การที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ได้รู้พัฒนาการต่างๆรวมไปถึงอาการในแต่ละไตรมาส ทำให้คุณแม่ผ่อนคลายได้มากขึ้น อีกทั้งช่วยให้คุณแม่ดูแลตัวเองได้ง่ายขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่เราได้รู้ล่วงหน้าค่ะ
ไตรมาสแรก (เดือนที่ 1-3)
ไตรมาสแรก (เดือนที่ 1-3)
ช่วงนี้รูปร่างของคุณแม่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก และยังดูไม่ออกว่าตั้งครรภ์ อาจจะเริ่มเห็นมีพุงนิดๆในช่วงท้ายๆของไตรมาสแรก น้ำหนักของคุณแม่ก็ยังคงเดิม หรือบางรายอาจมีน้ำหนักลดลงเล็กน้อย จากการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และรับประทานอาหารได้น้อยลง คุณแม่ไม่ควรกังวลกับเรื่องน้ำหนักที่ลดลงในช่วงแรก หากคุณแม่ไปฝากครรภ์และปรึกษากับคุณหมอตามนัดค่ะ ในไตรมาสแรกที่ยังมีอาการแพ้ท้องอยู่นั้น จะเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกขี้เกียจ และอยากนอนทั้งวัน หรืออาจจะรู้สึกง่วงมากในช่วงบ่ายของแต่ละวัน หากเป็นไปได้ ควรหาเวลางีบสัก 15 นาที ในตอนเย็น บางรายอาจรู้สึกเหมือนมีไข้ตัวรุมๆด้วยค่ะ
ด้านอารมณ์ ด้วยระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่มีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ แปรปรวนได้ง่าย สับสน เครียด และกังวลใจ บางครั้งก็เอาแต่ใจตัวเอง หงุดหงิด ขี้รำคาญ ขาดความมั่นใจ บางคนอาจซึมเศร้า ร้องไห้ได้ ให้คุณแม่คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา และคุณพ่อควรมีส่วนที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงแรกนี้ไป เมื่อผ่านไปได้ระยะหนึ่ง คุณแม่จะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นค่ะ
ไตรมาสที่สอง (เดือนที่ 4-6)
คุณแม่จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นและชัดเจนขึ้น หน้าท้องขยายเพิ่มขึ้น และเต้านมโตขึ้น น้ำหนักตัวก็เริ่มจะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ผิวหนังอาจมีสีคล้ำขึ้น โดยเฉพาะตามข้อพับต่างๆ หรือเส้นรอบคอ อาจจะมองเห็นเหมือนมีขี้ไคลดำๆ เริ่มสังเกตเห็นเส้นดำๆกลางหน้าท้อง หัวนมเริ่มมีสีคล้ำขึ้น และรู้สึกเจ็บเมื่อถูกสัมผัส เส้นเลือดฝอยตามผิวหนังปรากฎชัดเจน ผิวหนังเริ่มแตกลาย หากอยากบำรุงควรบำรุงผิวตั้งแต่ไตรมาสแรกเลยนะคะ เริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย เหงื่อออกง่าย รู้สึกร้อนกว่าปกติ บางรายเริ่มมีอาการปวดหลังจากรูปทรงของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป
อาการแพ้ท้องที่หมดไป ทำให้คุณแม่มีอารมณ์ที่ดีขึ้นและปรับตัวกับการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น ไตรมาสนี้คุณแม่อาจจะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นของลูกน้อยแล้วนะคะ โดยในช่วงแรกจะรู้สึกเหมือนปลาตอดตุบๆ ความรู้สึกของความเป็นแม่ก็จะมีมากขึ้น เป็นช่วงที่คุณแม่เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลลูกและตระเตรียมบ้านและข้าวของค่ะ
ไตรมาสสุดท้าย (เดือนที่ 7-9)
ช่วงนี้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปมาก น้ำหนักตัวก็มากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าอุ้ยอ้าย รู้สึกเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะช่วงท้ายๆของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกอึดอัด ตึงแน่นท้อง เมื่อมดลูกโตขึ้น มีน้ำหนักมากขึ้น ก็จะกดทับทำให้เจ็บหัวหน่าว ปวดถ่วงเชิงกราน โดยเฉพาะเวลาเดินหรือเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นยืน
น้ำหนักของมดลูกที่เพิ่มขึ้นจะกดทับลงบนกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย จนบางครั้งในขณะที่ลูกดิ้นอาจทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดได้
ช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ มดลูกมีการขยายตัวมากขึ้น ก็จะไปเบียดทางด้านบน ทำให้พื้นที่ของปอดและกระเพาะอาหารเล็กลง เมื่อปอดมีขนาดเล็กลงก็จะทำให้เหนื่อยง่าย เหมือนหายใจได้ไม่เต็มอิ่ม หายใจถี่ขึ้นมากกว่าปกติ และเมื่อกระเพาะอาหารถูกเบียดให้เล็กลง ก็จะกินอาหารได้น้อยลง จุก เสียดได้ง่ายขึ้น น้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารก็จะล้นย้อนเข้าไปในหลอดอาหารได้ง่าย ทำให้รู้สึกแสบร้อนในอก การนอนหนุนหมอนสูง หรือดื่มนมอุ่นๆก่อนนอน จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้
อาหารบวมอาจจะเกิดขึ้นง่ายขึ้นที่ข้อเท้าและนิ้วมือ ให้นอนหมอนหนุนขาไว้ เมื่อน้ำหนักตัวมากขึ้นอาจจะทำให้คุณแม่นอนไม่สบาย เนื่องจากท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ควรนอนตะแคงคล้ายท่ากอดหมอนข้างจะช่วยให้หลับสบายขึ้น หรือใช้หมอนรองระหว่างเข่าทั้งสองข้างค่ะ
ระยะนี้อาจทำให้คุณแม่เครียดและวิตกกังวล เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์และการเตรียมตัวคลอด การเจ็บท้องคลอดและการเลี้ยงลูกหลังคลอด ทางที่ดีควรไปหาหมออย่างสม่ำเสมอเพื่อให้คุณหมอตรวจครรภ์และตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หากมีเรื่องสงสัย ก็อย่าลังเลที่จะสอบถามให้แน่ใจ ไม่ควรเก็บความกังวลไว้คนเดียว
น้ำหนักคุณแม่ที่ควรเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน
น้ำหนักเพิ่มขึ้นที่เหมาะสม และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อคุณแม่และลูกในครรภ์น้อยที่สุด คือ ช่วงน้ำหนักระหว่าง 12-15 กิโลกรัม ซึ่งสัดส่วนของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงอายุครรภ์จะแตกต่างกันดังนี้
- ไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม
- ไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 กิโลกรัม
- ไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 กิโลกรัม
ที่มา คู่มือเสริมสร้างมหัศจรรย์แห่งพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ โดยenfa
Photo Credit : blogs.discovermagazine.com, birth.com.au, backandneck.ca
ที่มา คู่มือเสริมสร้างมหัศจรรย์แห่งพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ โดยenfa
Photo Credit : blogs.discovermagazine.com, birth.com.au, backandneck.ca