เป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็กเล็กจะรับรู้ถึงความแตกต่างทางรูปลักษณ์และวิธีการพูดของคนอื่น แล้วแสดงความสงสัยจนถึงขั้นกลัวคนๆ นั้นไปเลยก็ว่าได้ พ่อแม่หลายคนอาจจะเคยถึงกับต้องอับอายขายหน้าต่อความคิดเห็นที่ไร้ความรู้สึกนึกคิดของลูกๆ ต่อคนที่นั่งอยู่ในรถเข็น หรือกับคำถามที่น่าเกลียดว่าทำไมเพื่อนที่โรงเรียนถึงดั้งหัก
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Developmental Science ค้นพบว่าโดยสัญชาตญาณแล้วเด็กทารกแค่ 3 เดือนสามารถแยกแยะคนได้จากเพศ สีผิว และภาษาที่พูด เด็กทารกระหว่าง 5-9 เดือนจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับเชื้อชาติจากประสบการณ์ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าเด็ก 3-5 ขวบไม่เพียงแค่แยกแยะคนได้จากเชื้อชาติ แต่จะแสดงออกอย่างมีอคติ การด่วนตัดสินคนอื่นอย่างไร้เหตุผลนี้ พ่อแม่ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้ และจำเป็นต้องเริ่มสอนตั้งแต่วัยเด็กก่อนที่ความคิดเห็นของลูกๆ จะก่อร่างสร้างตัวเต็มที่
ความอดทนอดกลั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในสังคมเราที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน กล่าวว่า สมัยนี้เด็กๆ จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายภูมิหลังและวัฒนธรรม รวมทั้งกับคนที่ไม่เหมือนหรือทำตัวไม่เหมือนกับตัวเอง การยกย่องในความหลากหลายไม่เพียงเป็นแค่การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แต่ยังจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถนำขั้นตอนต่อไปนี้ไปใช้สอนลูกๆ ให้เป็นเด็กที่เปิดใจกว้าง
✽ ยอมรับซะว่าลูกคุณแบ่งแยกสีผิว
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าหนึ่งความผิดพลาดใหญ่ของพ่อแม่คือการโมเมว่าลูกตัวเองไม่รู้เรื่องเชื้อชาติ ทั้งๆ ที่จริงแล้วเด็กรู้จักมันบ้าง
ยิ่งเด็กโตขึ้นพวกเขาจะมองหาความหมายของรูปลักษณ์ต่างๆ และหาคำตอบว่ารูปลักษณ์แบบไหนกันแน่ที่มีความสำคัญ เด็กๆ จะสังเกตและเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาจะเข้าใจถึงชุมชมที่แบ่งแยกตัวออกไป ยกตัวอย่างเช่น เมื่อขับรถผ่านย่านเยาวราช เด็กเตรียมอนุบาลอาจจะพูดว่า อ๋อ..นี่คือที่ที่คนจีนอยู่กัน
แนวโน้มที่เด็กๆ จะกำหนดคุณลักษณะโดยวัดจากเชื้อชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในโรงเรียนประถม ถ้าคุณครูทุกคนที่โรงเรียนของลูกเป็นคนผิวขาวหมด ในขณะที่คนผิวสีแค่ทำงานในโรงอาหาร หรือเป็นรปภ. ความไม่เสมอภาคก็จะไม่หายไปไหน เมื่อเด็กผิวสีอายุได้ 7 ปี พวกเขาจะเชื่อว่าคนผิวขาวมักจะได้ทำงานในตำแหน่งสูงๆ หรือเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียง ถ้าเราไม่เปลี่ยนทัศนคติของเด็กๆ ในขณะที่พวกยังเล็กๆ อยู่ พวกเขาก็จะด่วนสรุปไปในทางที่ผิดเยี่ยงนี้
มีคุณแม่ท่านหนึ่งรับเด็กสาวผิวสีมาเป็นลูกบุญธรรม วันหนึ่งลูกสาวถามแม่ว่าทำไมแม่ถึงขาวและตัวเธอถึงดำ แม่ตอบว่าลูกเป็นคนพิเศษและสวยก็ด้วยผิวของลูกเอง สองเดือนหลังจากนั้น ลูกสาวเล่าให้แม่ฟังว่ามีเพื่อนล้อว่าเธอดำเป็นถ่าน ลูกจึงตอบกลับไปว่า ไม่ใช่ พระเจ้าสร้างฉันให้สวย ฉันมันสีน้ำตาลเหมือนช็อกโกแลตต่างหาก คำตอบของลูกสาวส่อให้เห็นว่าลูกได้รับสาสน์จากแม่อย่างมีประสิทธิผล
✽ เริ่มพูดคุยกัน
แม้แต่เด็กเตรียมอนุบาลยังเห็นได้ว่าใครตัวใหญ่ตัวเล็ก ใครฉลองตรุษจีน ใครถือศีลอดในช่วงรอมฎอน ใครฉลาดกว่าใคร หรือขนาดเด็กปั๊มที่พูดไม่ชัด เด็กๆ ก็จะสังเกตมันได้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Cross-Cultural Psychologyเปิดเผยว่าพ่อแม่เกินครึ่งไม่เคย หรือแทบจะไม่เคยพูดคุยเรื่องเชื้อชาติกับลูกๆ แต่ยังมีพ่อแม่ผิวสีเป็นส่วนน้อยที่เตรียมตัวลูกให้พร้อมกับสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการอ่านวรรณกรรมเยาวชนอย่างเช่น Chocolate Me! หรือด้วยวิธีอื่นๆ
ถ้าคุณมีลูก 3-4 ขวบ พ่อแม่สามารถอธิบายว่าคนเราเกิดมามีหลายสีผิว หลายรูปร่าง และหลายขนาด แล้วถือแอปเปิลแดงกับเขียวให้ลูกดู จากนั้นก็บอกลูกว่ามันแตกต่างกันแค่ภายนอก แต่ภายในทั้งสองอย่างก็เป็นแอปเปิลเหมือนกัน แล้วค่อยหาโอกาสแสดงว่าพ่อแม่มีความเคารพและสำนึกในคุณค่าของความแตกต่างนี้ คุณอาจจะพูดกับลูกๆ ว่า ลูกดูเด็กผู้หญิงคนนั้นสิ ผมหยิกสวยจังเลย ลูกว่ามั้ย หรือ ลูกได้ยินมั้ยว่าเด็กผู้ชายคนนั้นพูดภาษาจีนกับคุณย่า และพูดภาษาไทยกับเพื่อนๆ แม่น่าจะพูดสองภาษาได้อย่างงั้นบ้าง คงจะเจ๋งน่าดูเลย
ถ้าลูกๆ ถามอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกอึดอัดใจ พยายามตอบคำถามให้สุดความสามารถด้วยการยึดหลักความเป็นจริง พ่อแม่ส่วนใหญ่ชอบหลีกเลี่ยงคำถามแบบนี้ ซึ่งมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรลูกเลย ลูกๆ ยังคงจะเห็นในสิ่งที่พวกเขาสงสัยอยู่วันยังค่ำ
ถ้าลูกคุณใช้นิ้วชี้ไปยังผู้หญิงร่างใหญ่คนหนึ่งแล้วถามว่า แม่ครับ ทำไมผู้หญิงคนนั้นถึงอ้วนจัง อันดับแรกคุณต้อง ชูวว์! เขา แล้วหยุดคิดหาเหตุผลตามความเป็นจริง จากนั้นจึงพูดประมาณว่า คนเราเกิดมามีหลายขนาด มีทั้งใหญ่และเล็ก บางคนก็สูงและบางคนก็ไม่สูง นั่นแหละที่ทำให้โลกน่าสนใจ
ถ้าลูกถามว่า ทำไมเด็กผู้หญิงคนนั้นถึงพูดไม่ชัด พ่อแม่ควรจะตอบว่า มันเรียกว่าสำเนียง ครอบครัวของเธอมาจากประเทศที่พูดภาษาอื่่น
✽ อธิบายเรื่องภาพจำเหมารวม (stereotypes) และการเหยียดชาติพันธุ์ (racism)
เด็กมีอคติต่อวัฒนธรรมอื่นบ้างแล้วตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ ไม่ต้องแปลกใจเลยถ้าลูกคุณจะได้ยินอะไรมาจากโรงเรียนแล้วพูดจาดูถูกดูแคลนคนอื่นและถามว่า ทำไมคนใต้ถึงใจดำ ทำไมคนบ้านนอกถึงโง่ หรือสร้างภาพในความคิดแบบเหมารวมด้วยการพูดว่า ทำไมคนจีนถึงรวย เมื่อเด็กพูดจาแบบนี้ ให้อธิบายว่าถึงแม้จะมีคนบางคนที่อาจจะเป็นไปตามฉลาก หรือคำบรรยายใต้ภาพ ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นอย่างนั้นเสมอไป นั่นถือเป็นเวลาเหมาะเจาะที่จะแนะนำให้เด็กรู้จักแนวคิดเรื่องการเหยียดสีผิว พ่อแม่สามารถพูดกับลูกๆ ว่า บางครั้งคนติดสินว่าทุกคนที่มีผิวคล้ำเป็นคนใจร้าย หรือคนที่ผิวไม่ขาวเป็นคนไม่ดี นั่นเป็นสิ่งที่ผิดและทำให้แม่เศร้า มันไม่ยุติธรรมที่จะไปตัดสินคนๆ หนึ่งโดยที่เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อน
พูดเรื่องภาพจำเหมารวมที่ลูกๆ เห็นในหนังหรือทีวี ซึ่งสิ่งนี้มีอยู่จริง ถ้าไม่เชื่อคุณพ่อคุณแม่ลองปิดเสียงการ์ตูนแล้วถามลูกว่าใครเป็นตัวดีตัวร้าย เด็กๆ จะรู้ทันควันเลยว่าใครเป็นใครจากรูปลักษณ์ ทางออกไม่ใช่การหยุดดูการ์ตูน แต่ให้มุ่งชี้ไปยังปัญหาที่คุณเห็นแล้วบอกลูกว่า น่าไม่อายที่ตัวละครที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานถูกวางภาพให้เป็นตัวร้าย แม่รู้จักคนตัวใหญ่ที่นิสัยน่ารักตั้งหลายคน พ่อแม่ควรซื่อสัตย์กับความจริงที่ว่าการเหยียดสีผิวยังคงมีอยู่ในโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายและการเหยียดชาติพันธุ์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มิลวอกี บอกว่า ถ้าคุณพูดถึงความไม่เสมอภาคในอดีตแล้วบอกลูกว่าเราแก้ไขมันได้แล้ว ตอนนี้คนเราเท่ากันหมดแล้ว มันอาจจะช่วยส่งเสริมความเชื่อเรื่องการด่วนตัดสินคนอื่นอย่างไร้เหตุผลของลูกๆ ได้ เพราะเด็กๆ จะมองความเหลื่อมล้ำที่หลงเหลืออยู่ว่าเป็นผลลัพธ์จากการที่คนรุ่นก่อนต้องตรากตรำทำการต่อสู้จนชนะ
✽ เป็นตัวอย่างที่ดี
ถ้าจะให้ลูกเป็นคนใจเปิดกว้างได้อย่างแท้จริง พ่อแม่จำเป็นต้องเป็นแบบอย่างที่ดี งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Child Development พิสูจน์ให้เห็นว่าปัจจัยเดียวที่จะลดการด่วนตัดสินผู้อื่นอย่างไร้สติของเด็กๆ ได้ คือการที่พ่อแม่มีเพื่อนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม หรือต่างวิถีทางเพศ ถ้าคุณสอนลูกว่าเราควรจะเป็นเพื่อนกับคนทุกประเภท แต่พ่อแม่ยังคบหาสมาคม หรือทานข้าวนอกบ้านแต่กับคนที่มีผิวพรรณหน้าตาเหมือนกับตัวลูก แล้วลูกจะคิดยังไง
ในขณะที่พ่อแม่ควรสอนลูกให้รู้จักความหลากหลาย พ่อแม่กำลังสื่อสารในสิ่งตรงกันข้ามให้กับลูกโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือไม่ คุณหัวเราะเมื่อมีคนเล่นมุขที่เหยียดชาติพันธ์หรือไม่ คุณเรียกคนที่ผิดแผกแตกต่างไปจากตัวเองว่าอะไร ที่สำคัญคุณมีความตั้งใจแค่ไหนที่จะบ่งชี้ในสิ่งที่คุณอดทนอดกลั้นไม่ได้เมื่อคุณเห็นมัน เด็กๆ เรียนรู้จากสิ่งที่พวกเขาเห็นมากว่าสิ่งที่เขาได้ยิน
✽ เปิดโอกาสให้ลูกได้ประสบกับความหลากหลาย (diversity) อย่างเป็นประจำ
มากกว่า 500 งานวิจัยที่ีตีพิมพ์ใน Journal of Personality and Social Psychology ค้นพบว่ายิ่งคนมีการติดต่อมากกับคนที่มีภูมิหลังแตกต่างจากตัวเอง พวกเขาจะยิ่งมีอคติน้อยลง ถ้าเป็นไปได้พ่อแม่ควรส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนที่มีความหลากหลาย เช่น โรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศที่สอนโดยเจ้าของภาษา โรงเรียนคริสต์ (แม้ไม่ใช่คริสต์ก็ตาม) หรือไปเรียนต่างประเทศถ้าพอจ่ายได้ แต่ถ้าคุณไม่พร้อมที่ให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนดังกล่าว ให้มองหากิจกรรมที่มีคนมากหน้าหลายตาเข้าร่วม เช่น เข้าสโมสรกีฬา ไปห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และสวนสาธารณะ ร่วมฉลองเทศกาลที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (กินเจ ฉลองคริสต์มาส ดูหนังในเทศกาลภาพยนตร์) หาหนังสือที่บรรยายให้เห็นภาพเด็กที่มีหลากหลายภูมิหลัง (Harry Potter, The Hunger Games) แสดงความสนใจในศาสนาและวัฒนธรรมอื่น (สอนให้ลูกรู้จักรอมฎอน ชมการแสดงพื้นบ้านหรือโชว์จากต่างประเทศ ทานอาหารปักษ์ใต้ อีสาน เหนือ หรืออาหารต่างชาติ) เสริมสร้างมิตรภาพกับคนที่แตกต่างจากตัวเอง ถ้าคุณอยากให้ลูกไม่มีปัญหาในการเสวนากับคนนานาชนิด คุณต้องพาลูกไปยังที่ที่ลูกจะเจอคนเหล่านั้น
ผศ.ชลาธิป ชาญชัยฤกษ์ รองผู้อำนวยสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความหมายของ political correctness ว่าเป็น ทัศนคติ นโยบาย หรือพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ เพศ สติปัญญา ความบกพร่องทางร่างกาย ฯลฯ โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำที่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว การปฎิบัติต่อคนทุกเชื้อชาติและภูมิหลังอย่างมีเกียรติไม่เพียงแค่ถูกวาทจรรยา (politically correct) แต่ยังเป็นความถูกต้องอันพึงกระทำ
ที่มา: นิตยสาร Parents; หนังสือพิมพ์มติชน
เรียบเรียงบทความโดย *ดอกจัน