หลายครั้งที่ท่านผู้ปกครองหลายๆคนที่มีปากเสียงกับลูก ซึ่งต้องยอมรับว่าเวลาที่อยู่ในอารมณ์โกรธอาจมีการพลั้งปากพูดให้ลูกรู้สึกเสียใจไม่มากก็น้อย ซึ่งคำพูดที่ออกจากปากของเรา อาจไม่สามารถทำให้ลูกเข้าใจเหมือนที่เราคิดได้ คงมีหลายครั้งที่เราอยากให้ลูกลืมสิ่งที่เราพูดออกไป อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้คือพยายามควบคุมอารมณ์ค่ะ ข้อแนะนำในการพูดกับลูก
"แม่ตัดหนูแล้ว สิ้นสุดกันที" เมื่อเราโกรธเราอาจพูดว่าแม่ตัดแล้ว ไม่เอาแล้วลูกคนนี้ แต่ในความเป็นจริงลูกยังต้องพึ่งที่อยู่อาศัย อาหาร ความรักความปลอดภัยจากคุณแม่คุณพ่ออยู่ ดังนั้นหากเราพูดว่าทนไม่ไหวแล้ว จะทำร้ายความรู้สึกของลูก ลูกจะตกใจ เจ็บใจ มีบาดแผลภายในและจะทำลายความสัมพันธ์ของเรากับลูกด้วย
"ตลกน่า ไม่น่าเชื่อว่าลูกคิดในเรื่องไร้สาระแบบนี้" หากเรามีลูกวัยรุ่นเราคงเคยเห็นลูกกระแทกเท้าปึงๆ กระแทกประตูโครม กังวลใจในเรื่องที่ไม่น่ามีความสำคัญ ลูกจะมีความรู้สึกว่าลูกทำตัวไร้สาระในมาตรฐานของผู้ใหญ่ และเมื่อถูกต่อว่าเขาจะรู้สึกเหมือนว่าถูกปฏิเสธ ไร้ค่า โกรธ หงุดหงิดและต้องการแยกตัวออกห่างจากคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น ลูกอาจโต้ตอบกลับมาว่า พ่อแม่ไม่เคยเข้าข้างหนูเลย อยู่ข้างพี่ตลอด ในระหว่างการโต้เถียงกัน คุณพ่อคุณแม่อาจตอบว่าไม่จริงหรอกแต่ดูเหมือนว่าลูกจะไม่เข้าใจ คำที่เราพูด เพราะอยู่ระหว่างการโต้เถียงกัน ทางที่ดีควรรอจังหวะที่เหมาะสมแล้วพูดว่า แม่อาจเห็นเรื่องนี้ในมุมมองที่แตกต่างออกไป ไหนลองเล่าเรื่องของหนูใหม่อีกครั้ง แล้วเรามาหาข้อสรุปร่วมกันอีกที
"ลูกไม่เคยทำอะไรถูกเลย เป็นเด็กขี้แพ้ตลอด" การที่เราเรียกลูกว่าเด็กขี้แพ้ งอแงตลอดจะทำให้ลูกรู้สึกละอายแทนที่จะพูดอย่างนั้นเราควรฝึกให้ลูกรู้จักการฝึกฝนและพยายาม การที่เราพูดทำร้ายจิตใจลูก แทนที่ลูกจะมีความพยายามขึ้นจะยิ่งทำให้ลูกมีพฤติกรรมถดถอย ละอายใจ ขาดความเชื่อมั่นและไม่กล้าตัดสินใจมากขึ้น การละอายใจจะมีความหมายตรงข้ามกับการทำให้ลูกสำนึกผิด เพราะเมื่อลูกรู้สึกสำนึกผิด เช่นหยิบของๆผู้อื่นไปโดยไม่รับอนุญาต เมื่อเราตักเตือนจนลูกรู้สึกสำนึกผิดลูกจะรู้สึกเสียใจและไม่ทำผิดอีก แต่การทำให้ลูกรู้สึกละอายใจจะเป็นเหมือนตราบาปที่ติดอยู่ในชีวิตของลูก อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่มีค่าในสายตาคุณพ่อคุณแม่
"ทำไมเหมือนพ่อไม่มีผิด ทำไมถึงไม่เป็นเหมือนพี่หรือน้องของหนูบ้าง" สิ่งนี้เหมือนการชก 2 หมัดเข้าหาลูกในเวลาเดียวกัน ลูกจะมีความรู้สึกทางลบเมื่อมีการโต้เถียงและตำหนิว่าต้อยกว่า มีความรู้สึกโกรธและละอายเมื่อมีคนมาตัดสินพ่อหรือแม่ของตนเอง ยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน สิ่งที่เราพูดจะฝังอยู่ในความทรงจำของเด็กๆ และถ้าเราเปรียบเทียบลูกกับลูกอีกคนหรือลูกคนอื่นจะยิ่งทำให้ เด็กเจ็บปวด และยิ่งเกลียด ไม่พอใจและอิจฉาคนที่ถูกนำมาเปรียบเทียบด้วย ความเจ็บปวดที่สุดของลูกคือ การเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น จำไวัว่าเด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะที่ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน
"แม่ก็เกลียดหนูเหมือนกัน" เมื่อเราพูดว่าแม่ก็เกลียดลูกเหมือนกันเพื่อต้องการเอาชนะลูก หรือทำให้ลูกเจ็บใจเหมือนกับเรา เรากำลังใช้อารมณ์เป็นเครื่องตัดสินแบบเดียวกับลูก และแสดงให้เห็นถึงความเป็นเด็กด้วย เรากำลังทำให้ลูกรู้สึกว่าลูกไม่เป็นที่ต้องการ หากเราพลั้งปากพูดประโยคนี้ออกไปแล้ว สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่เราต้องกลับไปและพูดกับลูกคือ "ขอโทษ ยกโทษให้แม่ด้วย แม่ไม่ควรพูดอย่างนั้น" การขอโทษเมื่อเราทำผิด เป็นการกระทำที่ดี และเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูก บอกลูกว่าคราวหน้าแม่จะควบคุมอารมณ์ให้มากกว่านี้
"พูดติดสินบน ถ้าหนูทำ........อย่างนี้ แล้วแม่จะให้" เช่นลูกจะรู้สึกว่าทำเพียงให้ได้รางวัลแต่ไม่ได้เกิดจากความพยายามส่วนตัว ลูกจะเรียนรู้ว่าการทำความดีต้องมีสินจ้างรางวัล และยิ่งหากเราลืมคำสัญญาที่ให้กับลูกด้วยแล้ว ลูกจะเรียนรู้ว่าคำสัญญานั้นไม่มีความหมายอะไร เราจะผิดสัญญาได้และมีปัญหาอื่นๆตามมา
"ถ้าเป็นได้ไม่น่ามีลูกเลย" ไม่น่าแปลกที่บางครั้งเมื่อเวลาเราเหนื่อยหรือโต้เถียงกับลูก เราอาจมีความรู้สึกว่าลูกเป็นห่วงผูกคอไม่น่ามีลูกเลย เราต้องฉลาดและรู้จักควบคุมอารมณ์ แม้ว่าเรามีความรู้สึกนี้ก็อย่าพูดออกไป แต่ให้เราสงบสติอารมณ์และออกจากสถานการณ์นั้น เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของเราและลูกไว้
แทนที่เราจะพูดในสิ่งที่ทำร้ายจิตใจลูกสิ่งที่เราทำได้คือ
1. หายใจเข้าลึกๆเพื่อให้เราตั้งสติได้และไม่ตอบโต้อารมณ์ที่ไม่เหมาะสมกลับไป
2. ปรับเปลี่ยนจุดสนใจของลูก ให้เข้ากับกิจกรรมที่ทำในขณะนั้น บางครั้งลูกไม่อยากทำการบ้าน และพาลโกรธแม่ โดยการบอกว่าหนูเกลียดแม่ แทนที่เราจะโต้ตอบกลับไป เราควรใช้วิธีเปลี่ยนจุดสนใจให้ลูกโดยบอกว่าให้เรามาทำการบ้านต่อให้เสร็จดีกว่า เป็นต้น
3. เปลี่ยนคำพูดเป็นการกระทำบอกลูกว่า เดี๋ยวเราค่อยมาคุยกันเรื่องนี้ต่อ บางครั้งการเดินออกจากสถานการณ์นั้น และกลับมาใหม่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วก็จะช่วยได้มากทีเดียว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ