สำหรับสาวๆ เรื่องของความอ้วนนั้นถือว่าเป็นฝันร้ายของสาวๆ กันเลย วันนี้ผู้หญิงนะคะมีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับยาและโรคที่อาจมาแทรกซ้อนในเวลาที่เราลดน้ำหนักนั้นมากฝากกันค่ะ
อันตรายจากการใช้ยาลดน้ำหนัก
1. ยาลดน้ำหนักที่ทำให้ไม่อยากอาหาร ผลเสียข้างเคียงนั้นมีหลายอย่าง อาทิเช่น ความดันโลหิตสูง ใจสั่น นอนไม่หลับ คอแห้ง สมองอื้อ หรือส่งผลเสียร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็เป็นไปได้ค่ะ
2. ยาลดน้ำหนักดูดซึมไขมัน ตัวนี้ไม่ค่อยมีอาการแทรกซ้อนเท่าไหร่ แต่ถ้าหากสาวๆ นั้นทานอาหารที่มีไขมันมาก ก็จะมีอาการท้องเสีย ขับถ่ายออกมาเป็นไขมัน แม้กระทั้งผายลมนั้นก็จะมีน้ำมันไหลออกมา ทำให้สูญเสียความมั่นใจให้กับสาวๆ เป็นอย่างมาก (ตัวนี้พลอยได้เคยทดลองทานแล้วค่ะ ปรากฎว่าต้องเข้าห้องน้ำบ่อยมากๆ เพราะเนื่องจากจะมีไขมันไหลออกมาเรื่อยๆ ช่วงนั้นทำให้ไม่มั่นใจ แต่ลดน้ำหนักได้น้อยน่ะค่ะ )
ปัญหาจากการใช้ยาลดน้ำหนักอีกอย่างคือ เมื่อหยุดใช้ยา จะหิวและเจริญอาหารมาก จนน้ำหนักกลับเพิ่มอย่างรวดเร็ว บางคนน้ำหนักเพิ่มมากกว่าก่อนใช้ยา จึงต้องกลับไปใช้ยาอีก น้ำหนักจึงเพิ่มๆ ลดๆ ที่เรียกว่า Yo-Yo effect ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพ
โรคอยากผอม
ความอยากผอม จนเกิดโรค มี 2 แบบคือโรค อโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า (Anorexia nervosa) และโรค บูลีเมีย (Bulemia nervosa) ทั้ง 2 โรค ส่วนใหญ่พบในเพศหญิง วัยรุ่น สาเหตุยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่าน่าจะมีปัจจัยทางจิตเป็นส่วนประกอบ ร่วมกับผลกระทบจากค่านิยมในสังคมที่ชอบคนผอม ทำให้อาการรุนแรงขึ้น
อาการ
ผู้ป่วย anorexia nervosa มักปฏิเสธไม่ยอมกินอาหาร และพยายามออกกำลังอย่างหนักเพื่อให้น้ำหนักลด ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักลดลงไป 25-30% ของน้ำหนักเดิม อาจใช้ยาลดน้ำหนัก ยาระบายหรือยาขับปัสสาวะร่วมด้วย ถ้าอาการรุนแรงจะมีกล้ามเนื้อแขนขาลีบ แก้มตอบ ซุบผอมมาก, ประจำเดือนขาดหายไป อุณหภูมิต่ำกว่าปกติ จนถึงหัวใจหยุดเต้นกระทันหันและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักตัวลดลงไปมากกว่า 35%
ผู้ป่วย bulemia nervosa มักจะกินมากโดยควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วรู้สึกผิด จึงไปล้วงคอให้อาเจียนหลังกินอาหารเข้าไป จนในระยะหลังๆ ไม่ต้องล้วงคอ ก็ยังอาเจียน รวมทั้งใช้ยาถ่าย มีความเสี่ยงต่อการเกิดการสำลัก เยื่อบุหลอดอาหารและกระเพาะอาหารฉีกขาด จากการอาเจียนมาก มีเลือดออกในทางเดินอาหาร มีลมรั่วเข้าไปในช่องทรวงอก นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติในดุลย์กรด-ด่างได้คล้ายผู้ป่วย anorexia nervosa ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดปกติได้เช่นกันได้
การรักษา
ในคนที่อาการรุนแรงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจหยุดเต้น อาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อแก้ไขดุลแร่ธาตุต่างๆ และให้โภชนบำบัดร่วมกับการดูแลทางด้านจิตเวช แต่ถ้าอาการไม่รุนแรง ก็สามารถรักษาเป็นผู้ป่วยนอก การรักษามักทำได้ยากเนื่องจากผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดปกติ จึงต้องทำให้ผู้ป่วยยอมรับปัญหาก่อน และร่วมมือกันระหว่างผู้ป่วย ญาติและทีมแพทย์ผู้ดูแล โดยการให้โภชนบำบัดร่วมกับการรักษาทางจิตเวชเช่นกัน
เห็นโรคร้ายที่จะตามมาของคนที่อยากจะผอมแล้ว ต้องเลือกวิธีการลดความอ้วนให้ถูกวิธีเพื่อจะไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราภายหลังและที่สำคัญขยับสักนิดเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้นยังดีกว่าเลือกทานยาลดน้ำหนักน่ะค่ะ