เมืองไทยเรามีสภาพอากาศร้อนอยู่เสมอโดยเฉพาะหน้าร้อน หลายคนอาจเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อเที่ยวพักผ่อนชายทะเลกับครอบครัว แต่บางคนอาจไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนไกลๆ ทว่าทุกวันนี้อากาศจะยิ่งร้อนขึ้นเรื่อยๆจากสถานการณ์โลกร้อน ดังนั้นการดูแลและรู้จักโรคภัยที่มากับความร้อนจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพี่อให้ป้องกันและแก้ไขได้ทันท่วงทีสำหรับทุกๆคน
อาการลมแดด (HEAT STROKE)
เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมความร้อนที่เพิ่มขึ้นในทันทีทันใด ทั้งนี้เพราะศูนย์ควบคุมอุณหภูมิซึ่งอยู่ในสมองไม่สามารถเพิ่มการทำงานเพื่อการระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ปกติศูนย์ควบคุมอุณหภูมิกายจะทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ศูนย์นี้มีความไวต่ออุณหภูมิเลือดที่ไหลผ่าน หากอุณหภูมิในเลือดสูงขึ้นศูนย์จะส่งสัญญาณไปตามเส้นใยประสาททั่วร่างกาย ซึ่งก็ทำให้มีการขยายหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง เพื่อให้ความร้อนกระจายออกจากร่างกายและมีการลดของขบวนการเมตาบอลิซึ่มภายในร่างกาย เพื่อมิให้มีการผลิตความร้อนมากเกินควร หากศูนย์ควบคุมอุณหภูมิกายได้รับอันตรายเนื่องจากความร้อนจนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ผลที่ตามมาคือทำให้เกิดลมแดดได้ ยิ่งมีการเสียเหงื่อ (น้ำ) มากเท่าไร โอกาสที่จะเป็นลมแดดก็มีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นการออกกำลังกายหนักและนาน ก็จะทำให้ความทนทานต่อการขาดน้ำลดน้อยลง การขาดน้ำทำให้ปริมาณเลือดที่หล่อเลี้ยงผิวหนังและอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ ร่างกายจึงจำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ซึ่งตามธรรมชาติก็มักจะเลือกการส่งเลือดไปยังอวัยวะภายในและกล้ามเนื้อ เมื่อเป็นเช่นนี้ปริมาณเลือดที่หล่อเลี้ยงผิวหนังจึงถูกตัดลง ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้นโดยไม่อาจควบคุมได้
อาการของลมแดด:
มีการกระหายน้ำมาก ปากคอแห้ง
ตัวร้อนจัด หายใจสั้นและถี่
มีอาการเวียนศรีษะ ตาพร่า
การเคลื่อนไหวและสติสัมปชัญญะควบคุมไม่ได้
มีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย
เมื่อถึงขั้นนี้สำหรับคนออกกำลังกายหากยังออกกำลังกายต่อไปการหลั่งเหงื่อจะหยุดลง ผิวหนังจะแห้ง อุณหภูมิภายในร่างกายจะเพิ่มจนไม่สามารถควบคุมได้ ผลคืออวัยวะต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาการที่ตามมาคือหมดสติ ซึ่งหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงทีก็อาจเสียชีวิตได้
การปฐมพยาบาลขั้นต้น :
เมื่ออยู่กลางแสงแดดนานๆให้สังเกตตนเองว่ามีอาการเริ่มต้นของลมแดดให้หยุดพักทันทีเข้าพักในที่ร่มใกล้ ๆ
ผ่อนคลายเสื้อผ้าออก หรือถอดออกเท่าที่ทำได้ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัว
การดื่มน้ำในระยะนี้ทำได้โดยการจิบช้า ๆ เป็นระยะ ๆ และทำได้จนความกระหายหมดไป
ในกรณีที่มีอาการหมดสติขั้นรุนแรง :
ต้องปฐมพยาบาลทันที เพื่อช่วยชีวิต สิ่งที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันไป คือการเพิ่มการไหลเวียนเลือดของสมองด้วยการให้นอนราบยกเท้าสูง
การลดอุณหภูมิร่างกายด้วยการนำเข้าที่ร่มที่มีอากาศโปร่งสบาย ผ่อนคลายหรือถอดเสื้อผ้าออก ใช้น้ำเย็นชโลมตัวแล้วเช็ดออกติดต่อกัน
เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวแล้วจึงเว้นระยะการเช็ดตัวให้ห่างออกไป หากไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนอาจให้จิบน้ำช้า ๆ และให้ผู้ป่วยนอนพักต่อไปไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่ฟื้นสติ แม้มีการยกเท้าสูงขณะนอนแล้วก็ตาม ตลอดจนมีการลดอุณหภูมิกายด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ถ้านานกว่า 5 นาที ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยต้องมีการปฐมพยาบาลระหว่างทางตลอดจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล
หน้าร้อนกับความร้อนเป็นของคู่กัน ดังนั้นการเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้ทุกคนมีความสุขและสนุกกับหน้าร้อนได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากความกังวลใดๆ
ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลสมิติเวช