รู้ไว้ใช่ว่า -- ทิชชู


คำสั้น ๆ คำนี้มีความเกี่ยวพันธ์กับชีวิตประจำวันเรามากมาย ตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน ตั้งแต่ห้องส้วมถึงห้องอาหาร ตั้งแต่ใบหน้ายันปลายเท้า ก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับกระดาษทิชชูทั้งนั้น ลองคิดกันดูเล่น ๆ ว่า ถ้าพรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาเราไม่มีกระดาษทิชชูใช้ อะไรจะเกิดขึ้น ???

เมื่อเรารู้อยู่ว่าทิชชูมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของเราขนาดนี้ แล้วเรารู้หรือไม่ว่ากระดาษทิชชูแต่ละชนิดใช้กันยังไง ทำไมต้องมีหลายแบบ ใช้แบบเดียวได้หรือไม่ " คนไทยต้องถือว่าเป็นชาติที่ประยุกต์การใช้กระดาษทิชชูนี้ได้มากที่สุด เพราะไม่ว่าจะใช้กับส่วนไหน เช็ดอะไร ก็ใช้กระดาษม้วนหรือที่เราเรียกกันว่ากระดาษชำระทั้งสิ้น" สิ่งเหลานี้คงไม่เป็นประเด็นสำคัญนัก ถ้ามันไม่ทำให้เราสิ้นเปลืองกว่าปกติทั้งตัวกระดาษและผลที่ตามมา


กระดาษทิชชู น่าจะแบ่งกันง่าย ๆ เป็น 4 แบบ โดยมีรูปแบบและวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ต่างกัน อันดับแรกคือกระดาษชำระ (bathroom tissue) เป็นกระดาษทิชชูแบบม้วนที่เราเห็นกันประจำวัน อยู่ในห้องน้ำเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็อยู่ในกล่องกลม ๆ พลาสติกบนโต๊ะอาหาร กระดาษชำระนี้มีหน้าที่ในการนำมาชำระส่วนขับถ่ายของเรา หรือชาวบ้านเรียกว่ากระดาษเช็ดก้น คุณสมบัติของมันก็คือจะต้องนุ่มพอสมควรและสำคัญที่สุดต้องย่อยสลายน้ำได้ดี เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังคุ้นเคยกับการทิ้งกระดาษชำระลงไปในส้วมหรือชักโครกหลังจากที่เราใช้

กระดาษเช็ดหน้า (facial tissue) เป็นกระดาษอีกชนิดหนึ่งที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ตามบ้าน มีลักษณะเป็นแผ่น ๆ อยู่ในกล่องกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าหน้าที่ของมันคือใช้เช็ดหน้า ไม่ว่าเช็ดเครื่องสำอางหรือเช็ดน้ำหลังจากล้างหน้า คุณสมบัติของมันก็คือจะต้องนุ่ม ไม่มีฝุ่น และต้องเหนียวพอที่จะไม่ยุ่ยง่ายถ้าโดนน้ำ

กระดาษเช็ดปาก (napkin) โดยทั่วไปเราจะไม่พบในบ้าน ที่ที่พบบ่อยคือร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม เป็นต้น โดยทั่วไปจะมี 3 แบบ หนึ่งคือ dinner napkin กระดาษเช็ดปากสำหรับอาหารเย็น คือวัฒนธรรมตะวันตก เวลาทางอาหารจะต้องมีผ้ากันเปื้อน ซึ่งผ้านี้จะเรียกว่า napkin คราวนี้เมื่อคนเริ่มต้องการความสะดวกก็เลยเปลี่ยนเป็นกระดาษแทน ซึ่งกระดาษตัวนี้จะหนา และ เมื่อคลี่แล้วไม่ต่ำกว่า 14 นิ้วขึ้นไป อีกตัวหนึ่งคือ cocktail napkin โดยมากจะใช้พันแก้ว cocktail หรือนำมาเช็ดปาก คลี่ออกมาแล้วประมาณ 12 นิ้ว ตัวสุดท้ายก็คือ mini napkin หรือกระดาษเช็ดปากแผ่นจิ๋ว โดยทั่วไปมักจะพบใน food center หรือ ร้านอาหารเล็ก ๆ จะมีสองสีคือสีขาวกับสีชมพู คุณสมบัติก็คือต้องเหนียวและไม่ยุ่ยน้ำ

แบบสุดท้ายก็คือกระดาษเช็ดมือ (hand towel) เราแทบจะไม่มีโอกาสเห็นเจ้ากระดาษนี้เลย ถ้าไม่เข้าไปใช้ห้องนำสาธารณะ และที่แห่งนั้นต้องดีและพร้อมที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายตัวนี้ โดยมากก็น่าจะเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวขึ้นไป ส่วนใหญ่จะถูกบรรจุในกล่องติดผนังข้าง ๆ อ่างล้างมือ เมื่อชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเช็ดมือ คุณสมบัติของมันก็จะต้องเหนียว ไม่ยุ่ยน้ำและซึมซับดี ไม่เน้นที่นุ่ม

อีกตัวหนึ่งที่ควรจะกล่าวถึงแม้จะมีการใช้ไม่มากนักก็คือกระดาษเอนกประสงค์ (kitchen towel) หน้าตาของมันก็จะเหมือนกับกระดาษชำระ 2 ม้วนต่อกัน และกระดาษจะหนากว่า มักใช้กันในครัวเพื่อเช็ดสิ่งต่าง ๆ หรือซับน้ำมันจากการทอด เป็นต้น

เป็นยังไงบ้างครับ แค่ไอ้กระดาษทิชชูนี่ ทำไมมันต้องมีมากมายขนาดนั้น "ชั้นก็ใช้ของชั้นอย่างนี้ มาตั้งนานแล้วไม่เห็นจะเป็นไรเลย" คุณอาจจะค้านอยู่ในใจอย่างนั้น

ได้เกริ่นเอาไว้แต่ต้นแล้วว่า คนไทยเป็นชาติที่ประยุกต์การใช้กระดาษทิชชูมากที่สุดชาติหนึ่ง เพราะเราคงไม่เถียงว่า ไม่ว่ากรณีไหนก็ตามเราจะนำกระดาษม้วนหรือที่เรียกว่ากระดาษชำระมาใช้แทนทุกที เช่น ชำระ เช็ดหน้า เช็ดปาก เช็ดมือ ซับมัน จริงอยู่การใช้แบบนี้มันก็ครอบคลุมจักรวาล ง่ายต่อการซื้อ และประหยัด(ในความรู้สึกของเรา) เพราะกระดาษชำระจะมีราคาต่ำกว่า แต่การใช้งานผิดประเภทนั้น สิ่งหนึ่งที่จะตามมาก็คือคุณจะมีต้นทุนแฝงที่คุณไม่รู้ และในที่สุดก็กลายเป็นว่าแพงกว่า ยกตัวอย่างเช่น

การที่คุณนำกระดาษชำระมาเช็ดหน้า กระดาษก็จะยุ่ย ติดหน้า และคุณก็ต้องใช้จำนวนแผ่นที่มากกว่า ถ้าคุณใช้กระดาษเช็ดหน้าอาจจะใช้ 1 แผ่น แต่ถ้าใช้กระดาษชำระอาจจะใช้ 5-6 แผ่น หรือ 1-2 ฟุต ในทางกลับกัน การที่คุณนำกระดาษเช็ดหน้าที่นุ่มกว่า มาใช้ชำระ ก็จะทำให้ส้วมตัน เพราะกระดาษเช็ดหน้าไม่มีคุณสมบัติที่ย่อยน้ำ สุดท้ายคุณก็ต้องเรียกช่างมาลอกท่อ เป็นต้น

ผมมีวิธีง่าย ๆ ในการทดสอบดูว่า กระดาษไหนย่อยน้ำ หรือกระดาษไหนไม่ย่อยน้ำ โดยที่คุณน้ำกระดาษที่คุณต้องการทดสอบมาแช่ลงไปในแก้วน้ำที่มีน้ำอยู่ค่อนแก้ว แล้วคุณนำตะเกียบหรืออะไรก็ได้ที่เป็นแท่งแข็งมาคนหรือแกว่งไปมาซักพัก ถ้ากระดาษที่ย่อยน้ำก็จะยุ่ยจนน้ำที่ใสจะกลายเป็นคล้าย ๆ น้ำมะพร้าว แต่ถ้ากระดาษไม่ย่อยน้ำ ก็จะยังคงมีสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าคุณจะคนทั้งวันก็เหอะ

อีกสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนไม่สำคัญในสายตาของคนไทย ก็คือการที่เรานำกระดาษชำระใส่กระป๋องพลาสติกหรือไม่ใส่ แล้วไปวางไว้บนโต็ะอาหาร เพื่อไว้เช็ดปาก คงไม่มีปัญหาถ้าคุณใช้ในบ้าน แต่ถ้าคุณต้องต้อนรับเพื่อนต่างชาติ หรือเป็นภัตตาคารที่มีระดับพอสมควร คนต่างชาติที่มารับประทานอาหารคงรู้สึกกระอักกระอ่วนถ้ามีกระดาษชำระวางอยู่หน้าจานอาหาร ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรามีน้ำใจดี ด้วยใจที่ต้องการบริการ ดึงกระดาษชำระแล้วส่งให้คนต่างชาติรายนั้น เขาจะรู้สึกอย่างไร คนไทยมีวัฒนธรรมที่ดีในการให้บริการ แต่กระดาษทิชชูเป็นกระดาษที่วิวัฒนาการจากชาติตะวันตก เราควรจะปรับความมีน้ำใจให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ที่วิวัฒนาการจากเขาด้วย

"การใช้งานอย่างถูกต้อง นำไปสู่ความไม่สูญเสีย ความไม่สูญเสียก็นำไปสู่ความประหยัด ความประหยัดก็นำไปสู่ความมีอันจะกิน" ใครจะไปรู้ได้ว่าแค่การใช้กระดาษทิชชูอย่างถูกต้อง อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราหลุดพ้นจากความเป็นทาส IMF ได้

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement