือเอาใจลูกมากเกินไป เพราะเด็กทารกจะร้องไห้เมื่อต้องการอะไรอยู่แล้ว ไม่ใช่การเอาแต่ใจหรือเรียกร้องความสนใจ แต่เป็นการแสดงออกทางด้านการสื่อสารอย่างหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่สร้างความมั่นใจให้ลูกเพื่อเป็นฐานให้ลูกมั่นใจว่าโลกนี้ปลอดภัย งานวิจัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากผู้ปกครองสามารถตอบสนองต่อความต้องการของเด็กทารกได้เร็วเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เด็กร้องไห้ หรือต้องการอะไรบางอย่างเด็กจะมีความสุขและเป็นตัวของตัวเองได้มากในขวบปีแรก เด็กทารกจะเรียนรู้และไว้วางใจว่าทุกครั้งจะมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยเสมอเมื่อต้องการ
กรณีเด็กวัยคลาน กับพฤติกรรมเกเร ร้องไห้งอแงบ้าง กรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องเอาแต่ใจตัวเองหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะการงอแงเอาแต่ใจตัวเองของเด็กวัยคลานเป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการของเด็กปกติในวัยนี้ เด็กจะเริ่มแยกความแตกต่างได้ และจะแสดงออกโดยใช้คำว่าไม่ นั่นเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่กำหนดขอบเขตให้เด็ก หรือพยายามหยิบยื่นทุกอย่างที่ลูกต้องการให้ตลอดเวลา
คราวนี้ลองมาดูว่า ลูกเริ่มเอาแต่ใจแล้วหรือยัง ยกตัวอย่างเช่น
- เมื่อถึงเวลาอาหารเย็น คุณแม่เตรียมอาหารเย็นให้เรียบร้อยแล้ว แต่ลูกงอแงไม่อยากทานอาหารที่คุณแม่ทำให้ คุณแม่เลยต้องออกไปทำอาหารที่ลูกต้องการมาให้พิเศษอีก หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นครั้งสองครั้งคงไม่เป็นไร ตามหลักลูกต้องได้รับอาหารที่ครบตามหลักโภชนาการ แต่หากลูกงอแงปฏิเสธอาหารที่ทำให้เกือบทุกเย็น นั่นหมายความว่าลูกเริ่มเอาแต่ใจตัวเองแล้ว
- การงอแงไม่เชื่อฟัง มักเกิดขึ้นในช่วงเด็กวัยคลาน เพราะเป็นไปตามขั้นตอนพัฒนาการ แต่หากเด็กวัย 5-6 ขวบ ยกกำปั้นขึ้นใส่เพราะต้องการอะไรบ้างอย่าง นั่นแสดงให้เห็นว่าวุฒิภาวะเด็กเริ่มไม่เหมาะสมกับวัย การงอแงเป็นการแสดงความรู้สึกสำหรับเด็กเล็กๆเท่านั้น แต่สำหรับเด็กโตแล้ว การงอแง ดื้อ นั้นถือเป็นการเรียกร้องความสนใจและการเอาแต่ใจตัวเอง
- พึ่งคุณพ่อคุณแม่ตลอดเวลา หากลูกไม่สามารถเข้านอนได้ นอกจากว่ามีคุณแม่อยู่ด้วย ไม่ยอมให้คุณพ่อ คุณแม่ทำอะไรได้เลย ไม่ยอมอยู่กับคุณตา คุณยาย หรือพี่เลี้ยง จะกระทืบเท้า ร้องตะโกนเมื่อเวลาจะไปโรงเรียน นั่นเริ่มแสดงถึงปัญหาแล้ว เป็นความจริงว่าลูกต้องการอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ แต่ลูกต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่กับคนอื่นด้วย
6 เคล็ดลับเลี้ยงลูกไม่ให้เอาแต่ใจตัวเอง
1. จัดกฎเกณฑ์ ให้เหมาะสมกับพัฒนาการและวัยของเด็ก
2. ตั้งกฎเรื่องความปลอดภัย เช่น อย่าใช้นิ้วมือจับเตาไฟร้อนๆ ห้ามวิ่งเล่นที่ถนน ถือเป็นกฎเหล็ก เราจะไม่อะลุ่มอล่วยในเรื่องกฎเหล็กแห่งความปลอดภัย
3. เน้นเรื่องการสร้างพฤติกรรมทางสังคมเชิงบวก โดยให้ลูกพูดคำว่า ขอโทษ และขอบคุณอย่างสุภาพ กับเพื่อนๆและคนรอบข้าง
4. คุยกับลูกถึงพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่างชัดเจน เด็กวัยเรียนหรือเด็กโตแล้วจะเริ่มมีสมาธิ ตัวอย่างเช่น เมื่อถามลูกว่าทำไมลูกทำอย่างนั้น ลูกอาจจะไม่สามารถตอบได้ แต่หากตั้งคำถามใหม่ว่าแม่สงสัยจังเลย ว่าทำไมเกิดสิ่งนี้บ่อยจัง การตั้งคำถามปลายเปิดแบบนี้ทำให้เด็กเริ่มใช้เวลาคิด และคุณพ่อคุณแม่อาจแปลกใจกับคำตอบที่ได้รับ
5. สงบสติอารมณ์ เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มหงุดหงิดต่อพฤติกรรมของลูกจะทำให้รู้สึกไม่ดีและควบคุมตัวเองไม่ได้ (ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่เริ่มมีอาการเหมือนเวลาลูกเอาแต่ใจตัวเองแล้วละค่ะ) และการที่พ่อแม่อารมณ์เสีย ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่ดีต่อลูกเลย
6. สม่ำเสมอ เมื่อพูดอะไรแล้วต้องทำตามที่พูด หากเรามีความคาดหวังพฤติกรรมอะไรให้ลูก เราต้องทำตามนั้นจริงๆ เช่น คุณแม่จะไม่ให้ลูกเล่นของเล่นนี้อีกหากลูกไม่รักษาของ หากพูดบ่อยๆ เกิน 10 ครั้ง แสดงว่าไม่ได้ผลแล้วนะคะ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่าคิดว่าลูกยังเด็ก อย่าคิดว่ารอให้โตก่อนแล้วค่อยบอกนะคะ ควรจะเริ่มสอน สอดแทรกตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ พ่อแม่เองก็จะเข้าใจความต้องการ และเรียนรู้พัฒนาการของลูกไปพร้อมๆกัน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวค่ะ
เรียบเรียงข้อมูลจาก manager.co.th ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ
อ้างอิง : www.webmd.com/parenting/guide/spoiled-child