ท้องผูก ใครว่าไม่สำคัญ


โรคต่างๆ อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องผูกได้ ดังนี้
       
1.โรคของต่อมไร้ท่อและความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ เบาหวานที่มีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ แคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติ
       
2.การมีสิ่งกีดขวางในทางเดินอาหาร เช่น เนื้องอกในลำไส้ และลำไส้ตีบตัน
       
3.ผู้ป่วยที่นอนอยู่กับเตียง ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ผู้ป่วยโรคระบบประสาท
       
4.ยาบางชนิดทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง เช่น ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน ยารักษาอาการทางจิตบางอย่าง ยาลดกรดที่มีเกลืออลูมิเนียม
       
ผู้ที่มีอาการท้องผูกส่วนมากมักตรวจไม่พบสาเหตุ ในกลุ่มที่ตรวจไม่พบสาเหตุนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเกิดจากภาวะลำไส้แปรปรวน ประมาณ 1 ใน 3 เกิดจากการเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี ที่เหลือเกิดจากลำไส้เคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ
       
ภาวะลำไส้แปรปรวนเกิดจากลำไส้ทำงานไม่ปกติ บางครั้งเคลื่อนไหวมากไปก็ทำให้ท้องเสีย บางครั้งเคลื่อนไหวน้อยไปก็ทำให้ท้องผูก อาการมักเป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่น และอาจมีอาการปวดท้องหรืออึดอัดท้องร่วมด้วย ซึ่งจะดีขึ้นเมื่อถ่ายอุจจาระ การกินอาหารที่มีกากมากขึ้น กินยาที่กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ในทางเดินอาหาร หรือกินยาระบายจะช่วยบรรเทาอาการได้
       
ท้องผูกจากการเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี 1 ใน 3 ของผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายให้คลายตัวได้ขณะถ่ายอุจจาระทำให้เกิดอาการท้องผูก ผู้ป่วยมักต้องใช้เวลาเบ่งอุจจาระนาน บางครั้งนานกว่า 30 นาที ในรายที่เป็นมากจะไม่ตอบสนองต่อยาระบาย ต้องใช้วิธีสวนทวารช่วย การสอนให้ผู้ป่วยรู้จักเทคนิคการขับถ่ายที่ถูกวิธีโดยใช้เครื่องมือพิเศษที่แสดงการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย ช่วยให้ 60-70% ของผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
       
ท้องผูกจากการที่ลำไส้เคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ มักมีอาการท้องผูกเรื้อรังและต้องใช้ยาระบายเป็นประจำ ในรายที่มีอาการท้องผูกมากและใช้ยาระบายไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ทิ้งไป
       
วิธีดูแลตนเองเมื่อมีอาการท้องผูก
       
1.กินอาหารที่มีกากใยมากๆ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
       
2.ดื่มน้ำมากๆ ไม่ควรดื่มกาแฟและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้อุจจาระแห้ง
       
3.การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น
       
4.ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ลำไส้ใหญ่จะมีการเคลื่อนไหวทำให้เกิดความรู้สึกอยากถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง มักเกิดขึ้นหลังตื่นนอนและหลังอาหาร หากกลั้นอุจจาระไว้ในช่วงนั้น โอกาสที่จะรู้สึกอยากถ่ายในวันนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นอีก จึงควรถ่ายให้เป็นเวลา โดยเฉพาะหลังตื่นนอน
       
5.ไม่ควรทำอย่างอื่นขณะขับถ่าย เช่น อ่านหนังสือ กรณีที่เป็นส้วมชักโครก ควรนั่งโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อให้มีแรงเบ่งมากขึ้น
       
6.หากจำเป็นต้องใช้ยาระบายควรปรึกษาแพทย์ และเริ่มใช้ยาระบายที่ช่วยให้เกิดการขับถ่ายอย่างเป็นธรรมชาติและปลอดภัยก่อน โดยเฉพาะยาที่ช่วยในการดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระหรือลำไส้ หรือสารที่เพิ่มปริมาณกากอาหาร

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement