การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย...ภัยคุกคามสุขภาพหญิงไทย
ในประเทศไทยยังไม่มีการรวบรวมสถิติจำนวนการบาดเจ็บ พิการและการเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย แต่มีการศึกษาเชิงลึกในโรงพยาบาลรัฐจำนวน 5 แห่ง เมื่อปี 2536 พบว่า
ผู้หญิงจำนวน 968 คน ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งและมารับการรักษาตัว ต้องเผชิญกับอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น ตกเลือดอย่างหนัก บาดทะยัก การติดเชื้อเข้ากระแสโลหิต การอักเสบของอุ้งเชิงกราน ภาวะแทรกซ้อนในปอด ภาวะไตวาย เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดเป็นต้น
ในจำนวนนี้มีอยู่ 22 คน ต้องตัดมดลูกทิ้งเนื่องจากติดเชื้อร้ายแรงและเต็มไปด้วยบาดแผล จำนวน 104 ราย จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือด และอีก 13 คนเสียชีวิต โรงพยาบาลทั้ง 5 แห่งต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 2 ล้านบาทในการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับผู้หญิงจำนวน 195 คน ที่ได้รับการทำแท้งที่ถูกหลักการแพทย์และถูกกฎหมายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลช่วงเวลาเดียวกัน พบว่าไม่มีผู้ใดเสียชีวิตหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนเลย
ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับการศึกษาของสถาบัน The Alan Guttmacher Institute ซึ่งพบว่าในประเทศที่การทำแท้งเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ผู้หญิงมักได้รับบริการทำแท้งตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย และเป็นบริการที่ถูกหลักการแพทย์ ให้บริการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โอกาสที่ผู้หญิงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งหรือเสียชีวิตจากการทำแท้งจะมีน้อยมาก แต่ในประเทศที่การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การทำแท้งมักให้บริการโดยผู้ไม่มีความรู้ ความชำนาญ เป็นบริการที่ไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามหลักการแพทย์และได้นำไปสู่อัตราการบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิตจากการทำแท้ง
อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยของการทำแท้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานะทางกฎหมายเท่านั้น เพราะแม้กฎหมายจะอนุญาตให้มีการทำแท้งได้โดยมีเงื่อนไขน้อยที่สุดแล้วก็ตาม ปัจจัยอื่นๆยังคงเข้ามาเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของการทำแท้ง เช่น ไม่มีการจัดบริการทำแท้งที่ปลอดภัยแก่ประชา-ชน การกำหนดให้ต้องมีการเซ็นชื่อยินยอมจากสามีหรือผู้ปกครอง การผ่านคณะกรรมการให้คำปรึกษาก่อนทำแท้ง การกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าสม-ควรได้รับการทำแท้ง รวมถึงค่าใช้จ่ายของการทำแท้งที่สูงเกินไป ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้หญิงหันไปหาบริการที่ไม่ได้มาตรฐานหรือผิดกฎหมาย หรือหากผู้หญิงต้องผ่านกระบวนการที่ยุ่งยากในการขอรับบริการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย โอกาสที่ผู้หญิงจะได้รับบริการทำแท้งโดยเร็วที่สุด ในช่วงที่อายุครรภ์ไม่มาก ก็จะลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบมหาศาลต่อชีวิตและความปลอดภัยของผู้หญิง
การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยภัยคุกคามสุขภาพผู้หญิง
การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย หมายถึง การทำแท้งโดยผู้ที่ไม่มีความชำนาญทางการแพทย์ ใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สะอาด และการทำแท้งในอายุครรภ์ที่มากเกิน3 เดือน ยกเว้นกรณีที่ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำในสถานพยาบาลที่มีอุปกรณ์ครบครัน
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ต้องการให้มีการทำแท้งเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำแท้งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีมานานแล้วและไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ทุกประเทศในโลกล้วนมีการทำแท้งและต่างพยายามลดจำนวนการทำแท้งที่เกิดขึ้น
วิธีการลดจำนวนการทำแท้งของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับมุมมองของคนในสังคม และบริบททางสังคมวัฒนธรรม และทั้งความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการลดอัตราการทำแท้งในทุกประเทศ ก็ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับมุมมองที่ผู้กำหนดนโยบาย และผู้คนในสังคมมีต่อปัญหานี้ทั้งสิ้น
สถานการณ์ปัญหาการทำแท้งในปัจจุบัน-อัตราการทำแท้ง
อัตราการทำแท้งมีความเกี่ยวข้องกับอัตราการตั้งท้องที่ไม่ได้วางแผนอย่างมาก ถ้าอัตราการตั้งท้องที่ไม่ได้วางแผนมีสูง อัตราการทำแท้งมักจะสูงตามไปด้วย
การสำรวจระดับชุมชนในปี พ.ศ.2544 โดยสภาประชากรพบว่า ในจำนวนท้องทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชุมชน มีการตั้งท้องที่ไม่ได้วางแผนอยู่ถึงร้อยละ 45 และมีอัตราการแท้งโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 8 แต่ถ้าเป็นการตั้งท้องที่ไม่ได้วางแผน อัตราการทำแท้งจะพุ่งสูงอีกเท่าตัว คือร้อยละ 16 และถ้าผู้ที่ตั้งท้องนั้นมีปัญหาเศรษฐกิจด้วยแล้วอัตราการทำแท้งจะสูงถึงร้อยละ 19
สาเหตุของการทำแท้ง
ผลการสำรวจของกรมอนามัยเมื่อปี 2542 พบว่าการทำแท้งเกิดขึ้นเพราะปัญหาเศรษฐกิจและสังคมร้อยละ 60.2 ตัวอ่อนในครรภ์มีความผิดปกติร้ายแรงร้อยละ 15.4 ทารกตายในครรภ์ร้อยละ13.5 ปัญหาสุขภาพของผู้หญิงร้อยละ 7.8 ที่เหลืออีกร้อยละ 3.1 เป็นเรื่องของการติดเชื้อเอชไอวี ถูกข่มขืน และติดเชื้อหัดเยอรมัน
ใครทำแท้ง
มีความเข้าใจกันมานานแล้วว่าผู้หญิงที่ทำแท้งมักเป็นวัยรุ่นหรือไม่ก็ผู้หญิงโสด แต่ข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดเมื่อปี 2545 พบว่า
ผู้ที่ทำแท้งอยู่ในกลุ่มอายุ 20-29 ปี ถึงร้อยละ 56
อายุ 30-39 ปี ร้อยละ 22
อายุ 13-19 ปี ร้อยละ 18
และอายุ 40 ปีขึ้นไปร้อยละ 4 โดยส่วนใหญ่เป็นคนมีคู่
ผลกระทบจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
เนื่องจากการทำแท้งในสังคมไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากสาเหตุนี้จึงต้องเสี่ยงชีวิตและสุขภาพกับการบริการทำแท้งที่ไม่แน่ชัดว่าแพทย์หรือใครเป็นผู้ทำให้และใช้วิธีการอะไร
จากการสำรวจของกรมอนามัยพบว่าในปี 2542 มีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐเนื่องมาจากการทำแท้งและการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยมากถึง 45,990 คน มีรายละเอียดดังนี้
***อายุครรภ์เฉลี่ยทำแท้งคือประมาณ 13 สัปดาห์ (การทำแท้งภายใน 12 สัปดาห์แรกจะปลอดภัยมากที่สุด)
***วิธีการทำแท้งที่ใช้ ได้แก่ การสอดอุปกรณ์ของแข็งหรือฉีดของเหลวเข้าทางช่องคลอด ซึ่งพบถึงร้อยละ 46.9
ร้อยละ 13.6 เป็นการเหน็บยาทางช่องคลอด
ร้อยละ 11.6 รับประทานยาเม็ด
และร้อยละ 11 บีบนวดบริเวณหน้าท้อง ซึ่งล้วนเป็นวิธีที่เสี่ยงต่ออันตรายและการติดเชื้อทั้งสิ้น
***ร้อยละ 28.8 ของผู้ที่ทำแท้งมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้แก่ การติดเชื้อและมดลูกทะลุ
***มีผู้เสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยร้อยละ 0.3
ข้อมูลนี้เรียกได้ว่าเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเพราะยังไม่รวมข้อมูลจากสถานพยาบาลของเอกชน...อาการแทรกซ้อนเล็กน้อยที่ไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ตลอดจนข้อมูลการตายและการบาดเจ็บที่ไม่ได้ถูกจดนับว่ามาจากการทำแท้งที่ไม่ปลอด-ภัย สรุปได้ว่า จำนวนผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยมีมากกว่าที่เราศึกษารวบรวมได้ในปัจจุบัน
ปัจจัยช่วยลดการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
ผู้หญิงที่ท้องเมื่อไม่พร้อมไม่ได้ต้องการทำแท้งทุกคน มีการวิจัยไปสอบถาม
ผู้หญิงที่เผชิญปัญหาท้องเมื่อไม่พร้อมว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง สรุปได้ดังนี้
*การบริการให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆโดยผู้ให้คำปรึกษาต้องผ่านการฝึกฝนให้สามารถอธิบายข้อมูลอย่างรอบด้าน มีจริยธรรมในการให้คำปรึกษาและรักษาความลับและต้องเคารพการตัดสินใจของผู้ประสบปัญหา
*บ้านพักสำหรับผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องเมื่อไม่พร้อม เพื่อเป็นที่พักพิงระหว่างรอคลอด
*การบริการดูแลเด็กในระหว่างที่แม่ไปทำงาน ในกรณีผู้หญิงเลี้ยงลูกตามลำพัง
*การบริการจัดหาครอบครัวบุญ-ธรรมให้เด็กในกรณีที่แม่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ด้วยตัวเอง
*กำหนด ระเบียบที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องเพราะถูกข่มขืนเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
*การบริการทำแท้งที่ปลอดภัย
การกำหนดให้การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เพราะแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญไม่สามารถเป็นผู้ให้บริการนี้ได้ ผู้หญิงจึงหาวิธีทำแท้งเอง หรือพึ่งพา หมอเถื่อน นอกจากนี้ การบริการทำแท้งที่มีราคาแพงมาก การบริการอยู่ในสถานพยาบาล ที่ต้องเดินทางไกลกว่าจะไปถึง หรือมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อน ต้องกรอกเอกสารต่าง ๆมากมายกว่าจะได้รับการบริการ
ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยได้เช่นกัน ในหลายประเทศทั่วโลก ผู้หญิงที่สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยจึงมักได้แก่ ผู้หญิงที่มีฐานะพอที่จะจ่ายค่าบริการให้แก่แพทย์เอกชนเท่านั้น
ข้อมูลจากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส)
**บทความนี้อยากให้ได้อ่านกันเพื่อความเข้าใจ แม้จะไม่ละเอียดมากนัก แต่จะหาข้อมูลที่ละเอียดกว่านี้มาให้ได้อ่านกันค่ะ