สาระน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้ามนมเป็นโรคร้ายที่เกิดในหญิงไทยสูงเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปากมดลูก
ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
ส่วนใหญ่พบในหญิงอายุ 40 ปี ขึ้นไป
หญิงที่มีประวัติครอบครัว เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมจะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น
ปัจจัยอื่นที่อาจเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้แก่ หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรน้อย การรับประทานอาหารไขมันสัตว์หรือเนื้อสัตว์สีแดงมากเกินไป และการรับประทานฮอร์โมนเพศโดยไม่อยู่ในความดูแลของแพทย์
ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือบริเวณส่วนบนด้านนอกของเต้านม
หากสังเกตหรือตรวจพบสิ่งผิดปกติบริเวณเต้านมให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่
อาการบ่งชี้ว่าอาจะเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ คลำพบก้อนที่เต้านม ในระยเริ่มแรกมักไม่มีอาการเจ็บปวด เต้านมมีขนาดและรูปร่างเปลี่ยนไป มีรอยบุ๋มหรือมีการดึงรั้งของหัวนม มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม
การตรวจวินิจฉัย แพทย์อาจใช้วิธีเอกซเรย์เต้านมที่เรียกว่าเมมโมแกรม หรือตัดชิ้นเนื้อส่งพิสูจน์ หรือใช้เข็มเจาะดูดเซลล์จากก้อนเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ เพื่อพิจารณาให้การรักษาต่อไป
การรับประทานผักและผลไม้ อาหารที่มีกากใยสูงและการออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้
สิ่งผิดปกติที่ต้องรีบปรึกษาแพทย์
พบก้อน หรือเนื้อที่แข็งเป็นไตผิดปกติ
มีน้ำเหลือง หรือเลือดไหลออกมาจากหัวนม
ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋ม
หัวนมถูกดึงรั้งจนผิดปกติ
เต้านมทั้งสองข้างไม่อยู่ในระดับเดียวกัน
ขนาดและรูปร่างขงเต้านมต่างกันอย่างผิดปกติ
ทำไมจึงต้องตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจพบความผิดปกติบริเวณเต้านม เช่น คลำก้อนได้เมื่อมีขนาดเล็ก ก็หมายความว่าแพทย์สามารถจะรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีมาก
ลักษณะเต้านมของแต่ละคนจะต่างกันทั้งขนาดรูปร่าง สีของหัวนมและความยืดหยุ่นของเนื้อเต้านม (นิ่ม-ตึง-แข็ง)
การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ คุณรู้ว่า เต้านมปกติของคุณเป็นอย่างไร และรู้ว่ามีอะไรผิดปกติกับเต้านมของคุณหรือไม่
อย่าลืมว่าก้อนที่เกิดบริวณเต้านมของคุณไม่ใช่มะเร็งทั้งหมด บางก้อนจะเป็นซีสท์(Cyst) หรือถุงน้ำบางชนิดเป็นแค่เนื้องอกธรรมดา และที่สำคัญที่สุด คือก้อนเนื้อบางก้อนแม้จะเจ็บหรือไม่เจ็บก็อาจเป็นมะเร็งได้
ขนาดของก้อนเนื้อที่ตรวจพบบริเวณเต้านม
- ผู้หญิงที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำจะสามารถตรวจพบก้อนบริเวณเต้านมได้เมื่อขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร
- ผู้หญิงที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองไม่สม่ำเสมอจะสามารถตรวจพบก้อนได้ขนาดประมาณ 2.5 เซนติเมตร
- ผู้หญิงที่ไม่เคยตรวจเต้านมด้วยตนเองจะพบก้อนที่เต้านมขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร
ก้อนที่พบบริเวณเต้านม จะมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน ดังนั้นถ้าคุณตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ คุณก็สามารถพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาดเล็กๆหรือบางครั้ง ขนาดก้อนอาจจะเล็กกว่า 1 ซม. ซึ่งจะทำให้โอกาสในการเก็บรักษาเต้านม และหายจากโรคมะเร็งสูงขึ้น
ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองบ่อยแค่ไหน?
ผู้หญิงทุกคน ควรจตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง
- ถ้าคุณยังอยู่ในวัยที่มีประจำเดือน ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ ประมาณ 7-10 วันนับจากวันแรกของรอบเดือน ช่วงนี้เต้านมของคุณจะหายบวมหรือหายคัดไปแล้ว ทำให้ตรวจพบความผิดปกติได้ง่ายขึ้น
- ถ้าคุณอยู่ในวัยที่ประจำเดือนหมดไปแล้ว เลือกวันไหนก็ได้ที่สะดวก แล้วทำเป็นประจำ เช่น เลือกวันแรกของเดือน ซึ่งเป็นวันที่จำง่ายที่สุด ถ้าคุณลืมตรวจก็ให้รีบตรวจเต้านมของคุณ ในวันที่นึกขึ้นได้ ดีกว่าจะผ่านไปอีก 1 เดือน
- ถ้าคุณถูกตัดมดลูกไปแล้วและยังอายุน้อยกว่า 50 ปี จะตรวจวันไหน?? คุณควรเลือกวันที่คุณไม่มีอากรปวดหรือคัดเต้านม
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ให้ดูตามภาพประกอบด้านข้าง ภาพที่ 1 2 และ 3
1. ตรวจขณะอาบน้ำ ขณะอาบน้ำผิวหนังจะลื่นทำให้การตรวจง่ายขึ้น เริ่มการตรวจโดยใช้ปลายนิ้วมือวางราบบนเต้านมคลำแล้วเคลื่อนในลักษณะคลึงเบาๆให้ทั่วทุกส่วนของเต้านมเพื่อค้นหาก้อนเนื้อที่แข็งผิดปกติ
2. ตรวจหน้ากระจก ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนคือ
2.1 ยืนตรงมือแนบลำตัวแล้วยกแขนขึ้นเหนือศรีษะ ให้สังเกตลักษณะของเต้านมทั้งสองข้าง เพราะการยกแขนขึ้นจะทำให้มองเห็นสิ่งผิดปกติได้ง่าย
2.2 ใช้มือกดที่สะโพกแรงๆ พร้อมกันทั้ง 2 ข้างเพื่อให้เกิดการเกร็งและหดตัวของกล้ามเนื้ออก จากนั้นให้สังเกตลักษณะผิดปกติของเต้านม
3. ตรวจในท่านอน นอนราบยกมือข้างหนึ่งหนุนไว้ใต้ศีรษะ แล้วใช้ปลายนิ้วมืออีกข้างหนึ่งคลำให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม โดยเริ่มจากบริเวณส่วนนอกและเหนือสุดขอเงต้านม เวียนไปโดยรอบเต้านม เคลื่อนมือเข้ามาเป็นวงกลมเล็กลงไปเรื่อยๆจนถึงบริเวณหัวนมแล้วค่อยๆบีบหัวนมเพื่อสังเกตว่ามีเลือด น้ำหนองหรือน้ำใสๆอื่นใดออกมาหรือไม่ หลังจากนั้นให้ตรวจเต้านมอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน
ข้อควรจำ
1. เรียนรู้วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเองจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
2. ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง
3. พบแพทย์ทันทีที่ตรวจพบสิ่งผิดปกติ
4. พบแพทย์เพื่อให้ตรวจเต้านมของคุณปีละครั้ง เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป
5. ก้อนมะเร็งยิ่งเล็กยิ่งมีโอกาสรักษาหาย โดยไม่ต้องตัดเต้านม
ขอบคุณข้อมูลจาก เอกสารกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โพสบทความโดย Pooyingnaka.com
สำหรับผู้ที่มีแม่ ป้า ย่า ยาย น้องสาว พี่สาว ที่เป็นมะเร็งหรือมะเร็งโดยพันธุกรรมควรจะไปตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ควรรอจนถึง 30 ปีนะจ๊ะ