วิธีป้องกันและขจัดกลิ่นเต่า กลิ่นตัวของสาวๆ


   สาเหตุของการเกิดกลิ่นตัว

       กลิ่นตัวในแต่ละจุดของร่างกายจะแตกต่างกันไป เช่น กลิ่นตามข้อพับ กลิ่นเท้า กลิ่นบนหนังศีรษะ หรือกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศ แต่กลิ่นตัวที่หลายคนเรียกว่า กลิ่นเต่าเจ้าปัญหา คือกลิ่นตัวบริเวณรักแร้ ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายสารที่หลั่งออกมาจากต่อมเหงื่อ

       ปกติร่างกายของคนเราจะมีต่อมเหงื่ออยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นต่อมเหงื่อที่มีอยู่ตามผิวหนังทั่วตัว อีกชนิดหนึ่งเป็นต่อมเหงื่อที่มีอยู่เฉพาะบางแห่งของร่างกาย เช่น รักแร้ บางส่วนของอวัยวะเพศ เป็นต้น เหงื่อที่ถูกขับออกมาจากต่อมเหงื่อชนิดนี้ เมื่อหมักหมมไว้จะถูกย่อยโดยแบคทีเรีย และทำให้เกิดกลิ่นตัวขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็จะมีกลิ่นเฉพาะตัว

   ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดกลิ่นตัว

       1. สภาพอากาศที่ร้อนชื้น ประกอบกับสุขอนามัยที่ไม่ดีพอ จะทำให้แบคทีเรียบนผิวหนังเจริญได้ดีและมีจำนวนมาก ทำให้กลิ่นตัวยิ่งแรงขึ้น

       2. การสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือตัดเย็บด้วยผ้าที่ระบายเหงื่อได้ไม่ดีพอ เช่น ผ้าใยสังเคราะห์ จะทำให้ผิวหนังมีความอับชื้น ปริมาณแบคทีเรียบนผิวหนังจึงเพิ่มขึ้นและเกิดกลิ่นตัวได้ง่ายขึ้น

       3. อาหารบางชนิด เช่น กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศ ฯลฯ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว เพราะสารที่มีกลิ่นในอาหารเหล่านี้จะถูกขับออกมาทางเหงื่อ

       4. เมื่อมีอารมณ์เครียด โกรธ ตกใจ ร่างกายจะกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อบริเวณรักแร้ หน้าผาก และฝ่ามือ มีเหงื่อออกมากขึ้น และทำให้เกิดกลิ่นตัวขึ้นได้

   การรักษาความสะอาด

       1. อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หากเหงื่อออกมากก็อาบได้บ่อยๆ และสระผมให้สะอาดเป็นประจำ และชำระล้างร่างกายให้สะอาดด้วยสบู่ที่ผสมยาฆ่าเชื้อโรค

       2. ทาแป้งฝุ่นบริเวณข้อพับที่อับชื้น เพื่อช่วยให้ผิวแห้ง ลดความอับชื้นลง

       3. พยายามให้เหงื่อออกน้อยที่สุด เช่น อยู่ในที่เย็น ระบายอากาศได้ดี ใช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ

       4. หลังทำงานกลางแจ้งหรือเล่นกีฬา ควรอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทุกครั้ง หากไม่สามารถอาบน้ำได้ ควรใช้ผ้าเช็ดเหงื่อให้แห้งทุกครั้งหลังเหงื่อออก ไม่ควรปล่อยให้คราบเหงื่อแห้งติดตัวเป็นเวลานาน

       5. สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี โดยเฉพาะหากสภาพอากาศร้อน ควรใช้ผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย แทนผ้าใยสังเคราะห์

       6. เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทุกวัน ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่แล้วควรซักให้สะอาด และตากแดดให้แห้งสนิท

       7. กลิ่นตัวที่เหม็นติดเสื้อผ้า ให้นำไปแช่ในน้ำส้มสายชูสักครู่ ก่อนจะนำไปซักตามปกติ กลิ่นเหม็นจะจางหายไป เสื้อผ้าบริเวณรักแร้ที่เป็นคราบเหลือง นำน้ำส้มสายชูมาทาตรงรอยเปื้อนให้ชุ่ม ยังช่วยขจัดคราบได้อีกด้วย

       8. หมั่นซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มให้สะอาดเป็นประจำ

       9. รับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดกลิ่นตัวแต่น้อย

   วิธีการขจัดกลิ่น
      
       หลายคนอาจจะเลือกใช้น้ำหอมในการกลบกลิ่นตัว แต่หากมีเหงื่อออกมาก และไม่ได้ชำระล้างออกก่อน จะทำให้กลิ่นน้ำหอมนั้นกลายเป็นกลิ่นฉุนมากยิ่งขึ้นไปอีก

       
       ส่วนผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นตัวที่มีขายในท้องตลาดนั้นมีหลายประเภท ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม เมื่อหลายปีก่อนมีข่าวออกมาว่า โรลออนประเภท “Antiperspirants” หรือโรลออนลดการขับเหงื่อ ซึ่งระงับกลิ่นกายด้วยการใช้สารที่ไปปิดกั้นรูขุมขน ทำให้ไม่มีเหงื่อออก ไม่เกิดกลิ่นตัว แต่ผลวิจัยชี้ว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดซีสต์ เนื้องอก และมะเร็งเต้านม

       คำแนะนำ คือ ให้ใช้โรลออนธรรมดาประเภท “Deodorants” หรือโรลออนดับกลิ่นแทน แต่ก็มีงานวิจัยเล็กๆ อีกชิ้นที่ระบุว่าสารกันเสียในโรลออน ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวได้เช่นกัน

       อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจากบริษัทผู้ผลิตยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีความปลอดภัย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคมะเร็งก็บอกเช่นกันว่า ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสารต่างๆ ในโรลออนกับมะเร็งมีความสัมพันธ์กัน
      
       หลายคนที่ยังไม่วางใจกับผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ จึงหันมาใช้ตัวช่วยดั้งเดิมในการกำจัดกลิ่นตัวที่ใช้กันมาแต่โบร่ำโบราณอย่างสารส้ม ใช้ทาถูที่รักแร้หลังอาบน้ำทุกครั้ง โดยทาขณะที่รักแร้ยังเปียกอยู่

 

   นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรช่วยลดกลิ่นกาย เช่น

       - ใบพลู มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย นำมาขยี้แล้วทารักแร้หลังอาบน้ำ

       - ใบฝรั่ง นอกจากจะช่วยระงับกลิ่นปากได้แล้ว ยังช่วยระงับกลิ่นตัวได้เช่นกัน โดยนำใบฝรั่งประมาณ 10 ใบ มาโขลกให้ละเอียด แล้วทารักแร้ทิ้งไว้ 5 นาที แล้วอาบน้ำให้สะอาด

       - มะนาว ใช้มะนาวผ่าซีกทาบริเวณรักแร้ขณะอาบน้ำ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

       - มะขามเปียก คั้นน้ำมะขามเปียกปริมาณพอเหมาะ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้ถูตัวขณะอาบน้ำ จะช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วไม่ให้เกิดการหมักหมม

       * หากดูแลตัวเองตามนี้แล้วกลิ่นตัวยังแรงอยู่ ไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังนะคะ

 

 

 

อ้างอิง: managerradio โดย เอมอร คชเสนี





แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement