สูบบุหรี่มือสอง


อะไรคือการสูบบุหรี่มือสอง (Passive Smoking)
ในห้องที่มีผู้สูบบุหรี่ จะพบว่ามีควันบุหรี่เกิดขึ้นจาก 2 แหล่งด้วยกัน คือ
1. ควันบุหรี่ที่ผู้สูบสูดเข้าไปแล้วพ่นออกมา ซึ่งประกอบไปด้วยสารพิษต่างๆ เช่นเดียวกับที่ผู้สูบบุหรี่ได้รับ แต่จะมีความเข้มข้นของสารพิษลดลง เนื่องจากปอดของผู้สูบบุหรี่ได้ดูดซับสารพิษบางส่วนไว้แล้ว ได้แก่ นิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์ ทาร์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ แอมโมเนีย เบนโซไพรีน ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ แคดเมียม เป็นต้น

2. ควันบุหรี่จากปลายมวนบุหรี่ที่จุดทิ้งไว้ระหว่างการสูบ วึ่งมีความเข้มข้นของสารพิษมากขึ้น โดยพบว่า

นิโคตินมากขึ้นเป็น 2 เท่า แอมโมเนียมีมากขึ้นเป็น 73 เท่า
คาร์บอนมอนอกไซด์มากขึ้น 5 เท่า เบนโซไพรีนมีมากขึ้นเป็น 3 เท่า
ทาร์มีมากขึ้นเป็น 2 เท่า มีแคดเมียมมากขึ้น

เมื่อปี พ.ศ. 2536 สถาบันพิทัพษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ควันบุหรี่ภายในอาคารที่ผู้สูบบุหรี่พ่นออกมาและจุดทิ้งไว้ระหว่างการสูบจัดเป็นสารก่อมะเร็งกรุ๊ปเอ หรือชนิดที่ร้ายแรงที่สุด และเป็นมลพิษภายในอาคารที่สำคัญที่สุด เนื่องจากประกอบด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าจากแหล่งมลพิษอื่นๆภายในอาคาร

เมื่อผู้ไม่สูบบุหรี่ได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายโดยไม่ได้สูบเอง จึงเรียกว่าเป็นการสูบบุหรี่มือสอง โดยปริมาณควันบุหรี่ที่ผู้ไม่สูบได้รับจะขึ้นกับ
- จำนวนบุหรี่ที่มีการสูบในห้องนั้น
- ระยะเวลาที่อยู่ในห้องเดียวกัน
- ขนาดของห้องและการถ่ายเทอากาศของห้องนั้น



มีอะไรในควันบุหรี่
ในบุหรี่ 1 มวน เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด สารหลายร้อยชนิดมีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย และมี 42 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง สารพิษที่สำคัญในควันบุหรี่นอกจากสารก่อมะเร็งคือ
1. นิโคติน เป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดและทำให้เกิดโรคหัวใจ
2. ทาร์ ประกอบด้วยสารก่อมะเร็งหลายชนิด ร้อยละ 50 ของทาร์จะจับอยู่ที่ปอดทำให้แปรงขนอ่อนที่บุเยื่อบุหลอดลมไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
3. คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นก๊าซชนิดเดียวกับที่พ่นออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ ก๊าซนี้จะขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10-15 มีผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
4. ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นก๊าซพิษที่ใช้ในสงคราม ทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะและหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
5. ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่ทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลมทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง
6. แอมโมเนีย มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ
7. ไซยาไนด์ เป็นสารพิษที่ปกติใช้เป็นยาเบื่อหนู
8. สารกัมมันตภาพรังสีโพโลเนียม-210 ที่มีรังสีแอลฟาอยู่ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง
9. ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ เป็นสารที่ใช้ในการดองศพ

ควันบุหรี่ทำร้ายผู้ไม่สูบบุหรี่ได้อย่างไร
ผลในระยะสั้น
- เกิดการระคายเคืองต่อจมูก ตา คอ ปวดศรีษะ ไอ คลื่นไส้ เกิดความรู้สึกไม่สบาย
- ทำให้มีอาการกำเริบมากขึ้นในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืดและโรคปอดเรื้อรัง โดยจะมีอาการหายใจติดขัดหรือถึงขึ้นเหนื่อยหอบ
- ในผู้ได้รับควันบุหรี่ที่เป็นโรคหัวใจ จะทำให้เกิดอาการเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอมากขึ้น

ผลในระยะยาว
- ในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท การสูบบุหรี่ทุกๆ 20 มวน จะทำให้ผู้ไม่สูบบุหรี่ต้องหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปเป็นปริมาณเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน
- ผู้ไม่สูบบุหรี่ที่ต้องอยู่ในห้องทำงานหรือในสถานที่แออัดที่มีควันบุหรี่เป็นเวลานาน จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นจากคนทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 10-30
- ผู้ไม่สูบบุหรี่ที่อยู่ในห้องทำงานที่มีควันบุหรี่ประมาณครึ่งชั่วโมง จะมีปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ ในเลือดเท่ากับคนที่สูบบุหรี่เอง 1 มวน

นอกจากนี้การได้รับควันบุหรี่ยังมีผลต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ดังนี้
ในหญิงมีครรภ์และทารก
- ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ทารกแรกคลอดจะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ
- มีความเสี่ยงของการเสียชีวิตระหว่างคลอด หรือเกิดความพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น
- มีความเสี่ยงของอาการเกิดโรคไหลตายในเด็ก (SIDS) สูงขึ้น

ในเด็กเล็ก
- ทำให้เกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบและปอดบวมสูงกว่าเด็กทั่วไปและมีอัตราการเกิดโรคหืดเพิ่มขึ้น
- เกิดการติดเชื้อของหูส่วนกลาง
- ในระยะยาว เด็กที่ได้รับควันบุหรี่พัฒนาการของปอดจะน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่

ในผู้ใหญ่
- การได้รับควันบุหรี่ในปริมาณมากและนานพอสมควรจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งปอด ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยและประกาศจากหลายสถาบันด้วยกันคือ
     - รายงานของนายแพทย์ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา
     - สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา
     - สถาบันพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา
- จากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น พบว่า สตรีที่ไม่สูบบุหรี่ที่มีสามีสูบบุหรี่จัด (มากกว่าวันละ 20 มวน) จะมีความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งปอดสูงเป็น 2 เท่าของสตรีทั่วไป
- นักวิทยาศาสตร์ของเยอรมันได้ศึกษาพบว่า สตรีที่ไม่สูบบุหรี่ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด มีสามีสูบบุหรี่เป็น 3 เท่าของกลุ่มสตรีที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคนี้
- องค์กรรณรงค์ของประเทศแคนาดาได้รายงานว่า การได้รับควันบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด เป็นอันดับที่ 3 รองจากการสูบบุหรี่โดยตรงและการได้รับฝุ่นละอองจากการทำงาน
- จากการศึกษาทางการแพทย์ พบว่า การได้รับควันบุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในส่วนอื่นๆของร่างกาย ได้แก่ กล่องเสียง ช่องปาก หลอดอาหาร ไต และ กระเพาะปัสสาวะ
- ผู้หญิงที่ได้รับควันบุหรี่วันละ 3 ชั่วโมงขึ้นไป จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่ลำคอมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ 3 เท่า และมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งในส่วนอื่นๆมากกว่าคนปกติ 2 เท่า
- ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดสูงกว่าคนทั่วไป โดยพบว่าผู้หญิงที่สามีสูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการหัวใจขาดเลือดสูงกว่าหญิงที่สามีไม่สูบบุหรี่ 3.4 เท่า และจะตายเร็วกว่าหญิงที่สามีไม่สูบบุหรี่ 4 ปี

** เอาล่ะค่ะ ผู้สูบและไม่สูบบุหรี่ทุกคน หากคุณห่วงคนรอบข้าง กรุณาส่งหน้านี้ให้เพื่อนคุณอ่านด้วยนะจ๊ะ ผู้หญิงนะคะดอทคอม จะขอบคุณเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ อิอิ


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม หรืออยากเลิกบุหรี่
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สุบบุหรี่
www.ashthailand.or.th
www.smokefreezone.or.th

ร่วมสร้างสรรค์สังคมไม่สูบบุหรี่เพื่อตัวคุณเองและคนรอบข้าง....Pooyingnaka.com ร่วมสนับสนุนค่ะ


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement