ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้หวัด?


ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) คือ ยาฆ่า หรือชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่ปัจจุบัน ยาปฏิชีวนะหลายชนิดสามารถฆ่าเชื้ออื่นๆที่ไม่ใช่แบคทีเรียได้ เช่น เชื้อราบางชนิด ดังนั้นบางท่านจึงนิยามปฏิชีวนะว่า เป็นยาฆ่า หรือชะลอการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งคือเชื้อโรค (Antimicrobial compound) ซึ่งในที่นี้ ขอใช้ยาปฏิชีวนะในความหมายทั่วไป คือ ยาฆ่า หรือชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ดังนั้นโรคที่เกิดจากเชื้อโรคอื่นๆที่ไม่ใช่แบคทีเรีย เช่น ไวรัส เชื้อรา และเชื้อหนอนพยาธิ จึงรักษาไม่หายด้วยยาปฏิชีวนะ

ปัจจัยต่อประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะ

แบคทีเรียที่ก่อโรคมีหลากหลายเป็นร้อยๆสายพันธุ์ ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้ตรงกับชนิดของเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้นยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัยที่สำคัญ คือ ขนาดของยา(Dose) ระยะเวลาในการให้ยา และประสิทธิ ภาพในการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย เช่น วิธีกินยา ฉีดยา กินก่อนอาหาร หรือกินหลังอาหาร

ทำไมต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง?

ต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ เพราะแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้มีชีวิตรอดได้สูง และมีหลากหลายร้อยๆชนิด ดังนั้น ถ้ากินยาไม่ถูกต้อง แบคทีเรียบางส่วนจะไม่ตาย ดังนั้นโรคจึงอาจไม่หาย หรือถึงแม้ดูว่าอาการดีขึ้น แต่อาจกลายเป็นโรคเรื้อรัง และยังคงสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้โดยเราและเขาไม่รู้ตัว

แบคทีเรียที่รอดตาย มักพัฒนาตนเองเป็นเชื้อดื้อยา กล่าวคือ เมื่อมีการเจ็บป่วยคราวหน้าจากเชื้อดื้อยา หรือเชื้อดื้อยาแพร่สู่ผู้อื่น ยาปฏิชีวนะตัวเดิม หรือในกลุ่มยาเดิมจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียไม่ได้ ต้องใช้ยาตัวใหม่ หรือต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายๆตัวร่วมกัน หรือบ่อยครั้งไม่มีตัวยารักษา ผู้ป่วยจึงต้องเสียชีวิต และยังเพิ่มค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาให้สูงขึ้นมาก บ่อยครั้งต้องเป็นการรักษาแบบเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล และโอกาสเสียชีวิตก็มักจะสูงขึ้น เนื่องจากยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อดื้อยาไม่ได้นั่นเอง

อีกประการ ในร่างกายเรามีแบคทีเรียอยู่เป็นร้อยสายพันธุ์ย่อยเช่นกัน เรียกว่าเป็นแบคทีเรียประจำถิ่น หรือแบคทีเรียที่ดี เป็นตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกายเรา แต่เมื่อเรากินยาปฏิชีวนะบ่อยๆพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น ยาจะไปฆ่าแบคทีเรียเหล่านี้ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเสียไป และแบคทีเรียไม่ดีที่เคยถูกควบคุมสมดุลด้วยแบคทีเรียประจำถิ่น อาจรุนแรงขึ้น และโดยเฉพาะเชื้อราที่มีเป็นปกติในเยื่อเมือกและที่ผิวหนังจะแข็งแรงขึ้น จนก่อการติดเชื้อกับเราได้ เช่น เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ หรือท้องเสีย เป็นต้น

นอกจากนั้น ยาปฏิชีวนะทุกชนิดมีผลข้างเคียงเสมอ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และวิธีกินยา และยังขึ้นกับความไวของแต่ละคนต่อยาด้วย ผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะที่พบบ่อย คือ ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย เบื่ออาหาร และบางครั้งอาจเกิดการแพ้ยา เช่น การขึ้นผื่นคัน หรือถ้ารุนแรง(มักเกิดกับยาฉีด) คืออาการช็อก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ควรใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไร?

การใช้ยาปฏิชีวนะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดค่าใช้จ่าย และป้องกันเชื้อดื้อยา คือ ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ควรเป็นแพทย์สั่งเท่านั้น เพราะผู้ตรวจรักษา สามารถสั่งการใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างถูกต้อง มีความรู้ว่ายาปฏิชีวนะรักษาได้เฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสได้ ดังนั้น โรคจากติดเชื้อไวรัสที่พบบ่อย คือ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยได้ยาเคมีบำบัด) ภายหลังจากการดูแลตนเองในเบื้องต้น เมื่ออาการต่างๆเลวลง จึงควรพบแพทย์ ให้แพทย์เป็นผู้รักษาและสั่งยา จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน รู้ได้ คือ อาการจะรุนแรงมากขึ้นหลังการดูแลตนเอง ด้วยการพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และกินยาลดไข้ภายใน 3-4 วัน(ในคนที่สุขภาพแข็งแรง) แต่ภายใน 1-2 วัน ในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือที่เรียกว่า กลุ่มเสี่ยง (เด็กเล็ก คนท้อง เมื่อแพทย์สั่งยาปฏิชีวนะ ควรรู้จักชื่อยา ซึ่งจะเขียนอยู่บนซองยา) กินยาให้ครบถ้วน ถูกต้องตามฉลากยา กินยาให้หมดตามแพทย์สั่ง ไม่หยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น ควรแจ้งแพทย์ถึงยาตัวอื่นๆที่กำลังกินอยู่ เพื่อป้องกันตัวยาต่างๆที่อาจเสริม หรือต้านฤทธิ์กันได้ ควรสอบถามแพทย์ถึงข้อควรระวังในเรื่องอาหาร เครื่องดื่มกับยาปฏิชีวนะ เพราะอาจลดการดูดซึมยาปฏิชีวนะได้ ควรสอบถามแพทย์ถึงผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะ เมื่อกินยาปฏิชีวนะครบแล้ว อาการยังอยู่ ต้องกลับไปพบแพทย์ ระหว่างกินยาถ้าอาการเลวลง หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆแทรกซ้อน ก็ต้องกลับไปพบแพทย์ หรือพบแพทย์ก่อนนัดเช่นกัน

ไม่กินยาปฏิชีวนะของผู้อื่น หรือที่มีเหลือเก็บไว้ เพราะมักเป็นเชื้อแบคทีเรียคนละชนิดกัน การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ ก็เป็นการป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ โดยรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในแต่ละวัน ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้เกิดโรคอ้วน จำกัดไขมัน แป้ง น้ำตาล เค็ม และเพิ่มผัก ผลไม้ รู้จักใช้หน้ากากอนามัย และรู้จักการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิด และตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

 

บทความ: หลักการใช้ยาปฏิชีวนะ (Effective use of antibiotics)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์
วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

haamor.com





แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement