ใหม่ล่าสุด ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย เพิ่มประสิทธิภาพของยาต้านมะเร็งรุ่นก่อน ช่วยยืดอายุผู้ป่วย




แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยนวัตกรรมก้าวกระโดด ใหม่ล่าสุด ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย
เพิ่มประสิทธิภาพของยาต้านมะเร็งรุ่นก่อน ช่วยยืดอายุผู้ป่วย ให้มีชีวิตอยู่เพื่อเติมเต็มความสุขในครอบครัวได้ยาวนานยิ่งขึ้น

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งเต้านมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จครั้งล่าสุดในการพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทู (HER2)  ซึ่งจะเน้นการรักษาตามเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทูในระยะแพร่กระจายหรือระยะสุดท้าย โดยสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ และในขณะเดียวกันมีผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อปกติของร่างกายผู้ป่วยต่ำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สำคัญในการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งเต้านมเพื่อช่วยยืดอายุผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่เพื่อคนที่รักได้ยาวนานยิ่งขึ้น

สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (Globocan) พบว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก จากสถิติดังกล่าวในปี 2555 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทั่วโลกทั้งสิ้นราว 6,255,000 ราย ซึ่งในทุกๆ 1 นาที จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม 1 ราย สำหรับประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกว่า 54,000 ราย และพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ถึง 3 ราย ในทุกๆ 2 ชั่วโมง  ซึ่งยังไม่นับรวมผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังตรวจไม่พบหรือยังไม่ได้เข้ารับการรักษา ทั้งนี้ ผู้หญิงไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมถึงวันละ 14 ราย

สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าพันธุกรรมมีส่วนสำคัญ พบว่าคนที่มีญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนทั่วไป และควรรับการตรวจมะเร็งเต้านมทุกปี ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่ และการใช้ฮอร์โมนเสริม เป็นต้น มะเร็งเต้านมที่ตรวจพบโดยทั่วไปแบ่งได้ง่ายๆ เป็น 3 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ดังนี้ สายพันธุ์ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเป็นประเภทที่พบมากที่สุด, สายพันธุ์เฮอร์ทู พบได้ประมาณ 20% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด และชนิดไตรโลปะที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน พบได้ประมาณ 15% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมและได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว ยังคงมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมได้อีก 

มีหลักฐานพบว่าการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมเกี่ยวข้องกับยีนบางอย่างในร่างกาย หรือสาเหตุบางประการ เช่น การหลงเหลือของเซลล์มะเร็งต้นกำเนิด หรือสเตมเซลล์ในร่างกาย รวมถึงการดื้อยาที่แพทย์สั่ง การได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ล่าช้า และภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ 

รองศาสตราจารย์นายแพทย์นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า “การกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำหลังจากรักษา ซึ่งมีระยะเวลาเฝ้าระวังประมาณ 12 ปีนั้น มี 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ การเป็นซ้ำในบริเวณเดิมและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นการกำเริบเฉพาะที่ ส่วนการกำเริบในต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ เรียกว่าการกำเริบในบริเวณข้างเคียง และถ้ามีการกำเริบในอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เรียกว่าการกำเริบแบบมีการแพร่กระจาย การรักษามะเร็งกำเริบเฉพาะที่ แม้ว่าจะทำได้ยากกว่าการรักษาครั้งแรก แต่ก็ไม่จัดเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย ยังสามารถรักษาให้หายได้  ในกรณีที่มีการกำเริบและมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นแล้ว จัดว่าเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย ซึ่งการรักษาระยะนี้ มักหวังผลเพื่อยืดชีวิตของผู้ป่วย รักษาคุณภาพชีวิต และบำบัดอาการของโรคเป็นหลัก”
 
อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่พบว่าเป็นมะเร็งในระยะแพร่กระจายตั้งแต่ครั้งแรกที่ตรวจเจอโรค ซึ่งการรักษาของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นซ้ำแบบมีการแพร่กระจาย ปัจจุบัน การรักษามะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจายให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องตรวจคัดเลือกผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษา พิจารณาเลือกยาและวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดแก่ผู้ป่วยแต่ละรายโดยเฉพาะ โดยเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมตรงตามกลไกการเกิดโรคหรือเป้าหมายที่ทำให้เกิดการกำเริบลุกลาม ซึ่งยาที่ได้รับจะสามารถต่อต้านเซลล์มะเร็งได้อย่างเจาะจงที่เรียกว่าการรักษาตามเป้าหมาย ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการรักษา ลดผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย และในรายที่เป็นเฉพาะที่ ถ้ารักษาถูกต้องตามเป้าหมาย ก็มีโอกาสหายขาดได้สูงกว่ารักษาแบบดั่งเดิมไม่จำเพาะ  

“มะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทูเป็นมะเร็งที่เกิดจากการกลายพันธุ์เพิ่มปริมาณของยีนก่อมะเร็งเฮอร์ทูและมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หากรักษาไม่ถูกต้องตรงตามกลไกการเกิดโรคอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น สำหรับผู้ป่วยมะเร็งสายพันธุ์เฮอร์ทูในระยะแพร่กระจายนั้น การรักษาโดยมาตรฐานทั่วไปในอันดับแรกนั้น มักใช้ยาฉีดกลุ่มยาต้านเฮอร์ทูควบคู่กับยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาตรฐานนี้ ยังคงมีการพัฒนาของโรครุนแรงมากขึ้นในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการดื้อยา”

“ล่าสุด นักวิจัยจึงคิดค้นนวัตกรรมใหม่เป็นยาฉีดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทู ที่นำมาใช้ร่วมกับยาต้านเฮอร์ทูตัวเดิมและยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการดื้อยา โดยยาตัวใหม่นี้มีประสิทธิภาพยับยั้งและขัดขวางการรวมตัวกันของโปรตีนเฮอร์ทูกับโปรตีนเฮอร์ชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการดื้อยาตัวเดิม อาจกล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมก้าวกระโดดที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยาต้านเฮอร์ทูรุ่นก่อน ช่วยลดการลุกลามของโรค และช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้” รองศาสตราจารย์นายแพทย์นรินทร์ อธิบายเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยาดังกล่าวได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ รวมกว่า 40 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ยาตัวใหม่ล่าสุดนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จึงนับเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ที่ได้นำนวัตกรรมล่าสุดในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมเข้ามาใช้ เพื่อเป็นความหวังใหม่และกำลังใจของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทูระยะแพร่กระจาย ให้มีชีวิตอยู่เพื่อครอบครัวและคนที่รักได้ยาวนานยิ่งขึ้น

“แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์จะมีความก้าวหน้า ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมีชีวิตยืนยาวขึ้นมาก การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเอง ตลอดจนกำลังใจจากคนใกล้ชิดก็ยังคงมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมควรมาพบแพทย์ตามนัด และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง เช่น ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น และลดอาหารจำพวกเนื้อแดงรวมถึงเนื้อที่ผ่านการแปรรูป หลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสี ออกกำลังกาย งดการดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ และสุดท้ายคือทำจิตใจให้สดชื่น เข้มแข็ง มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรค และมีชีวิตอยู่กับคนที่รักให้นานที่สุด” รองศาสตราจารย์นายแพทย์นรินทร์กล่าวทิ้งท้าย





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement