ดูแลสิว...เพื่อผิวสวย




สิวเป็นโรคของรูขุมขนและต่อมไขมัน

สิวเริ่มพบได้ตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่จะเริ่มพบได้มากในวัยรุ่น ในผู้ป่วยบางกลุ่มถึงแม้จะผ่านช่วงวัยรุ่นเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสเป็นสิวได้ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

สิวเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันคือ การสร้างเคอราติน (keratin) ที่ผิดปกติทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ส่งผลให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน และทำให้เกิดโคมิโดน (comedone) นอกจากนี้การขยายขนาดและการหลั่งไขมันเพิ่มของต่อมไขมันซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศชายในร่างกายที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติทั้งชายและหญิง จะทำให้เชื้อแบคทีเรียในรูขุมขนเพิ่มจำนวนมากขึ้น และแบคทีเรียเหล่านี้จะย่อยสลายสารไขมันที่หลั่งออกมาจากต่อมไขมันนั้น ให้เปลี่ยนเป็นกรดไขมัน ซึ่งมีฤทธิ์ระคายและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเป็นตุ่มหนอง

ปัจจัยและกิจวัตรประจำวันที่อาจทำให้เกิดสิว
1. อายุ / กรรมพันธุ์ สิวจะพบมากในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายที่เพิ่มระดับมากขึ้นในช่วงวัยรุ่นนี้จะไปกระตุ้นการทำงานและเพิ่มขนาดของต่อมไขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นสิวรุนแรงในหมู่พี่น้องหรือพ่อแม่ จะพบได้ว่าผู้ป่วยเหล่านี้จะมีสิวตั้งแต่อายุค่อนข้างน้อยและการรักษาจะยากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติในครอบครัว

2. เครื่องสำอางบางอย่าง เช่น ครีมบำรุงผิว เครื่องแต่งหน้า สบู่บางอย่าง น้ำมันแต่งผม จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโคมิโดน ซึ่งจะไปอุดตันรูขุมขน

3. การระคายเคือง เช่นการเสียดสี ขัดหน้า นวดหน้า หรือแม้แต่การล้างหน้าบ่อยๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวได้

4. อารมณ์เครียด ความกังวล รวมไปถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้สิวเป็นมากขึ้นได้

5. อาหารบางชนิด อาจมีสารกระตุ้น เช่น ผู้ป่วยบางรายจะสังเกตพบว่าสิวเห่อมากจากการรับประทานอาหารบางประเภท เช่น ถั่ว ของหวาน ของมันๆ ช็อกโกแลต หรืออาหารทะเล แต่ก็ไม่มีรายงานทางการแพทย์ว่าอาหารเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเกิดสิวในคนทั่วไป

6. ยาบางประเภท เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาฮอร์โมน ยากันชัก ยารักษาวัณโรคบางชนิด เป็นต้น

7. การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเห่อของสิวได้ เช่นที่อาจจะพบได้ในผู้หญิงช่วงที่มีประจำเดือน หรือช่วงตั้งครรภ์

8. โรคของระบบต่อมไร้ท่อบางชนิด หรือการมีโรคของถุงน้ำในรังไข่ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีผิวหน้ามัน ขนดกและความผิดปกติของประจำเดือนร่วมด้วย

วิธีปฎิบัติตน
1. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดสิว เช่น เครื่องสำอาง หรือครีมกันแดดที่เพิ่มความมันบนใบหน้า การนวดและการขัดหน้า
2. การทำความสะอาดผิวหน้า ควรล้างหน้าด้วยน้ำยาล้างหน้าหรือคลีนเซอร์อย่างอ่อน (gentle cleanser) ที่ไม่มีฟอง เพียงวันละ 2-3 ครั้งเท่านั้น (ขึ้นกับความมันของผิวหน้า) ไม่ควรฟอกสบู่บ่อยเกินไป เพราะความเป็นด่างของสบู่จะระคายผิว และก่อให้เกิดสิวขึ้นได้
3. หากมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องสำอาง หรือโลชั่น ควรเลือกใช้เครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน (oil free) หรือโลชั่นที่ระบุว่าไม่ก่อให้เกิดสิว (non-acnegenic) และไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน (non-comedongenic)
4. อย่าใช้มือที่ไม่สะอาดสัมผัสใบหน้า
5. อย่าบีบ หรือแกะหัวสิวให้แตก เพราะจะทำให้อักเสบมากขึ้น หายช้าลง หรือทำให้เกิดแผลเป็นได้
6. ควรสระผมบ่อยๆ อย่าปล่อยให้ผมมันและลงมาปรกตามใบหน้า พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันใส่ผมหรือโฟมแต่งผม
7. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียดหรือวิตกกังวลเกินไป
8. ในกรณีที่เป็นสิวหัวหนองขนาดใหญ่หลายๆเม็ด หรือมีอาการอักเสบมาก ควรพบแพทย์ เพราะจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะได้ไม่เกิดแผลเป็นจากสิว

การรักษาสิว
การรักษาสิวนั้นมีหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของสิวและความรุนแรง สิวอาจเป็นเรื่องธรรมชาติและหายได้เองสำหรับบางคน แต่ในบางรายที่มีการอักเสบมากการรักษาต้องเป็นไปในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงปรารถนา เช่น แผลเป็นนูน หรือแผลเป็นหลุม

ในผู้ป่วยที่มีสิวอักเสบค่อนข้างมากควรได้รับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการรักษาอย่างไม่ถูกต้องนอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังอาจทำให้เกิดการดื้อยา หรือได้รับผลเสียจากการใช้ยานั้นๆได้

ชนิดของยารักษาสิว
1. ยาที่ให้ฤทธิ์ลอกผิว จะลดการอุดตันทำให้ผิวหลุดลอก ลดจำนวนแบคทีเรีย และยังทำให้ยาชนิดอื่นซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น เช่น เอเอชเอ กรดซาลิไซลิก กรดกำมะถัน หรือรีซอร์ซินอล แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากตัวยาบางตัวมีฤทธิ์ในการรักษาต่ำ และบางตัวก็ระคายผิวค่อนข้างมาก
2. ยาลดการอุดตัน และลดการสร้างโคมิโดน เช่นยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ และอะดาพาลีน
3. ยาทาช่วยลดการอักเสบเป็นตุ่มแดง และลดจำนวนแบคทีเรีย เช่น ยาทาเบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ และยาทาปฎิชีวนะ เช่น อิริโทรมัยซิน หรือคลินดามัยซิน
4. ยารับประทาน ซึ่งมักใช้ในกรณีที่มีสิวอักเสบเป็นตุ่มหนองจำนวนมาก หรือมีแผลเป็น โดยยาที่ใช้มักเป็นยากลุ่มปฎิชีวนะ ยารับประทานวิตามินเอสังเคราะห์ เป็นต้น เนื่องจากยารับประทานสำหรับรักษาสิวมักจะต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน และพบผลข้างเคียงรุนแรงได้ ดังนั้นควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง นอกจากนี้ยังมียาคุมกำเนิด ซึ่งใช้เฉพาะในผู้ป่วยหญิงเท่านั้น

ที่มา เอกสารรู้ลึกเรื่องสิว เพื่อดูแลผิวสวย
บทความโดย น.พ. สมนึก กล่ำทวี
ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง
Cosmetic Dermatology U.S.A




แสดงความคิดเห็น






Insurance


Advertisement