ทำอย่างไร ไม่คิดน้อยใจ ไม่คิดสั้น ความน้อยอกน้อยใจ เป็นปัญหาทางอารมณ์ ที่สามารถเกิดได้กับทุกคน เป็นความรู้สึกในทำนองไม่พอใจที่ผู้อื่นมองไม่เห็นคุณค่า หรือ เห็นความสำคัญของตนเอง ทำให้ผู้ที่มีอาการเกิดความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจระคนกับความโกรธ อยากจะทำอะไรที่มันเป็นการประชดประชันผู้อื่น เช่น ไม่ยอมทำการงาน คิดอยากจะทำร้ายตัวเอง หรือ บางคนที่มีความน้อยใจรุนแรงก็อาจจะถึงกับฆ่าตัวตายได้ เครือข่ายชาวพุทธฯจึงขอเสนอ วิธีคิดป้องกันและแก้ไข ไม่ให้ความรู้สึกน้อยใจเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา ด้วยเทคนิคคิด ๔ วิธี ขอเชิญเลือกใช้ตามความถนัดเลยค่ะ ๑.ละอายใจ ให้บอกกับตัวเองว่า การที่เราชอบน้อยอกน้อยใจ นี่แสดงว่าจิตใจของเรายังเป็น เด็กอยู่ ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง คือคนเรานั้นถึงแม้จะมีอายุแก่เฒ่าสักปานใด แต่หากว่ายังเป็นคนที่ชอบน้อยอกน้อยใจ ก็ถือว่าคน ๆ นั้นยังมีนิสัยเป็นเด็กอยู่นั่นเอง การใช้วิธีล้อตัวเองให้เกิดความละอาย จนไม่กล้าน้อยใจ เป็นวิธีที่ได้ผลวิธีหนึ่งที่ช่วยเราได้ เช่น เราอาจจะล้อตัวเองให้อายว่า "น่าไม่อาย.. ตัวเป็นผู้ใหญ่ แต่ใจยังเด็ก" อะไรทำนองนี้ ล้อตัวเองให้จิตใจเกิดความละอาย มันจะได้ไม่กล้าน้อยใจ จากนั้นนิสัยนี้ก็จะค่อย ๆ เลิกไปเอง (ประยุกต์วิธีคิดมาจากหลักธรรมข้อ "หิริ" หรือความละอายใจต่อบาป ในพระไตรปิฎก) ๒.ภูมิใจ สร้างความภูมิใจในตนเองเข้าไว้ บอกกับตัวเองว่าเรานี่เป็นผู้ใหญ่แล้ว เราจะไม่ยอมไปน้อยอกน้อยใจอะไรให้ไร้มันสาระ ผู้ใหญ่ไม่ถือสาหาความเด็ก ๆ ฉันใด เราย่อมไม่ถือสาคนที่ทำให้เราน้อยใจแม้ฉันนั้น ความเป็นคนมีใจหนักแน่น และ เป็นมิตรกับทุก ๆ คน เช่นนี้ ถือว่าเป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่ที่น่าเคารพที่สุด ใครคิดได้เช่นนี้ ให้ยกมือไหว้ตัวเองได้เลยค่ะ ( ประยุกต์วิธีคิดมาจากหลักธรรมข้อ "คุรุ" ความมีใจที่หนักแน่น น่าเคารพ ในพระไตรปิฎก) ๓.เห็นใจ เห็นอกเห็นใจคนที่ทำให้เราน้อยใจ ด้วยจิตใจที่เมตตากรุณา ดูตัวอย่างพระพุทธองค์ที่ทรงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อมหาชนมาตลอดพระชนม์ชีพ แต่บางครั้งพระพุทธองค์ก็ถูกโจมตีว่าร้าย บางทีก็ถึงกับปองร้ายหมายชีวิต แต่ทว่าแทนที่พระพุทธองค์จะเกิดความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ ทรงกลับมีความกรุณาเมตตาสงสารบุคคลเหล่านั้นเช่นเดียวกับบิดารักบุตร ให้เราเอาแบบอย่างพระพุทธองค์ คือมีความเมตตาต่อผู้ที่ทำให้น้อยใจเหมือนบิดามารดารักบุตร ( ประยุกต์วิธีคิดมาจากหลักธรรมข้อ "เมตตาและกรุณา" ในพระไตรปิฎก ) ๔.เข้าใจ ให้คิดเสมอว่าการที่เรามามัวน้อยอกน้อยใจ แล้วเราจะเข้าใจความเป็นจริงได้อย่างไร ให้รวบรวมจิตใจให้หนักแน่นโดยอาศัยวิธีการจากข้อ ๑- ๓ เมื่อจิตใจมั่นคงดีแล้ว ให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองหาเหตุผลจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยไม่เอาอารมณ์ หรือความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปปะปน คือ ทำใจให้ว่าง วิเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยใจที่เป็นกลาง (อุเบกขา) มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนเห็นเหตุปัจจัยความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ (ประยุกต์วิธีคิดมาจากหลักธรรมข้อ "อนัตตา" ในพระไตรปิฎก) |