นมแม่


ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
สารอาหารในนมแม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างเหมาะสมตามอายุลูก ไขมันในนมแม่ ที่จะไปห่อหุ้มเส้นใยประสาทในสมองเด็กที่กำลังเพิ่มการเชื่อมโยงการทำงานอย่างรวดเร็ว  เพื่อให้การทำงานของสมองเด็กสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  โปรตีนในนมแม่ ช่วยลดโอกาสการเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็ก  สารต้านการอักเสบในนมแม่  ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ และไม่สบายของเด็ก 
 สัญชาตญาณความเป็นแม่ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มระดับของฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin ) ในตัวแม่ขณะที่ลูกกำลังดูดนมจากอกแม่ ซึ่งเด็กจะรู้สึกได้ถึงความรู้สึกอ่อนโยน ทำให้เด็กอารมณ์ดี และเป็นสุข
 ขณะที่ลูกดูดนมจากอกแม่  ลูกจะสบตาแม่ เป็นการสื่อสารสำคัญที่ถ่ายทอดผ่านการมองเห็นในระยะที่เหมาะสม  มือลูกจะสัมผัสกับผิวแม่  จมูกลูกจะได้กลิ่นกายแม่  ลิ้นของลูกจะได้รับรสน้ำนมแม่ ร่วมกับความรู้สึกอิ่ม  สบาย และผ่อนคลาย  หูของลูกจะได้ยินเสียงที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว  ประสาทสัมผัสทุกส่วนของเด็กจงถูกกระตุ้นให้เกิดการทำงาน 
 ลดโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมในแม่ 

สิ่งที่คุณแม่ควรรู้เมื่อจะให้นมลูก
  แม่ทุกคนมีปริมานน้ำนมมากพอที่จะเลี้ยงลูก อย่ากังวลหากแม่บีบน้ำนมแม่ไม่ออกใน ๒ - ๓ วันแรกหลังคลอด  เพราะในระยะนี้ น้ำนมแม่ยังมีปริมาณไม่มากนัก 
 อดทนต่อความเหนื่อยที่ให้ลูกดูดนมทุก ๒- ๓ ชั่วโมง  อดทนต่ออาการเจ็บหรือเสียวมดลูกขณะลูกกำลังดูดนม เพราะ ฮอร์โมนออกซิโตซิน ที่ช่วยเพิ่มสัญชาตญานความเป็นแม่ จะส่งผลทำให้มดลูกหดตัว
  เทคนิคสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  คือให้ลูก ดูดเร็ว คือดูดทันทีในห้องคลอด   ดูดบ่อย ทุก ๒ - ๓ ชั่วโมง   ดูดถูกวิธี คือปากลูกงับให้ถึงลานนม สังเกตได้จากปากลูกจะบาน คางลูกแนบหน้าอกแม่ ดั้งจมูกชิด หรือเกือบชิดหน้าอกแม่
 เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ๖ เดือนแรก ไม่ต้องกินน้ำ หรืออาหารอื่น เพราะในนมแม่มีน้ำเป็นจำนวนมากพอที่เด็กต้องการ  และการให้เด็กกินน้ำหลังจากกินนมแม่ น้ำจะไปล้างสารต้านการอักเสบที่ลูกได้รับจากการกินนมแม่ที่เคลือบในปากลูกหลังจากลูกกินนมแม่
 หลัง 6 เดือนให้นมแม่ร่วมกับน้ำ และอาหารอื่นที่เหมาะสมตามวัย จนลูกอายุ ๒ ปี หรือ นานกว่านั้น 
 ไม่จำเป็นต้องเช็ดถู ทำความสะอาดหัวนมก่อนให้ลูกดูดนมแม่ 
 ขณะตั้งครรภ์  ควรดูว่าหัวนมตนเองมีขนาดสั้น ยาว หรือใหญ่กว่าปกติ (ความยาวหัวนมปกติ คือ 0.5 1 เซนติเมตร) หรือไม่ จะได้แก้ไขขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ลูกดูดนมแม่ได้ง่ายหลังคลอด
 แม่ที่ติดเชื้อ HIV ไม่ควรให้ลูกกินนมแม่  เพื่อลดโอกาสการผ่านเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก
  การใช้มือบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูก ดีกว่าใช้เครื่องปั๊มนม  เพราะนอกจากจะสะดวก และประหยัดแล้ว การบีบน้ำนมด้วยมือยังทำให้ได้ปริมาณน้ำนมที่มากกว่าการใช้เครื่องปั๊ม
 แม่ที่ให้ลูกดูดนมแม่จะมีรูปร่างและน้ำหนักกลับมาเป็นปกติเหมือนตอนก่อนท้อง เมื่อลูกอายุประมาณ ๖ เดือน 

ข้อควรระวังเมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
 คุณแม่มือใหม่หลายท่านมักเป็นห่วงกลัวลูกไม่อิ่ม ดังนั้นเมื่อลูกตื่นหรือร้องจะคอยเอาลูกมาอุ้ม และให้กินนมแม่โดยลืมปล่อยลูกวางไว้กับเบาะเพื่อให้ฝึกคืบ หรือพลิกคว่ำพลิกหงาย  รวมถึงไม่ได้ฝึกให้ลูกคว้าของ จับของ หรือสิ่งต่างๆรอบตัว 
 คุณแม่ที่ให้ลูกดูดนมแม่ แล้วพบว่าต่อมา เกิดมีแผลที่หัวนม ให้ระวังว่าจะเกิดจากการให้ลูดดูดนมโดยปากลูกงับไม่ถึงลานนม ทำให้เกิดการเสียดสีของเหงือกลูก กับผิวหนังที่นมแม่ วิธีแก้ คือ ประคองคอลูก แล้วส่งศีรษะลูกมาให้ชิดกับหน้าอกแม่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ปากลูกงับลานนม สำหรับผิวหนังแม่ที่เป็นแผลไปแล้วนั้น รักษาโดยเอาน้ำนมแม่มาป้ายที่แผล แล้วผึ่งให้แห้ง ทำซ้ำได้เป็นระยะ จนกว่าแผลจะหาย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาทา หรือ ยากินแก้อักเสบ

ข้อบ่งชี้ลูกได้นมแม่พอ
 ลูกดูดนมแม่ทุกครั้งตามต้องการ แต่ละมื้อไม่ควรห่างเกิน 3 ชั่วโมง ในระยะ 3 เดือนแรกเกิด
 ดูดให้เกลี้ยงเต้าทีละข้าง คือ เต้านมแม่นุ่มลงจึงเปลี่ยนข้าง
 ปัสสาวะใสสีเหลืองอ่อนมากกว่า 6-8 ครั้ง/วัน กรณีได้นมแม่อย่างเดียว
 อุจจาระนุ่มสีเหลืองทอง 3-5 ครั้ง/วัน หรือ 10 กว่าครั้ง/วัน ในระยะ 2-3 สัปดาห์แรกเกิด
 น้ำหนักขึ้น 150-200 กรัม/สัปดาห์ หรือ 500 กรัม - 1 กิโลกรัม/เดือน ในระยะ 6 เดือนแรกเกิด





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement