อวัยวะที่หลายๆคนละเลย


       เราดูแลตัวเองได้มากมายทั้งร่างกาย แต่มีอวัยวะหนึ่งที่หลายคนมักจะละเลย นั่นก็คือ "ใบหู" ลองนึกดูดีๆนะคะ บางคนดูแลผิวหน้าดีมากแต่ดันลืมดูแลใบหู ทั้งๆที่อยู่ติดกันแค่นี้เอง

       "หู" มีหน้าที่ในการรับฟังเสียง เพื่อติดต่อสื่อสาร ถึงจะเป็นอวัยวะเล็กๆ แต่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอวัยวะอื่นๆในร่างกาย หูเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อน และแบ่งออกเป็น หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน ซึ่งในแต่ละชั้นก็จะมีส่วนที่สำคัญๆเชื่อมต่อกัน เราจึงต้องมีการดูแลทำความสะอาดอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันอาการผิดปกติเกี่ยวกับหูค่ะ

       1. เช็ดทำความสะอาด เฉพาะบริเวณใบหูและรูหู โดยใช้ผ้าหรือสำลีชุบเบบี้ออยล์หรือน้ำสบู่เจือจาง เช็ดแค่บริเวณที่นิ้วจะเข้าไปได้ ห้ามใช้ของแข็งแคะรูหูเข้าไปลึกๆ

       2. หลีกเลี่ยงการล้างและปั่นแคะรูหู เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดขี้หู อาจเกิดรอยถลอกของช่องหูชั้นนอก หรือทำให้เยื่อบุแก้วหูฉีกขาดได้

       ประโยชน์ของขี้หู นอกจากจะป้องกันแมลงไม่ให้ยุ่งกับหูชั้นต่างๆแล้ว หูยังความเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งช่วยในการป้องกันการติดเชื้อได้อีกด้วย เราจึงไม่ควรที่จะแคะหูบ่อยๆ แต่สำหรับคนที่มีขี้หูแข็ง ให้ใช้น้ำมันมะกอกหรือเบบี้ออยล์ หยดในรูหู 1 - 2 หยด ประมาณ 2 - 3 วัน แล้วค่อยเช็ดออก

       3. ระวังอย่าให้น้ำเข้าหู หากมีน้ำเข้าหู ให้เอียงหูข้างนั้นลงต่ำๆ ดึงใบหูให้กางออกและเฉียงไปด้านหลัง น้ำจะค่อยๆไหลออกมาได้เอง หรือใช้ไม้พันสำลีขนาดเล็ก(cotton bud) ไม่ควรใช้ขนาดใหญ่คับรูหู จะทำให้เกิดการระคายเคืองได้

       ห้ามน้ำเข้าหูเด็ดขาด! สำหรับคนที่เคยมีประวัติว่ามีการอักเสบของหู

       4. ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ และห้ามบีบจมูกสั่งน้ำมูก เพราะจะทำให้เชื้อโรคจากช่องจมูกหรือคอถูกดันเข้าไปในหูชั้นกลาง ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคหูน้ำหนวก

      5. แมลงเข้าหู อย่าพยายามใช้ของแข็ง หรือ cotton bud แคะ แต่ให้ใช้น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันพืชหยอดรูหู ทิ้งไว้สักครู่ แมลงจะเคลื่อนไหวไม่ได้และตายในที่สุด หลังจากนั้นแมลงจะไหลออกมาจากรูหู แต่ถ้ายังไม่ออกหรือมีอาการปวดหูควรรีบไปพบแพทย์ทันที

       6. หลีกเลี่ยงเสียงดัง เช่น สถานที่ก่อสร้าง บริเวณใกล้ๆลำโพงในผับ คอนเสิร์ต หรือแม้แต่การใส่หูฟังเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ประสาทหูเสื่อมลงทีละน้อย หรืออาจเสื่อมแบบเฉียบพลันได้ ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดังทุกครั้ง

       7. ระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับหู ระวังการถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรง เช่น ศีรษะกระแทกพื้นหรือของแข็ง เพราะจะทำให้เยื่อบุแก้วหูทะลุและฉีกขาด กระดูกรอบหูแตกหรือกระดูกหูเคลื่อน ช่องหูชั้นนอกฉีกขาด หรือมีเลือดออกในหูชั้นกลางหรือชั้นในได้ เกิดการสูญเสียการได้ยินตามมา

       8. รีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติของหู หรือมีการติดเชื้อในโพรงจมูก เช่น เป็นหวัด จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือโรคภูมิแพ้กำเริบ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหูได้

       ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกชนิด โดยยาบางชนิด ส่งผลต่อประสาทหูและการทรงตัว เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาแก้ปวด หรือยาขับปัสสาวะ ทำให้ประสาทหูเสื่อมหรือเสียการทรงตัวได้

       9. สังเกตอาการผิดปกติของหูและการได้ยินอยู่เสมอ

 

 

 

บทความโดย Fineday

Pooyingnaka.com





แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement