เกมชีวิตที่ถูกลิขิต? REALITY SHOW


SMS ที่วิ่งหน้าจอ เพื่อให้คนทางบ้านได้สนุกสนานกับการตัดสินอนาคตของคนอื่น กับรายการที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการชม ด้วยการติดตามชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งอย่างเข้มข้น หรือที่รู้จักกันว่า เรียลิตี้โชว์ (Reality Show) รายการโทรทัศน์รูปแบบหนึ่งที่กำลังมาแรงเป็นที่นิยมของคนดู และผู้ผลิตสื่อมากที่สุดในขณะนี้ และถือได้ว่าเป็นจุดขายที่ดีเลยทีเดียว  ทั้งในแง่ของคนดูและเอเยนซี่โฆษณาสำหรับรายการโทรทัศน์รูปแบบนี้ 

แต่ช่วงที่ผ่านมา หลายต่อหลายคนต่างเริ่มตั้งข้อสังเกตต่อสิ่งหนึ่งที่สะดุดตา สะดุดคนทั้งประเทศ ว่ารายการประเภทนี้ให้สาระอะไรแก่เราบ้าง และจะมีใครกำหนดหรือเขียนบทให้ผู้เข้าแข่งขัน จนทำให้มันหลุดจากนิยามของความเป็นรายการเรียลิตี้โชว์ ที่เน้นเสนอการใช้ชีวิตจริงโดยไม่มีใครลิขิตหรือไม่

ผุดเรียลิตี้โชว์ บนโลก
รายการเรียลิตี้โชว์ มีขึ้นมากว่าหลายสิบปีแล้ว โดยรายการแรกของโลก คือ An American Family แพร่ภาพในอเมริกาเมื่อปีค.ศ. 1973 เป็นเรื่องราวของครอบครัวชาวอเมริกัน  ที่มีลูก 5 คน เก็บภาพเป็นเวลา 7 เดือน เรื่องมีตั้งแต่การทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นหย่าร้างกัน

จากนั้นตามมาด้วย The Real World เป็นการนำคนแปลกหน้า 7 คนมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การทะเลาะกันของสมาชิก 2 คนในบ้าน คือ ระหว่างเกย์ที่ถูกเปิดเผยว่าติดเชื้อ HIV กับพนักงานส่งเอกสารนิสัยก้าวร้าว ช่วยสร้างเรตติ้งกระฉูดให้รายการอย่างมาก

จากการวิจัยของ Nielsen Media Research ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่ารายการเช่นนี้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 56 ของรายการโชว์ทางโทรทัศน์ของอเมริกา (ทั้งรายการทางเคเบิลทีวี และรายการจากสถานีโทรทัศน์ปกติ) และยังมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 69 ของรายการโชว์ทางโทรทัศน์ทั่วโลก (ทั้งรายการทางเคเบิลทีวี และรายการจากสถานีโทรทัศน์ปกติ)

แรกเริ่มเข้าสู่ไทย
สำหรับเมืองไทย เรียลิตี้โชว์ รายการแรก คือ เกมชีวิต เริ่มในปีพ.ศ. 2544 โดยเปิดให้ผู้เข้าแข่งขันเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่กำหนดมาให้ 1 ปีหลังจากนั้น เกมคนจริง Survivor ก็เข้ามา โดยเสนอเรื่องราวของผู้แข่งขันกับเกมโหดต่างๆ ตามมาด้วย The Star ค้นฟ้าคว้าดาว ในปีถัดมา ซึ่งเป็นการควานหานักร้องจากทั่วประเทศกว่า 4 เดือน โดยต้องผ่านการวิจารณ์อย่างสุดหินจากคณะกรรมการก่อนและจึงร่วมให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน โดยโหวตทาง SMS 

จนปีพ.ศ. 2547 Academy Fantasia ก็เกิดขึ้น เป็นรายการที่ผู้ชมเหมือนถ้ำมองชีวิตคนอื่น ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง รายการนี้ได้กระแสผลตอบรับเป็นอย่างดีและสร้างปรากฏการณ์ SMS ถล่มทลายจากคนดู จนมาปีพ.ศ. 2548 ก็เกิดรายการอีกมากมาย เช่น Thailand’s Next Top Model เรียลิตี้โชว์ เพื่อการเฟ้นหานางแบบ, Big Brother การนำคนแปลกหน้าหลายชีวิตมาร่วมอยู่บ้านเดียวกัน หรือจะเป็นรายการเจาะใจ ที่ปรับรูปแบบรายการ โดยดึงเอาคนดังมาเล่นเรียลิตี้โชว์  วันนี้ในไทยเองมีรายการเรียลิตี้โชว์ ไม่ต่ำกว่า 40 รายการ 

กับกระแสเรียลิตี้โชว์ที่มีอย่างมากมาย จึงทำให้ทุกอย่างต้องปรับปรุงให้ทันยุคสมัยมากขึ้น เพื่อสร้างการตอบรับที่ดี อนันต์ จันทร์วาววาม รองกรรมการผู้จัดการสายงานการผลิตรายการโทรทัศน์ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของรายการ Big Brother ที่มีผู้ชมมากขึ้นกว่าในปีแรก เพราะรูปแบบรายการที่มีสีสันมากขึ้น

“บิ๊ก บราเธอร์ ในปีนี้ จำนวนคนดูมากขึ้นกว่าเดิม นั่นเพราะเมื่อปีแรกที่ออกอากาศนั้น ทุกอย่างอาจจะดูขรุขระ ติดขัดไปบ้าง และเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนดู แต่พอมาถึงครั้งที่ 2 ตอนนี้บ้านบิ๊ก บราเธอร์ วางรากฐานอย่างดีมากขึ้น อุปสรรคที่เราเจอในปีแรกปีนี้จะไม่มีแล้ว และคราวนี้เราเพิ่มความสนุกมากขึ้น ทันสมัยกว่า เรียกง่ายๆ ว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไปกว่า 90% เลยทีเดียว”

ฮิตไม่รู้จบ
ดูเหมือนรายการประเภทนี้ จะเป็นที่นิยมอย่างไม่รู้จบ ดังคำกล่าวของ ดร.โรเบิร์ต ทอมสัน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษา Popular Television แห่งมหาวิทยาลัย Syracuse ที่กล่าวไว้กับ CNN เกี่ยวกับความนิยมของเรียลิตี้โชว์ว่า รายการประเภทนี้เป็นมากกว่ากระแสหรือเทรนด์ แต่มันกลายเป็นรูปแบบหรือฟอร์มหนึ่งของรายการบันเทิงในอเมริกาไปแล้ว เหมือนกับรายการบันเทิงแบบอื่น เช่น ละครทีวี รายการการแพทย์ หรือรายการเกี่ยวกับกฎหมาย และรายการเรียลิตี้โชว์นี้ก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน

ขณะเดียวกัน มร.ริคกี้ อาว ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท โซนี่ พิกเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เน็ทเวิร์คสฯ ซึ่งจะนำรายการ The Amazing Race Asia ออกอากาศทางช่อง AXN เร็วๆ นี้ ก็ยืนยันถึงยอดความนิยมของรายการประเภทนี้ว่า 

“เรียลิตี้โชว์ อย่างเช่น The Amazing Race ที่เป็นรายการการเดินทางแข่งขันผจญภัยรอบโลก ทุกๆ ตอนผู้ชมจะได้เห็นถึงมุมมองที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก และใน The Amazing Race Asia ที่กำลังจะแพร่ภาพในอีกไม่นานนี้ คาดว่าจะได้รับความนิยมมากเช่นกัน เพราะรายการนี้ได้รับรางวัลเอ็มมี่อวอร์ดถึง 3 ครั้ง ในสาขารายการเรียลิตี้ชุด แนวการแข่งขันผจญภัย และโด่งดังไปทั่วโลก แสดงว่า รายการประเภทนี้ยังได้รับความนิยมไม่มีเสื่อม และนอกจากนี้ ช่อง AXN ก็ยังมีฐานผู้ชมประมาณ 20-25 ล้านคน ที่เป็นแฟนรายการนี้”

โชว์ฉาว เอ็กซ์ เซ็กซ์ เปลือย
การจับชายหนุ่มหญิงสาวมาอยู่บ้านเดียวกัน ซึ่งเป็นรูปแบบยอดฮิตหนึ่งของเรียลิตี้โชว์ ทำให้ไม่วายต้องมีเรื่องคาวฉาวโฉ่อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับรายการ บิ๊ก บราเธอร์ ในต่างประเทศ ที่เกิดมีการนำภาพหลุดๆ เสียวๆ ของผู้เข้าแข่งขันมาออกอากาศ

นอกจากจะเป็นภาพเหตุการณ์ผู้แข่งขันชายเปลือยจนเห็นอวัยวะเพศแล้ว บางฉากยังมีภาพของผู้แข่งขันชายเปลือยกำลังนวดผู้แข่งขันหญิง หรือมีฉากที่ผู้เข้าร่วมแข่งขัน 2 คนกำลังนัวเนียอยู่ในอ่างอาบน้ำเดียวกัน และก็มีฉากเปลือยกายอาบน้ำให้เห็นกันอยู่เป็นประจำ

มิเชล หนึ่งในผู้เข้าร่วมแข่งขันและเป็นผู้ก่อเหตุในอ่างอาบน้ำจนถูกโหวตให้ออกจากรายการให้เหตุผลในเรื่องเพศสัมพันธ์ว่า “เป็นเรื่องที่ทุกคนน่าจะคาดคิดกันได้ว่าจะเกิดขึ้น เพราะการนำเอาคนต่างเพศที่ยังคงคึกคักมาอยู่ด้วยกัน 15 คน ต่างคนต่างเบื่อก็ต้องมีขึ้นเป็นธรรมดา”

อนันต์ จันทร์วาววาม โปรดิวเซอร์บิ๊ก บราเธอร์ กล่าวถึงรูปแบบของรายการที่จัดนำหนุ่มสาวมาอยู่บ้านเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการจงใจให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นหรือไม่นั้นว่า สำหรับรายการในไทยจะมีกฎระเบียบเคร่งครัดมากไม่เหมือนต่างประเทศ เช่น เราจะมีกฎห้ามผู้เข้าแข่งขันสูบบุหรี่ หรือมีความสัมพันธ์ในทางชู้สาว ถ้าทางทีมงานผู้จัดทำเห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมใดๆ ก็จะเรียกผู้เข้าแข่งขันมาตักเตือน

ใกล้ชิดชีวิตจริง
มร.ริกกี้ ฮาว พูดถึงเสน่ห์ที่ไม่รู้จบของรายการเรียลิตี้โชว์ว่า รายการประเภทนี้ มีเสน่ห์ดึงดูดผู้ชม ตรงที่การนำเสนอสิ่งที่เป็นความจริง และเสนอโอกาสให้กับคนธรรมดาสามัญได้มีโอกาสออกทีวี และได้มีโอกาสเด่นดัง

“เสน่ห์ของเรียลิตี้โชว์อีกอย่าง คือ ความเป็นธรรมชาติ ไร้ซึ่งสคริปต์หรือบทพูด คุณจะเดาไม่ออกเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้แข่งขัน ทุกอย่างดูจะเหนือความคาดหมาย และคุณจะได้เห็นความเป็นดราม่า หรือความเป็นชีวิตจริงๆ ที่หาดูไม่ได้จากในละคร หรือซีรี่ส์ทางโทรทัศน์

บ่อยครั้งมากที่ความเรียบง่ายและการเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของเรียลิตี้โชว์ และความจริงที่ว่า ผู้แข่งขันไม่ใช่ดารา แต่เป็นคนทั่วไปที่เราเจออยู่ทุกๆ วัน ทำให้เรียลิตี้โชว์มีความใกล้ชิด มีความใกล้ตัว และมีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะสำหรับผู้ชมทุกคน ทุกคนจะคาดหวังกันไปคนละอย่าง อยากให้ผู้แข่งขันทำอย่างโน้นอย่างนี้ หรือคุณอาจจะใส่ความเป็นตัวคุณเข้าไปในผู้แข่งขันก็ได้ว่าถ้าเป็นฉันจะทำอย่างนั้นอย่างนี้”

ทางด้านโปรดิวเซอร์บิ๊ก บราเธอร์ กล่าวถึงรูปแบบรายการที่คนดูอาจคิดว่า มีการจัดเตรียมบทขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้วเกิดจากความกดดันของผู้เข้าแข่งขันมากกว่า จึงแสดงพฤติกรรมที่ทำให้คนดูคิดว่าเกินจริงไปได้บ้าง

“การใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ในบ้านหลังเดียวกันเป็นเวลา 106 วัน ย่อมเกิดความกดดันอย่างแน่นอน กดดันทั้งในเรื่องการปรับตัว การใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และการกลัวถูกโหวตออก สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ผู้เข้าแข่งขันแสดงพฤติกรรมที่คนดูอาจคิดว่ามันเกินจริงไปบ้าง ซึ่งผมยืนยันได้ว่า เราไม่มีสคริปต์หรือบทให้ผู้เข้า แข่งขันอย่างแน่นอน”

เรียลิตี้โชว์ ที่แท้จริง
ลักษณะของเรียลิตี้โชว์ที่แท้จริงนั้น คือคนที่ถูกถ่ายจะต้องไม่รู้ตัว ไม่รู้เรื่องมาก่อน เพื่อที่คนดูจะรู้สึกตื่นเต้น คล้อยตาม และสนุกสนานในการชม แต่สำหรับเรียลิตี้ในปัจจุบันไม่ใช่ลักษณะนี้ ปัญหาจึงเกิดตามมาว่า คนดูอาจไม่รู้เท่าทัน คิดว่าสิ่งนี้คือเรียลิตี้ และอาจหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อการถูกชักจูงในด้านความคิด ความเชื่อได้ 

ดร.เดวิด วิลสัน อดีตที่ปรึกษาเรียลิตี้โชว์รายการหนึ่งแสดงทัศนะเกี่ยวกับเรียลิตี้โชว์ไว้ว่า “ผมคิดว่า เรียลิตี้โชว์มันก็แค่รูปจำแลงของรายการตลกแย่ๆ เท่านั้นเอง รายการประเภทนี้ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องฉุกเฉินดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะกล้องทีวีมัวแต่จะจับภาพเด็ด ของอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์เด็ดๆ และหัวเราะเยาะผู้เคราะห์ร้าย คนที่เข้าร่วมรายการพวกนี้ก็มีแต่คนแปลกแหวกแนวทั้งนั้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากค่านิยมปัจจุบันที่นับถือชื่อเสียงเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อใครๆ ก็อยากดัง ขณะการมาออกรายการพวกนี้ไม่ต้องใช้ความสามารถอะไรเลย มันก็เปิดช่องประจวบเหมาะเท่านั้นที่ให้เขาได้แสดงอะไรหลุดๆ แรงๆ ออกมา”

เขายังกล่าวเสริมอีกว่า ควรจะมีองค์กรอิสระ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มาดูแลเรียลิตี้ทีวี นอกจากนั้น ควรให้รายการพวกนี้ผ่านการดูแลรับรองของนักจิตวิทยา และบรรดาครูอาจารย์ด้วย

ขึ้นชื่อว่าเป็นรายการโทรทัศน์รูปแบบหนึ่ง จุดประสงค์หลักจึงเน้นการให้ความบันเทิงแก่คนดู ดังนั้น คนดูก็ควรจะดูเพื่อความสนุกสนานมากกว่าที่จะมาคอยจับผิดรายการ แล้วคุณก็จะได้สาระของความบันเทิงเข้ามาช่วยเติมสีสันให้กับชีวิตคุณได้อย่างแน่นอน




แสดงความคิดเห็น






Insurance


Advertisement