จังหวัดอุทัยธานี ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ประมาณ 6,730 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและและภูเขาสูง สภาพป่าไม้ของจังหวัดอุทัยธานีอุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์ห้วยขาแข้งจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ควรค่าแก่การดูแลรักษาและนำความภาคภูมิใจมาสู่คนไทยทุกคน
ดินแดนบางส่วนrบหลักฐานว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง ได้แก่เมืองโบราณบึงคอกช้างในสมัยทวารวดี เมืองโบราณบ้านใต้ เมืองโบราณบ้านคูเมือง และ เมืองโบราณการุ้ง
ตามตำนานกล่าวว่าในสมัยสุโขทัยท้าวมหาพรหมได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า (อำเภอหนองฉาง) แล้วพาคนไทยมาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านกะเหรี่ยงและหมู่บ้านมอญจึงเรียกว่า เมืองอู่ไทยตามกลุ่มหรือที่อยู่ของคนไทย ต่อมาเกิดความแห้งแล้งกระแสน้ำเปลี่ยนทางเมืองจึงถูกทิ้งร้าง ในสมัยอยุธยาชาวกะเหรี่ยงชื่อ พะตะเบิด เข้ามาปรับปรุงเมืองอู่ไทยโดยขุดทะเลสาบขังน้ำไว้ใกล้เมืองและเป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทยเก่าคนแรก ชื่อเมืองจึงเรียกเพี้ยนเป็นเมืองอุไทยตามสำเนียงชาวกะเหรี่ยงและมีฐานะเป็นหัวเมืองหน้าด่านชั้นนอกสกัดกั้นกองทัพพม่าที่จะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการอพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนที่ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังมากขึ้น และได้กลายเป็นที่ตั้งของตัวเมืองอุทัยธานีในปัจจุบัน
อุทัยธานีมีสถานที่น่าสนใจทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีหลายแห่งที่น่ามาเที่ยวชมและศึกษาหาความรู้ อีกทั้งมีสินค้าที่ระลึกประเภทหัตถกรรมและอาหารการกินมากมายเช่นหน่อไม้รวก ข้าวเกรียบปลา ผลไม้แช่อิ่ม ผ้าทอ เครื่องจักสานซึ่งสามารถนำกลับไปเป็นของฝากได้
จังหวัดอุทัยธานีแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ แต่ละอำเภอมีระยะห่างจากอำเภอเมือง ดังต่อไปนี้:- อำเภอทัพทัน 19 กิโลเมตร
อำเภอบ้านไร่ 80 กิโลเมตร
อำเภอลานสัก 54 กิโลเมตร
อำเภอสว่างอารมณ์ 33 กิโลเมตร
อำเภอหนองขาหย่าง 10 กิโลเมตร
อำเภอหนองฉาง 22 กิโลเมตร
อำเภอห้วยคต 45 กิโลเมตร
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ และอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอวัดสิงห์และอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์และอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขตแดน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯสามารถเดินทางไปอุทัยธานีได้หลายเส้นทาง ได้แก่
1. จากถนนพหลโยธินผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาลงแพขนานยนต์ ที่อำเภอมโนรมย์ ผ่านวัดท่าซุง (วัดจันทาราม) ศาลากลางจังหวัด เข้าตลาดอุทัยธานี รวมระยะทางประมาณ 305 กิโลเมตร
2. จากทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 333 ตรงทางแยกท่าน้ำอ้อยบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206 ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ผ่านหน้าโรงพยาบาลเลี้ยวซ้ายเข้าตลาดอุทัยธานี รวมเป็นระยะทางประมาณ 222 กิโลเมตร
3. อีกเส้นทางหนึ่งเริ่มต้นจากถนนสาย 32 เช่นกัน เมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 30 (อยู่ในเขตจังหวัดอยุธยา) เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 334 และจากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 309 ไปตามเส้นทาง ข้ามสะพานจังหวัดอ่างทอง จากนั้นมาตามถนนสาย311ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี ผ่านจังหวัดชัยนาทที่อำเภอสรรพยา จากนั้นเลี้ยวเข้าเส้นทางหมายเลข 3183 เข้าจังหวัดอุทัยธานี รวมเป็นระยะทางประมาณ 283 กิโลเมตร
รถตู้ปรับอากาศ ให้บริการระหว่างเวลา 04.0018.00 น. จอดบริเวณใต้ทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิด้านสนามเป้า
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-อุทัยธานีทุกวัน จากสถานีขนส่งหมอชิต 2 กิโลเมตร 11 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ทั้งรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศตั้งแต่เวลา04.30-17.50 น.สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2936 2852 66 สถานีเดินรถอุทัยธานี โทร. 0 56511914, 0 56512859, 0 56511058 หรือ www.transport.co.th
นอกจากนี้จากจังหวัดอุทัยธานียังมีรถโดยสารไปยังจังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรีและ นครปฐม
รถไฟ ต้องโดยสารรถไฟไปลงที่สถานีนครสวรรค์ แล้วต่อรถประจำทางมายังอุทัยธานีอีกประมาณ 50 กิโลเมตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1960, 223-7010, 223-7020 www.railway.co.th
การเดินทางภายในจังหวัด จะมีทั้งรถสองแถว และรถบัสประจำทางวิ่งตามเส้นทางต่างๆ เช่น อุทัยธานี-หนองฉาง อุทัยธานี-วัดสิงห์ อุทัยธานี-บ้านไร่ ลานสัก-สว่างอารมณ์-ทัพทัน บ้านไร่-คลองแห้ง เป็นต้น
อำเภอเมือง
วัดสังกัสรัตนคีรี ตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง สุดถนนท่าช้าง ในเขตเทศบาลเมือง ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี มีประวัติว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้นำพระพุทธรูปขนาดย่อมที่ชำรุดไปไว้ตามหัวเมืองต่างๆ สำหรับเมืองอุทัยธานีได้รับ 3 องค์ โดยอัญเชิญลงแพมาขึ้นฝั่งที่ท่าพระ (ตรงข้ามศาลาประชาคมจังหวัดอุทัยธานี) แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดขวิด พระพุทธรูปองค์หนึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพระเนื้อสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก สร้างในสมัยพระเจ้าลิไท ฝีมือช่างสุโขทัยยุค 2 มีส่วนเศียรกับส่วนองค์พระเป็นคนละองค์ เข้าใจว่าคงซ่อมเป็นองค์เดียวกันก่อนนำมาไว้ที่เมืองอุทัยธานี ต่อมาเมื่อยุบวัดขวิดไปรวมกับวัดทุ่งแก้ว จึงได้ย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ที่วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไป 1 กิโลเมตร และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเศียร พร้อมกับถวายนามว่า พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ของทุกปีจะมีประเพณีตักบาตรเทโว โดยพระสงฆ์ประมาณ 500 รูปจะเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรังมารับบิณฑบาตที่ลานวัดเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัด
เขาสะแกกรัง จากบริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรีมีบันไดขึ้นไปสู่ยอดเขาสะแกกรัง หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 3220 เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวบริเวณสนามกีฬาจังหวัดไปตามทางขึ้นสู่ยอดเขา จากบนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองอุทัยธานีได้กว้างขวาง เป็นที่ตั้งของมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งย้ายมาจากวัดจันทาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2448 ด้านหน้ามีระฆังใบใหญ่ที่พระปลัดใจและชาวอุทัยธานีร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2443 ถือกันว่าเป็นระฆังศักดิ์สิทธิ์ ใครที่ไปเที่ยวอุทัยธานีแล้วไม่ได้ขึ้นไปตีระฆังใบนี้ก็เท่ากับไม่ได้ไปเที่ยวอุทัยธานี
ใกล้กับมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ แห่งรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระนามเดิมว่านายทองดี รับราชการตำแหน่งพระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย และต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี (พระนามเดิมนายทองด้วง) ได้สถาปนาพระอัฐิพระบิดาเป็นสมเด็จพระชนกา ธิบดี เมื่อปี พ.ศ. 2338
พระบรมรูปของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ เป็นรูปหล่อขนาดสองเท่าขององค์จริงประทับนั่งบนแท่นพระหัตถ์ซ้ายถือดาบประจำตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี ทั้งฝักวางบนพระเพลาซ้าย และทรงวางพระหัตถ์ขวาบนพระเพลาขวา ด้านขวามือมีพานวางพระมาลาเส้าสูง ไม่มียี่ก่า (ขนนก) สวมพระบาทด้วยรองเท้าแตะไม่หุ้มส้นพระบาท มีพิธีถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ในวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงที่ดอกสุพรรณิการ์ หรือฝ้ายคำ ดอกไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานีบานสะพรั่งอยู่ทั่วไปบนเขาสะแกกรังเลยพระราชานุสาวรีย์ ไปทางป่าหลังเขาประมาณ 200 เมตร จะพบ หมุดแผนที่โลก ซึ่งใช้ในการสำรวจแผนที่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475
วัดมณีสถิตย์กปิฏฐาราม ตั้งอยู่ที่ถนนสุนทรสถิตย์หลังสวนสุขภาพ ตรงวงเวียนหอนาฬิกา เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองเรียกกันว่าวัดทุ่งแก้ว ในวัดนี้มีพระปรางค์ใหญ่อยู่องค์หนึ่งฐานกว้าง 8 เมตรสูง 16 เมตร ลักษณะเป็นปรางค์ห้ายอด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2452 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อแย้มผู้สร้างวัดนี้ บริเวณวัดมีสระน้ำก่ออิฐเป็นสระน้ำมนต์ขนาดใหญ่ กลางสระมีแผ่นศิลาอักขระยันต์ของหลวงพ่อแย้มฝังเอาไว้ น้ำในสระแห่งนี้เคยใช้เป็นน้ำสรงพุทธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7
วัดธรรมโฆษก (วัดโรงโค) เป็นวัดที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ที่ถนนศรีอุทัย ตำบลอุทัยใหม่ใกล้กับตลาดเทศบาล เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒนสัตยาของข้าราชการเมืองอุทัยธานี และเป็นลานประหารนักโทษ
โบสถ์ของวัดนี้เป็นโบสถ์สมัยรัตนโกสินทร์ ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมืองดงามจัดว่าสวยงามที่สุดในอุทัยธานี สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลายที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ และตอนผจญมาร ผนังข้างด้านบนเป็นภาพเทพชุมนุมสลับกับพัดยศ กรอบหน้าต่างด้านนอกเป็นลายปูนปั้นเป็นฝีมือพองาม
สำหรับวิหารสร้างยกพื้นสูงกว่าโบสถ์ หน้าบันเป็นรูปช้างสามเศียร ภายในมีแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 องค์ จัดเรียงอย่างมีระเบียบ บนหน้าต่างด้านนอกมีลายปูนปั้นเป็นเรื่องรามเกียรติ์ประดับเป็นกรอบ ประตูวิหารเป็นไม้จำหลักลายดอกไม้ทาสีแดงงดงามมาก โบสถ์และวิหารมีพระปรางค์และเจดีย์เรียงรายอยู่ 2-3 องค์ กำแพงรอบโบสถ์ของวัดนี้ก่อต่อกับฐานวิหารเพราะมีพื้นสูงกว่า ประตูเข้ากำแพงทำเป็นซุ้มแบบจีน และด้านหลังโบสถ์มีซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปด้วย เช่นเดียวกับด้านหน้ามีกุฏิเล็กอยู่ติดกับกำแพงโบสถ์ ซึ่งเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา ส่วนบานประตูวัดเป็นศิลปะการแกะสลักฝีมือช่างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แกะเป็นลายดอกไม้ประกอบใบกระจังต่อก้านสลับดอกเรียงเป็นแถวสวยงามมาก พื้นในเป็นสีแดงเข้าใจว่าเดิมคงลงสีทองบนตัวลายไว้ สำหรับบานหน้าต่างแกะเป็นลวดลายเดียวกัน ปกติโบสถ์จะปิดหากต้องการชมควรแจ้งไปก่อนที่ โทร. (056)511450 ปัจจุบันวัดธรรมโฆษกได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
ลำน้ำสะแกกรัง ไหลผ่านตัวจังหวัดอุทัยธานี มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในสมัยก่อน เมื่อพ่อค้าล่องเรือผ่านมา จะรู้ได้ว่าถึงบ้านสะแกกรังแล้ว โดยเฉพาะในเดือนยี่ถึงเดือนสามจะสังเกตได้ชัดเจน ต้นสะแกจะออกดอกเล็ก ๆ ช่อยาวสีเขียวอมเหลืองห้อยลงมาริมน้ำ
บริเวณสองฝั่งแม่น้ำจะมีเรือนแพอยู่เรียงราย ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตกมีอาคารบ้านเรือนอยู่หนาแน่น เป็นตลาดใหญ่ของที่มาขายที่ตลาดนั้น ทั้งข้าวสารซึ่งวางขายอยู่ในกระบุง อาหารคาวหวาน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกเองทำเอง และนำมาขาย
ส่วนฝั่งแม่น้ำด้านตะวันออกเป็นเกาะเทโพ มีสวนผลไม้ และป่าไผ่ตามธรรมชาติ เรือนแพที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำเป็นเรือนไม้สร้างคร่อมบนแพลูกบวบไม้ไผ่ ชาวแพบอกว่าอยู่แพแล้วสบาย หน้าร้อนลมเย็น หน้าหนาวตอนเช้าแดดอุ่น
ชาวเรือนแพเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมงในช่วงเช้าหลังจากที่ได้ปลามาจะนำมาชำแหละ เสียบไม้เป็นแผง ผึ่งให้แห้ง ย่างรมควันทำเป็นปลาแห้ง และนำไปขายในตลาด ตามเรือนแพริมน้ำเหล่านี้ยังมีกระชังเลี้ยงปลาสวาย ปลาแรด และปลาเทโพบ้างเล็กน้อย
ปกติปลาแรดที่เลี้ยงในกระชังจะไม่คาวเหมือนปลาแรดที่เลี้ยงในบ่อดินอยู่แล้ว แต่ปลาแรดในกระชังของที่นี่นับว่าขึ้นชื่อมาก เพราะเนื้อแน่นนุ่มและหวาน บางคนกล่าวว่า เป็นเพราะน้ำที่นี่มีการไหลเวียนดีและอาจมีแร่ธาตุบางอย่างอยู่ ปลาแรดจึงมีเนื้อนุ่ม
สภาพความเป็นอยู่ที่สามารถพบเห็นตามสองฝั่งลำน้ำสะแกกรัง จึงเหมาะสำหรับนั่งเรือชมทิวทัศน์ โดยจะนั่งเรือไปถึง อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาทก็ได้ โดยจะวนเฉพาะรอบตัวเกาะเทโพ หรือนักท่องเที่ยวสามารถว่าจ้างเรือจากบริเวณท่าเรือตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี เรือจะล่องไปมโนรมย์ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้าล่องเรือในช่วงเย็น คือประมาณ 16.00-18.00 น. จะได้เห็นพระอาทิตย์ตกซึ่งสวยงามมาก และในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะเห็นยอดักปลาเต็มไปหมด บางครั้งอาจได้เห็นชาวบ้านพายเรือมาเก็บผักตบชวา เพื่อนำใบไปรองเข่งปลา หรือจะนำไปเลี้ยงหมูก็ได้
เรือล่องแม่น้ำสะแกกรัง หากเป็นเรือเล็กจุได้ประมาณ 10-12 คน ล่องเรือไปถึงวัดท่าซุงราคาประมาณ 1,000 บาท หากไปถึงมโนรมย์ ประมาณ 1,500 บาท ไปถึงวัดท่าซุง ติดต่อที่คุณ บุญสม พูลสวัสดิ์ บ้านเลขที่ 113 คลองสะแกกรัง หรือติดต่อที่บริเวณตลาดเทศบาล 1 ตรงสะพานข้ามฟากไปวัดอุโบสถาราม ในช่วงเวลาตลาดตอนเช้า โดยสอบถามได้จากแม่ค้าในบริเวณนั้น หรือที่ร้านราดหน้าในอาคารตลาดเทศบาล ซึ่งเปิดตั้งแต่ประมาณ 7 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน หากต้องการล่องเรือขนาดใหญ่ สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท แพนเฮ้าส์ จำกัด ติดต่อ คุณวีระ บำรุงศรี โทร. 0 2933 0577, 0 2538 0335, 0 2538 3491, 0 2538 3705, 0 2530 5013
เกาะเทโพ เดิมเป็นแหลมยื่นออกมาคั่นระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำทั้งสองสายจะมาบรรจบกันทางทิศใต้ของแหลม และมีการขุดคลองเชื่อมทางเหนือในภายหลัง เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยามาหนุนแม่น้ำสะแกกรังในยามน้ำแล้ง แหลมนี้จึงกลายเป็นเกาะเทโพ
ที่เกาะเทโพนี้เป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชอบปั่นจักรยานท่องเที่ยว หลังจากข้ามสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างตลาดสดเทศบาลและวัดอุโบสถาราม ซึ่งไม่ยาวนักและขนาดเล็กเพียงรถมอเตอร์ไซค์สวนกันได้ ก็นับเป็นการเริ่มต้นการเดินทางบนเกาะเทโพ บรรยากาศสองข้างจะเป็นป่าไผ่ ไร่ข้าวโพด และทุ่งนาให้บรรยากาศที่สงบร่มรื่น ชาวบ้านที่นี่ทำสวนส้มโอ มีทั้งพันธุ์มโนรมย์ และขาวแตงกวา และยังปลูกมะไฟด้วย
เมื่อผ่านบ้านท่าดินแดงจะเห็นเสื่อลำแพนวางขายอยู่ ชาวบ้านใช้ต้นไผ่ที่มีอยู่หนาแน่นในพื้นที่นำมาสานเสื่อ และวางขายกันที่หน้าบ้าน ไม่ได้ส่งตลาด หากเดินทางต่อไปถึงวัดภูมิธรรม ก็จะมีศาลาให้นั่งพักตากลมได้ บรรยากาศในวัดเงียบสงบ เมื่อปั่นจักรยานครบรอบเส้นทางที่กำหนดไว้ก็จะถึงท่าเรือที่จะข้ามไปวัดท่าซุงได้ รวมระยะทางปั่นจักรยานบนเกาะทั้งหมด 33 กิโลเมตร
แผนที่เกาะเทโพ และตัวเมืองอุทัยธานี สามารถ ติดต่อได้ที่ คุณ ประสงค์ ศรีเมือง ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดอุทัยธานี (ร้านเจริญจักรยาน) 100-102 ถนนท่าช้าง อำเภอเมือง โทร. 0 5651 1991 ได้ทุกวัน
วัดอุโบสถาราม เดิมชื่อวัดโบสถ์มโนรมย์ ชาวบ้านเรียกว่าวัดโบสถ์ เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมลำน้ำสะแกกรังในเขตเทศบาลเมือง จากตลาดสดเทศบาล มีสะพานข้ามแม่น้ำไปยังวัดอุโบสถาราม ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์
และวิหาร เป็นภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในโบสถ์เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติเริ่มตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพานฝีมือประณีตมาก ส่วนในวิหารเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทพยดาบนสวรรค์และภาพปลงสังขาร ด้านบนฝาผนังเป็นพระสงฆ์สาวกชุมนุมสลับกับพัดยศเหมือนจะไหว้พระประธานในวิหาร ฝาผนังด้านนอกหน้าวิหารมีภาพถวายพระเพลิงศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและภาพชีวิตชาวบ้านที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เข้าใจว่าเป็นฝีมือชั้นหลัง นอกจากนี้ภายในวัดอุโบสถาราม ยังมีสิ่งของที่น่าชมอีกมาก เช่น เสมาหินสีแดงหน้าโบสถ์ ตู้พระธรรมและตู้ใส่ของเขียนลายกนกเถาลายดอกไม้ บาตรฝาประดับมุกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เป็นฝีมือช่างสิบหมู่ และหงส์ยอดเสา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่น่าชมหลายหลัง ได้แก่ มณฑปแปดเหลี่ยม ที่มีลักษณะผสมแบบตะวันตก มีลายปูนปั้นคล้ายไม้เลื้อยที่กรอบหน้าต่าง และมีพระพุทธรูปปูนสลักนูนสูงอยู่ที่ด้านนอกของอาคาร เจดีย์หกเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองทรงรัตนโกสินทร์ หอประชุมอุทัยพุทธสภา ซึ่งเป็นหอสวดมนต์ เป็นศาลาทรงไทย หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้น และแพโบสถ์น้ำซึ่งใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น งานบวช งานศพ เป็นต้น
วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) เดิมเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา มีโบสถ์ขนาดเล็ก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้านเข้าใจว่าเขียนในสมัยหลังเป็นเรื่องพุทธประวัติ บางภาพต่อเติมจนผิดส่วน สมบัติอีกชิ้นหนึ่งของวัดคือ ธรรมาสน์ที่หลวงพ่อใหญ่สร้าง ที่วิหารมีพระปูนปั้นฝีมือพองามและมีลายไม้จำหลักขอบหน้าบันเหลืออยู่ 2-3 แห่ง
ด้านตรงข้ามกับวัดเป็นปูชนียสถานแห่งใหม่ มีบริเวณกว้างขวางมาก พระราชมหาวีระ ถาวาโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) พระเถระที่มีชื่อเสียงได้สร้างอาคารต่างๆ มากมาย เช่น พระอุโบสถใหม่ ภายในประดับและตกแต่งอย่างวิจิตร บานหน้าต่างและประตูด้านในเขียนภาพเทวดาโดยจิตรกรฝีมือดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาตัดลูกนิมิตพระอุโบสถแห่งนี้ บริเวณโดยรอบสร้างกำแพงแก้วและมีรูปหล่อหลวงพ่อปาน และหลวงพ่อใหญ่ขนาด 3 เท่า อยู่มุมกำแพงด้านหน้า มณฑป และ พระวิหาร ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และศพของหลวงพ่อฤาษีลิงดำที่ไม่เน่าเปื่อย อาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันคือสร้างด้วยโมเสกสีขาวใสดูเหมือนแก้ว นอกจากนี้ยังมียังมีศาลาอยู่หลายหลังสำหรับใช้เป็นสถานที่ฝึกสมาธิและมีที่พักให้ด้วย อาคารแต่ละหลังจะมีเวลาเปิด-ปิดไม่ตรงกันและปิดช่วงกลางวัน โดยอาคารแต่ละหลังจะทยอยเปิดตั้งแต่เวลา 10.30 น. และจะเปิดให้ชมโดยพร้อมเพรียงกันอีกครั้งตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป
การเดินทาง วัดท่าซุง ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลน้ำซึม สามารถเดินทางไปได้หลายวิธี 1) ไปตามทางสาย 3265 มุ่งตรงไปทางแพข้ามฟากอำเภอมโนรมย์ ประมาณ 12 กิโลเมตร 2) รถโดยสารสายอุทัยฯ-ท่าซุง (สองแถวสีฟ้า) ค่าโดยสาร 8 บาท จากวัดท่าซุงต่อไปอีก 5 บาท จะถึงท่าเรือข้ามไปอำเภอมโนรมย์
ศูนย์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนถนนศรีอุทัย(ใกล้ศาลากลางจังหวัด) ภายในจัดแสดงเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องพัฒนาอาชีพ ห้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีห้องจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ห้องแสดงเครื่องแต่งกายเสื้อผ้ายศเจ้าเมือง ห้องจำลองไม้จำหลักและบ้านไทย การเข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 5651 1511
พระแสงดาบศัสตราวุธประจำเมืองอุทัยธานี สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพระแสงดาบที่จังหวัดอุทัยธานีได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงเมืองอุทัยธานี เมื่อ พ.ศ. 2449 พระแสงดาบนี้พระราชทานแก่จังหวัดอุทัยธานีเป็นลำดับที่ 3 (อันดับ 1 เมืองอยุธยา อันดับ 2 เมืองชัยนาท)
พระแสงดาบศัสตราวุธ เป็นดาบไทยทำด้วยเหล็กสีขาวอย่างดี ปลายแหลม คมด้านเดียว มีน้ำหนักเบา สันเป็นลาย ฝังงาในเนื้อเหล็กรูปดอกไม้ร่วง และริมสันทั้งสองข้างมีลายทองเป็นรูปก้านขด โคนตรงกลางมีจารึกนามอักษร พระแสงสำหรับเมืองอุไทยธานี ด้ามพระแสงทำด้วยไม้เนื้อแข็งหุ้มทองลงยา โคนเป็นลายกนกตาอ้อย ปลายด้ามเป็นรูปจุฑามณีบัวคว่ำ 3 ชั้น ประดับด้วยพลอย ต้นฝักพระแสงทำด้วยทองคำเป็นรูปรักร้อยประดับพลอย มีกาบกนกหุ้มต้นฝักทำด้วยทองคำเป็นลายก้านขด ช่อดอกแกมใบประดับพลอย ตัวฝักพระแสงทำด้วยทองคำดุน ฝักทั้งสองข้างมีลวดลายต่างๆ สวยงามมาก นับเป็นศิลปกรรมฝีมือเยี่ยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นพระแสงดาบสำคัญประจำเมืองอุทัยธานี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่คลังจังหวัดอุทัยธานี จะนำออกให้ชมเฉพาะในงานพระราชพิธีเท่านั้น
ฮกแชตึ๊ง (Hok Sha Tung) บ้านไม้สักแบบจีนอายุเก่าแก่ประมาณ 100 ปี ชาวจีนอพยพมาที่หมู่บ้านสะแกกรังตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าที่มากับเรือสินค้า หมู่บ้านนี้เป็นตลาดการค้าที่รุ่งเรือง ฮกแชตึ๊ง ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งที่พบปะสังสรรค์ และเป็นศูนย์กลางในการจัดงานต่างๆ เช่น เทศกาลกินเจประจำปี เป็นต้น และที่นี่ยังเคยเป็นร้านขายยา ปัจจุบันชั้นบนใช้เป็นที่เก็บเครื่องดนตรี และ สิ่งของที่ใช้ในงานพิธีเทศกาลกินเจ และชั้นล่างเป็นร้านยา เจ้าของคือคุณเสงี่ยม ปาลวัฒน์วิไชย ฮกแชตึ๊งตั้งอยู่ที่ 427 ถ.ศรีอุทัย ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง โทร. 0 5651 1078, 0 5651 1452, 0 1973 0527
ห้วยขาแข้ง มีพื้นที่ครอบคลุม 6 อำเภอ 3 จังหวัดคือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีพื้นที่ 3,609,375 ไร่ หรือ 5,775 ตารางกิโลเมตร โดยมีการรวมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเข้ามาด้วยทำให้เป็นผืนป่าอนุรักษ์ต่อเนื่องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะอากาศที่ห้วยขาแข้งหากเป็นฤดูร้อนจะร้อนมาก ฤดูฝนมีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน และมีฤดูหนาวสั้นมาก
ห้วยขาแข้งได้เป็นมรดกโลกเพราะสภาพป่าของที่นี่มีความหลากหลายทางธรรมชาติประกอบด้วยป่าถึง 5 ใน 7 ชนิด ที่พบในเขตร้อนชื้น ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ก่อให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ต่างๆบางชนิดเป็นสัตว์ที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์ เช่นควายป่า เลียงผา เสือดาว หมาใน ไก่ป่า นกยูงไทย และยังมีแมลงป่าพันธุ์ต่างๆอีกมากมาย
ปกติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่ใช่สถานที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทั่วไป เพราะพื้นที่นี้จัดเป็นเขตอนุรักษ์และมีความอ่อนไหวสูง ฉะนั้นการมีคนจำนวนมากเข้าไปอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านความไม่สมดุลของระบบนิเวศได้ แต่อย่างไรก็ดีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งได้กลายเป็นมรดกโลกและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จึงเปิดจุดผ่อนปรนทั้งหมด 3 จุด ให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปศึกษาธรรมชาติได้แบบไม่ค้างคืน
การเข้าไปในเขตฯควรปฏิบัติตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด ได้แก่
1. บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
2. บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์(ดูรายละเอียดที่น้ำตกไซเบอร์)
3. บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี (อยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ เส้นทาง 3011 ไปทางห้วยแม่ดี-บ้านใหม่คลองอังวะ กรมป่าไม้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้ด้วย)
ในบริเวณที่ทำการเขตฯ มีรูปปั้นคุณสืบ นาคะเสถียร หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อดูความเป็นไปของผืนป่าตะวันตก มีบันได 8 ขั้น ที่สื่อความหมายว่าคุณสืบดำรงตำแหน่งหันหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ อยู่ 8 เดือน และลวดลายบนบันไดบ่งบอกถึงอุปสรรคในการทำงานที่นี่
อาคารอนุสรณ์สถานสืบ นาคะเสถียร ซึ่งใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับคุณสืบไว้ด้วย ผมคิดว่า ชีวิตผมได้ทำดีที่สุดแล้วผมคิดว่า ผมได้ช่วยเหลือสังคมดีแล้วผมคิดว่า ได้ทำตามกำลังของผมดีแล้วและผมพอใจ ผมภูมิใจในสิ่งที่ผมทำ เป็นคำกล่าวของคุณสืบ นาคะเสถียร ผู้เป็นกำลังสำคัญผลักดันให้ป่าห้วยขาแข้งได้กลายเป็นมรดกโลก
บ้านพักคุณสืบ ซึ่งภายในบ้านพักยังคงสภาพไว้เหมือนครั้งที่คุณสืบยังมีชีวิตอยู่ ในห้องนอนที่คุณสืบจบชีวิตลงมีโต๊ะทำงานซึ่งจะมีรูปภาพต่างๆวางอยู่ เช่น รูปลูกสาว รูปคนงาน รูปป่าไม้ ด้านข้างโต๊ะมีรองเท้าวางอยู่สองสามคู่ และที่เราควรจะระลึกถึง คือ อนุสรณ์คนงานลาดตระเวน ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ อยู่บริเวณหน้าบ้านพักรับรอง หากมีโอกาสแวะมาที่ห้วยขาแข้งและได้มาเยี่ยมที่บ้านพักคุณสืบหรือที่อาคาร อนุสรณ์คนงานลาดตระเวน อาจจะได้อะไรกลับไปมากกว่าจิตสำนึกด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาหินแดง มีความยาวประมาณ 6 กิโลเมตรใช้เวลาเดินประมาณ 4 ชั่วโมง มีจุดสื่อความหมายธรรมชาติทั้งหมด 18 จุดสภาพป่าเป็นป่าผลัดใบ ประกอบด้วยป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง มีจุดชมวิวโป่งเทียน ในช่วงหลังเดือนธันวาคมจะมีนกหลายชนิด นกที่พบมาก เช่น นกแขกเต้า และนกโพระดก เส้นทางนี้ปกติเดินเองได้โดยขอคู่มือที่สำนักงานเขตฯ แต่หากต้องการคนนำทางต้องติดต่อล่วงหน้าที่หน่วยป้องกันไฟป่าห้วยขาแข้ง โทร. 0 5651 3527 เส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้จะปิดในช่วงเดือนเมษายน
การเดินทาง จากอุทัยธานีไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไปได้ 2 เส้นทาง คือ
1. เข้าทางที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 90 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายอุทัยธานี-หนองฉาง-ลานสัก ทางหลวงหมายเลข 3438 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 53-54 เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตด่านตรวจเขาหินแดง ซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยทับเสลา จากที่ทำการเขตฯ สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ต่อไปยังหน่วยพิทักษ์ป่ากะปุกกะเปียง ระยะทาง 14 กิโลเมตร และ สถานีวิจัยเขานางรำ ระยะทาง 17 กิโลเมตร
2. เข้าทางหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได อยู่ทางทิศใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งห่างจากตัวจังหวัดอุทัยธานีประมาณ 110 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายอุทัยธานี-หนองฉาง-บ้านไร่ ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทางลูกรังผ่านบ้านใหม่คลองอังวะอีกประมาณ 30 กิโลเมตรถึงด่านตรวจคลองระยาง ไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี และหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได สามารถเดินป่าขึ้นล่องได้ทั้งด้านเหนือและใต้ของลำห้วยขาแข้ง
หากเดินทางในฤดูฝนรถจะเข้าไม่ได้เพราะธารน้ำจะสูงขึ้นท่วมถนนดินแดง
สถานที่พักแรม การเข้าพักแรมต้องไปติดต่อด้วยตนเองอย่างน้อย 20 วันล่วงหน้าที่ฝ่ายจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ สอบถามรายละเอียด โทร. (02) 561-4292-3 หรือทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตู้ ปณ. 4 อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี 61160 จุดที่ได้รับอนุญาตให้พักแรมได้มีอยู่ 3 จุด จุดแรก คือ บริเวณสำนักงานเขตฯ มีบ้านพักขนาดพักได้ 10-30 คน จำนวน 3 หลัง และอาคารฝึกอบรมขนาดจุ 80 คน จุดที่สอง หน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ จุดที่สาม คือ หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี
ถ้ำหุบป่าตาด เข้าทางเดี