“เสาวรส” บิวตี้ฟรุ๊ตประจำซัมเมอร์นี้


   เสาวรส...ประโยชน์สารพัด

       “เสาวรส” หรือที่สมัยนี้เราเรียกทับศัพท์กันว่า “แพชชั่นฟรุต” นั้นมีรสชาติตั้งแต่เปรี้ยวอมหวานไปจนถึงเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดโดนใจ ส่วนเนื้อนั้นนุ่มละมุน กลิ่นหอมหวานสดชื่น รสชาติหรือหน้าตาของเสาวรสอาจดูไม่คุ้นตาสำหรับบางคนเพราะหารับประทานได้ค่อนข้างยาก และการที่เนื้อมีเมล็ดมากอาจทำให้ไม่สะดวกในการรับประทานสดนัก อย่างไรก็ตาม รสชาติที่ออกเปรี้ยวหรือหน้าตาที่ดูไม่คุ้นเคยกลับแฝงไว้ด้วยประโยชน์หลายอย่าง ดังภาษิตที่ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” โดยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้จัดเสาวรสเอาไว้ในสมุนไพรกลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด แนะนำให้เลือกผลเสาวรสที่แก่จัด ล้างทำความสะอาดแล้วผ่าครึ่ง คั้นเอาแต่น้ำ แต่งรสด้วยเกลือและน้ำตาล ดื่มเป็นประจำ นอกจากนี้ ผลเสาวรสสุกยังมีคุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ อีก อาทิ แคลเซียม โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินต่างๆ รวมถึงเบต้าแคโรทีน ด้วยสรรพคุณ    ที่หลากหลายนี่เองที่ทำให้เสาวรสเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในและต่างประเทศ
 

   ครบเครื่องบิวตี้ฟรุตตัวแม่!

 

       ดร.กิตติพร พันธ์วิจิตรศิริ ผู้จัดการด้านโภชนาการและสุขภาพ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย แนะนำว่า ผลเสาวรสสามารถรับประทานได้สดๆ หรือนำมาคั้นเป็นน้ำผลไม้ โดยเสาวรสเป็นผลไม้ที่มีน้ำมากถึง 70-80% จึงเหมาะกับสภาพอากาศร้อน ภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ รสชาติที่ออกเปรี้ยวยังช่วยให้รู้สึกสดชื่นตื่นตัวขึ้นมาทันที
 
นอกจากนี้ เสาวรสยังเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง โดยคิดเป็นอัตราที่สูงกว่ามะนาวถึง 50% เสาวรสครึ่งผลให้วิตามินซีมากกว่ามะนาวหนึ่งผลเสียอีก วิตามินซีมีคุณประโยชน์ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย บำรุงผิวพรรณและผลัดเซลล์ผิว นอกจากนี้ เสารสยังมีวิตามินเอและสารไลโคปีน ซึ่งมีส่วนช่วยเติมเต็มความชุ่มชื่นให้ผิว บำรุงสายตา สมานผิวและรักษาสภาพเยื่อบุผิวหนัง ที่สำคัญคือ เสาวรสเป็นแหล่งไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารสูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย การดูดซับน้ำ และช่วยลดการดูดซึมสารพิษอีกด้วย
 
นอกจากคุณประโยชน์ทางยาและสารอาหารแล้ว เสาวรสยังสามารถใช้ประทินผิวให้สวยเปล่งปลั่งได้ในหลายลักษณะ เช่น ใช้ผสมเป็นมาส์กพอกหน้า เพราะวิตามินซีและวิตามินเอในเสาวรสนั้นขึ้นชื่อทั้งในเรื่องของการสมานผิวและลดเลือนรอยเหี่ยวย่น จุดด่างดำ รอยแดง ฝ้า กระ ให้ดูจางลง ช่วยให้ผิวนุ่มเนียนขึ้น และลดอาการอักเสบของสิว ส่วนน้ำมันเสาวรสที่ใช้เป็นยาบรรเทาปวดเมื่อยได้ตั้งแต่สมัยโบราณนั้น ในปัจจุบัน ก็ยังมีการนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการนวดสปา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อหรือนวดอโรมา

 

 

 

    ดับร้อน กับเมนูเสาวรสสร้างสรรค์

 

       หากใครยังไม่คุ้นกับรสชาติของเสาวรส อาจลองเริ่มจากการดื่มน้ำเสาวรส หรือน้ำเสาวรสผสมผลไม้อื่น หรือผสมน้ำผึ้งเพิ่มความหอมหวาน หากต้องการเน้นการลดไขมันในเส้นเลือด ก็สามารถใช้เสาวรสผสมกระเจี๊ยบแดงหรือดอกคำฝอยได้
 
       ในต่างประเทศนั้น มีการบริโภคเสาวรสมาเกือบยาวนานเป็นศตวรรษและในหลายรูปแบบ เช่น ฮาวายเป็นแหล่งที่มีอัตราการบริโภคเสาวรสต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยนิยมดื่มน้ำเสาวรส น้ำเสาวรสเข้มข้น รวมทั้งนำเสาวรสมาทำเป็นน้ำเชื่อมแต่งหน้าน้ำแข็งใสและไอศครีม ส่วนนิวซีแลนด์และออสเตรเลียนิยมรับประทานเสาวรสเป็นฟรุตสลัด รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมในการทำขนม ในออสเตรเลียนั้นมีการผลิตน้ำอัดลมรสเสาวรสตั้งแต่ราว 80 ปีที่แล้ว ขณะที่ในเม็กซิโกมีการนำเสาวรสมาคู่กับพริกป่นและน้ำเลมอน เป็นต้น
 
       สำหรับประเทศไทย มีการบริโภคเสาวรสทั้งในแบบคาวและหวาน เรามีเมนูน้ำพริกเสาวรส น้ำพริกกะปิผสมเสาวรส บางคนอาจรับประทานสดๆ โดยผ่าครึ่งแล้วเอาช้อนตักกิน หรือนำมาคั้นเป็นน้ำดื่มเพื่อสุขภาพตามแต่ความชอบ โดยเสาวรสพันธุ์สีม่วงได้รับความนิยมมากที่สุดเนื่องจากมีรสเปรี้ยวอมหวาน กินแล้วสดชื่น ชุ่มคอ เหมาะกับการบริโภคสด ขณะที่พันธุ์สีเหลืองหรือสีทอง และพันธุ์ผสมจะมีรสเปรี้ยวกว่า เหมาะกับการแปรรูปมากกว่า หากใครต้องการบริโภคสดแล้วอยากตัดรสเปรี้ยว ก็สามารถเติมน้ำตาลทรายเล็กน้อยก่อนที่จะตักขึ้นมากิน โดยสามารถกินได้ทั้งเมล็ด

 

   เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ “เสาวรส”

  • เสาวรส หรือ แพชชั่นฟรุตนั้นพบได้ทั่วบริเวณประเทศที่อากาศร้อนชื้นแต่กลับมีชื่อเรียกที่หลากหลายทั้ง Lilikoi (ลิลิคอย) ในหมู่เกาะฮาวาย Maracuya (มาราคูยา) ในประเทศเอกวาดอร์ และบราซิล Parcha (ปาร์ชา) ในประเทศเวเนซุเอลา Chinola (ชิโนลา) หรือ Parchita (ปาร์ชิตา) ในประเทศเปอร์โตริโก
  • เช่นเดียวกับประเทศไทยที่สมัยก่อนจะรู้จักเสาวรสกันในชื่อ ลูกกะทกรก กะทกรกฝรั่ง กะทกรกสีดา กะทกรกยักษ์ ฯลฯ แต่ต่อมาสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปลี่ยนเป็นลูกเสาวรสและส่งเสริมให้มีการขายและรับประทานผลไม้ชนิดนี้กันอย่างกว้างขวาง
  • มีชื่อ แพสชั่นฟรุต (Passion Fruit) หรือแปลตรงตัวว่า ผลไม้แห่งตัณหา แต่อย่าเข้าใจผิดเพราะ passion
    ในที่นี้หมายถึง ความปรารถนาอันแรงกล้าของพระเยซูที่จะไถ่บาปให้แก่มวลมนุษยชาติต่างหาก โดยชื่อดังกล่าวถูกตั้งขึ้นโดยเหล่ามิชชันนารีชาวสเปนที่ไปเผยแพร่ศาสนาในดินแดนอเมริกาใต้ที่มองเห็นดอกของต้นเสาวรสที่ดูละม้ายคล้ายกับมงกุฎหนามบนศีรษะของพระเยซูนั่นเอง
  • การเลือกซื้อเสาวรสนั้น ควรเลือกซื้อลูกที่เริ่มสุก สังเกตจากเปลือกจะมีสีเหลือง เต่งตึง ไม่เหี่ยว และควรเลือกลูกที่มีขนาดใหญ่  เพราะเนื้อเยอะและสามารถตักกินได้ง่าย เมื่อซื้อมาแล้วควรกินหรือทำน้ำผลไม้ดื่มสดๆ เลย เพราะหากทิ้งไว้นานเปลือกจะเหี่ยว เนื้อและเมล็ดจะหายไป รวมถึงกลิ่นรสก็จะเปลี่ยนไปด้วย
  • ควรใช้เครื่องปั่นในการทำน้ำเสาวรส เนื่องจากเสาวรสมีเมล็ดเยอะและมีขนาดเล็ก เทคนิคเพื่อความอร่อยคือต้องผสมน้ำลงไปด้วยเพื่อลดความเข้มข้น โดยใช้อัตราส่วนเสาวรส 1 ผลขนาดกลาง ปั่นกับน้ำ 1-2 แก้ว

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก
- http://www.passionfruitjuice.com/history.php
- http://www.naturespride.eu/our-products/product-detail/passion-fruit/
- http://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=951&name=Purple%20granadilla%2C%20Passion%20flower
- http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_01_2.htm





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement