สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (Globocan) พบว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก จากสถิติดังกล่าวในปี 2555 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทั่วโลกทั้งสิ้นราว 6,255,000 ราย ซึ่งในทุกๆ 1 นาที จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม 1 ราย สำหรับประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกว่า 54,000 ราย ซึ่งยังไม่นับรวมผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังตรวจไม่พบหรือยังไม่ได้เข้ารับการรักษา ทั้งนี้ ผู้หญิงไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมถึงวันละ 14 ราย
รศ.นพ. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าจากสถิติของอุบัติการณ์ดังกล่าวทางสมาคมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ความรู้และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องโรคมะเร็งเต้านมแก่ผู้หญิงไทย จึงได้จัดงาน รู้-เพราะ-รัก Pink Alert : Check & Share Project 2015 ขึ้นเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้หญิงตระหนักว่า โรคมะเร็งเต้านม เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับผู้หญิง และทุกคนก็มีความเสี่ยง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้หญิงไทยสนใจดูแลตัวเองโดยไปตรวจคัดกรองเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม
โดยในงานได้มีช่วงเสวนาโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง รู้ทันมะเร็งเต้านม แนวทางในการรักษา และการเข้าถึงในปัจจุบัน ซึ่งการให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมและวิธีการรักษา จะทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจถึงความแตกต่างของมะเร็งเต้านมชนิดต่างๆ ระยะของมะเร็งเต้านม ปัจจัยความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องเพื่อจะนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้โอกาสในการรักษาหายมีสูงขึ้น
นอกจากให้ความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจัดให้มีกิจกรรม Check & Share แนะนำการตรวจเต้านมด้วยตนเองแบบง่ายๆ ได้ที่บ้าน และร่วมรณรงค์ให้ดูแลคนใกล้ชิดหรือคนที่รักด้วยการชักชวนกันมาตรวจเต้านม
ภายในงานยังมีกิจกรรมส่งเสริมกำลังใจมากมาย ฟังประสบการณ์การต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านมในช่วง Case & Share: ระยะสุดท้าย..จะหายให้ดู โดย แม่นุ่น และ พ่อตุลย์ ช่วง Beauty Alert: ถึงจะป่วย..ก็สวยได้ โดย คุณม้า-อรนภา กฤษฎี บิวตี้กูรูชื่อดังของเมืองไทย และพบดาราดัง คุณแต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ ควงคู่พี่สาว ทพญ. ณัฐวดี เตมีรักษ์ มาร่วมพูดคุยแบบใกล้ชิดภายในงาน พร้อมด้วย คุณกาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ
ผู้เข้าร่วมงานยังได้ร่วมกิจกรรมอื่นๆ อาทิเช่น ร่วมประดิษฐ์หมวก แต่งหน้าคัพเค้ก เย็บเต้านมเทียม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบเต้านมเทียมและหมวกให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมต่อไป
โรคมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลเหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมได้ มักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียงเช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ และสมอง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ
มะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายมีโอกาสพบได้น้อยมากเพียง1 % ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด จากการเก็บข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆในประเทศไทยในปี พ.ศ.2555 พบว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดเป็นอันดับ 1
Ref: Hospital-based cancer registry annual report 2012: National Cancer Institute department of medicine services ministry of public health Thailand
มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะ 0 เป็นระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ซึ่งยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านม
ระยะ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
ระยะ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้หรือไม่ก็ได้ หรือมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
ระยะ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และรุกรามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
ระยะ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆแล้ว
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม
1. ผู้หญิงที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นญาติใกล้ชิด เช่น แม่พี่สาวหรือน้องสาว เป็นต้น
2. ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี
3. ผู้หญิงที่รอบเดือนมาเร็ว และหมดช้า หรือใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี
4. ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม จะใช้การตรวจประเมินร่วมกัน คือ
เมื่อพบอาการผิดปกติที่สงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ การพบความผิดปกติของภาพการตรวจเอ็กซเรย์เต้านม คลำพบก้อนที่เต้านม หรือเกิดความผิดปกติที่เต้านม ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจมีการซักประวัติ อาการที่เป็น ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมและการตรวจร่างการทั่วไป รวมทั้งการตรวจเต้านม ดังนี้
1. การคลำ แพทย์จะตรวจลักษณะของก้อนและเต้านมโดยทั่วไป รวมทั้งบริเวณรักแร้ และเหนือกระดูกไหปลาร้า
2. การตรวจแมมโมแกรม การตรวจเอ็กซะเรย์เต้านม ทำให้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมโดยเฉพาะลัษณะของก้อนเหมือนก้อนมะเร็งหรือไม่ ขนาดและขอบเขตของก้อน จำนวนก้อนที่มี
3. การตรวจคลื่นสะท้อนแรงสูง (ultrasonography) ช่วยแยกโรคได้ว่าก้อนที่เป็น เป็นก้อนเนื้อทั้งหมด หรือเป็นถุงน้ำ และใช้ดูประกอบกับการตรวจแมมโมแกรม (mammogram)
จากข้อมูลเบื้องต้น แพทย์จะตัดสินใจว่าต้องมีการตรวจเพิ่มเติมหรือการรักษาจำเป็นหรือไม่ ในรายที่ลักษณะการตรวจเข้าได้กับลักษณะของเนื้องอกไม่ร้ายแรง แพทย์อาจนัดผู้ป่วยมาตรวจสม่ำเสมอ เพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของรอยโรค ในรายที่สงสัยอาจต้องมีการเจาะหรือตัดก้อนเนื้อตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
1. การเจาะตรวจด้วยเข็มขนาดเล็ก
การใช้เข็มขนาดเล็กเจาะตรวจก้อนที่สงสัยว่าเป็นถุงน้ำ เพื่อดูดน้ำมาตรวจ หรือเจาะก้อนเนื้อเต้านมที่สงสัย และตรวจด้วยจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะของเซลล์ที่เจาะตรวจ
2. การตัดเนื้อตรวจด้วยเข็ม
โดยการใช้เข็มขนาดใหญ่ เจาะตัดก้อนเนื้อเต้านมที่สงสัย หรือ เจาะบริเวณที่ผิดปกติจากการตรวจเอ็กซเรย์แมมโมแกรม ส่งไปที่ห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา เพื่อให้พยาธิแพทย์ตรวจ ลักษณะของเซลล์ว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่
3. การผ่าตัดตรวจชิ้นเนื้อ
แพทย์ตัดเนื้อบางส่วนหรือทั้งหมดของก้อนเนื้อเต้านมที่สงสัย พยาธิแพทย์จะตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง เมื่อการตรวจชิ้นเนื้อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็งเต้านม ควรมีการตรวจย้อมพิเศษเพิ่มเติม เพื่อตรวจดูความรุนแรงของโรคมะเร็งที่เป็นและเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับรอยโรคที่ตรวจพบ โดยตรวจตัวรับฮอร์โมน (hormone receptor) ซึ่งมี 2 ชนิด คือ ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen receptor) และตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone receptor) ถ้าให้ผลบวกแสดงว่าโรคตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัด และตรวจย้อมยีนมะเร็งเฮอร์ทู (HER-2 onco gene) ซึ่งถ้าให้ผลบวก แสดงว่าโรคมะเร็งเต้านมเป็นชนิดร้ายแรง ดื้อยาเคมีบำบัดและโรคกลับเป็นซ้ำรวดเร็ว ตลอดจนผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเร็วกว่าผู้ที่ตรวจไม่พบยีนมะเร็งเฮอร์ทู นอกจากนี้ผลของยีนมะเร็งเฮอร์ทู สามารถทำนายการตอบสนองต่อการรักษาด้วยช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy)
การรักษามะเร็งเต้านม จะอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ เช่น
ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง
ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง
อายุและสุขภาพของผู้ป่วย
ตัวรับฮอร์โมนของมะเร็ง
ภาวะก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน
ปัจจัยที่บ่งบอกความรุนแรงของเนื้องอก เช่น ยีน HER2
ทางเลือกในการรักษามะเร็งเต้านม
การผ่าตัด
รังสีรักษา
เคมีบำบัด
การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน
การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy)
และในปัจจุบัน ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น เสริมร่วมกับยาแพคลิแท๊กเซิล (Palitaxel)ได้ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว เป็นยาจำเป็นที่ผู้ป่วยควรได้รับ ทำให้เกิดความครอบคลุมการรักษามากขึ้น และยังทำให้ผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเข้าถึงการรักษา จากการศึกษาประเมินของทางไฮเทปยังพบว่า ระหว่างผู้ป่วยที่ใช้ยาข้างต้นกับการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง การใช้ยาข้างต้นสามารถประหยัดงบประมาณค่ารักษาได้มากกว่า และยังมีความคุ้มค่าช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น