อันดับแรกที่ต้องรู้ เพราะสาวๆหลายคนเข้าใจผิด หลงเชื่อคำโฆษณาของพวกครีมมาส์ก ไวท์เทนนิ่ง ครีมนำเข้าต่างๆ ที่ขายกันเกลื่อนในอินเตอร์เน็ต บรรดาแม่ค้าหัวใสมักจะโฆษณานักหนาว่ามี อย. รับรอง จริงๆแล้ว ฉลากเครื่องสำอางไม่มีสัญลักษณ์ อย. เหมือนฉลากอาหาร แต่เมื่อทำการขึ้นทะเบียนจดแจ้งเครื่องสำอางกับ อย. แล้ว จะได้รับเลขที่ใบรับแจ้งแทน ซึ่งต้องระบุลงบนบรรทัดสุดท้ายของฉลาก
รายละเอียดบนฉลากที่ต้องระบุไว้ชัดเจน (ถ้าไม่ครบ อย่าซื้อเด็ดขาด!)
1. ชื่อทางการค้า และ/หรือ ชื่อเครื่องสำอาง
2. ประเภท หรือชนิดของเครื่องสำอาง เช่น โลชั่น เจล ครีม เป็นต้น
3. ชื่อสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนประกอบ หรือชื่อส่วนประกอบที่สำคัญ โดยจะเรียงลำดับจากส่วนผสมที่มากไปหาน้อย ชื่อนี้จะเป็นชื่อกลางที่ใช้กันทั่วโลก เรียกว่า INCI (International Nomenclature Cosmetic Ingredient) name
4. วิธีใช้ เช่น ใช้ทาทั่วใบหน้า วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน
5. คำเตือน เช่น หากมีอาการแพ้ให้หยุดใช้และไปพบแพทย์ทันที
6. ชื่อและสถานที่ผลิตหรือนำเข้า ต้องระบุไว้อย่างชัดเจน มีหลักแหล่ง ถ้านำเข้าจะต้องแสดงชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิตด้วย
7. ปริมาณสุทธิ ต้องบอกปริมาณตัวเลขที่ชัดเจน ด้วยหน่วยมาตรวัดน้ำหนักที่เป็นสากล เช่น กรัม หรือมิลลิลิตร
8. เลขแสดงครั้งที่ และวัน/เดือน/ปี ที่ผลิต ต้องระบุไว้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน อาจจะเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Manufactured ตามด้วยตัวเลขบอก วัน เดือน ปีที่ผลิต
9. วัน/เดือน/ปี ที่หมดอายุ เช่น Best Before, Used Before, Exp. ตามด้วยวัน/เดือน/ปี ที่หมดอายุ
10. เลขที่ใบรับแจ้ง จะมีก็ต่อเมื่อขึ้นทะเบียนกับทาง อย. แล้วเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องสำอางนั้นดี เพียงแต่ไม่มีส่วนผสมของสารอันตรายที่ทาง อ.ย. ประกาศห้ามใช้ ทางที่ดีควรอ่านส่วนประกอบโดยละเอียด เพราะอาจจะมีการแพ้สารบางชนิดในรายบุคคล และอาจจะมีการแอบอ้างเลขที่ใบรับแจ้ง ซึ่งสามารถตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้งได้ที่ สายด่วน อย. 1556
คำศัพท์ที่พบบ่อยบนฉลากผลิตภัณฑ์
Antioxidant = สารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยปกป้องและลบเลือนริ้วรอย
Non-Comedogenic = ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตันอันเป็นสาเหตุของสิว
Clinically Proven = ผ่านการทดสอบจากคลินิกของเครื่องสำอางยี่ห้อนั้นๆ แล้ว
Dermatologist-Tested = ผ่านการทดสอบจากแพทย์ผิวหนังแล้ว
Hypo-Allergenic = มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ได้น้อย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย
Retinol A = ส่วนผสมที่ช่วยลบเลือนริ้วรอย ร่องลึก
สัญลักษณ์ต่างๆที่พบได้บ่อยบนฉลากเครื่องสำอาง
สัญลักษณ์ Period After Opening
เป็นรูปกระป๋องที่เปิดฝาอยู่ และมีตัวเลขข้างใน ซึ่งตัวเลขอาจเป็นตัวเลขอะไรก็ได้ ตัวอย่างในรูป คือ เลข 12 M นั่นหมายถึง เมื่อเปิดใช้ครั้งแรกแล้ว ผลิตภัณฑ์นี้จะมีอายุอยู่ได้ 12 month (เดือน)
สัญลักษณ์ e mark
e mark หรือ Estimate Symbol เป็นเครื่องหมายของทางกลุ่มประเทศยุโรป โดยทั่วไปหมายถึงผลิตภัณฑ์ภายในภาชนะบรรจุ มีปริมาณหรือปริมาตรเฉลี่ยเท่ากับที่ระบุไว้บนฉลาก
สัญลักษณ์ recycle
ทุกคนคงเห็นเครื่องหมายนี้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเครื่องหมายนี้จะมีตัวเลขอยู่ข้างสามเหลี่ยมด้วย หมายถึง ภาชนะบรรจุนี้ทำจากพลาสติกที่ recycle ได้ และตัวเลขหมายถึงประเภทของพลาสติก เช่น 1 คือ PET (polyethylene terephthalate) หรือ 2 คือ HDPE (high density polyethylene) เป็นต้น
สัญลักษณ์ Green dot
เป็นสัญลักษณ์ที่พบในผลิตภัณฑ์ของประเทศในแถบยุโรป หมายถึงบริษัทที่ผลิตบรรจุภัณฑ์นี้ ได้จ่ายเงินให้กับส่วนกลางที่ทำหน้าที่ดูแลแยกขยะ เพื่อเป็นค่าดำเนินการให้บรรจุภัณฑ์นี้ถูกนำมา recycle เรียกได้ว่ามีส่วนร่วมในการรักษ์โลก
สัญลักษณ์ No Animal Testing
สัญลักษณ์น่ารักๆนี้ หมายถึง No Animal Testing หรือไม่มีการใช้สัตว์ในการทดลองผลิตภัณฑ์นี้ (ตามกฎหมายปัจจุบันห้ามทดลองเครื่องสำอางในสัตว์อยู่แล้วค่ะ ดังนั้นสัญลักษณ์นี้บนฉลากจึงเป็นประโยชน์ทางการโฆษณาเท่านั้น)
สัญลักษณ์ Refer to Insert Symbol
จะพบในเครื่องสำอางขนาดเล็ก ที่เขียนข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์ได้ไม่หมด เครื่องหมายนี้แสดงถึงว่าถ้าคุณต้องการอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถหาอ่านได้จากบนกล่องหรือใบแทรกของผลิตภัณฑ์
รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมอ่านฉลากโดยละเอียดก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทุกครั้งนะคะ ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด เพื่อความสวยที่ควบคู่ไปกับความปลอดภัย จะไปซื้อตามรีวิวหน้าสวยผิวใสของแม่ค้า ก็พอจะมีตัวอย่างความผิดพลาดมาให้เห็นอยู่หลายราย ถ้าเราใช้แล้วท่าไม่ดี ให้โยนทิ้งเลย อย่าเสียดาย! เครื่องสำอางมีให้เลือกเยอะ แต่สุขภาพไม่ได้มีให้เลือก ทางที่ดีควรตรวจสอบให้มั่นใจก่อนควักเงินซื้ออะไร เพื่อความคุ้มค่า และเป็นผู้บริโภคที่ฉลาดรู้ทันค่ะ