เป็นการผ่าตัดบริเวณหนังตาบน ซึ่งสามารถแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 แบบ คือ
1. การผ่าตัดในกรณีที่มีตาชั้นเดียวหรือมีตาสองชั้นอยู่แล้วแต่ชั้นค่อนข้างเล็ก ไม่ต้องมีการตัดหนังตาออกหรือมีการตัดออกเพียงเล็กน้อย มักจะทำในคนอายุน้อย
2. การผ่าตัดในกรณีที่มีตาสองชั้นอยู่เดิม แต่เมื่ออายุมากขึ้นหนังตาตกลงมาบังสายตาหรือขนตาแยงเข้ามาในลูกตาเกิดการระคายเคืองตา การผ่าตัดจะคล้ายๆกรณีแรก แต่จะมีการตัดหนังตาออกมากกว่า
การผ่าตัดเริ่มจากการกำหนดความสูงของชั้นตาให้เหมาะสมและวัดปริมาณของหนังตาที่จะตัดออก ในกรณีที่จำเป็นต้องตัดออกมาก แนวแผลก็จะต้องยาวออกมาเกินเปลือกตาลบนทางด้านข้าง เพื่อเก็บหนังส่วนเกินออกให้หมด หลังจากนั้นจะเริ่มฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณที่จะทำการผ่าตัด ผู้ป่วยบางคนที่รู้สึกกลัวแพทย์อาจให้ยาคลายกังวลชนิดกินหรือฉีดก่อนการฉีดยาชา เมื่อยาชาออกฤทธิ์แพทย์จะตัดผิวหนังและไขมันส่วนเกินออกแล้วเย็บชั้นตามที่กะเอาไว้ ก่อนจะเย็บปิดแผลที่ผิวหนัง
เทคนิคอื่นๆในการผ่าตัด
1. การใช้เลเซอร์ช่วยในการผ่าตัด อาจมีประโยชน์ในแง่ของการที่มีเลือดออกน้อยกว่า และอาจจะเจ็บน้อยกว่าบ้าง แต่การใช้เลเซอร์ไม่ได้ทำให้แผลสวยกว่าการผ่าตัดปกติ
2. การผ่าตัดโดยที่ไม่มีการกรีดแผลที่เปลือกตา ซึ่งทำโดยการเย็บที่เปลือกตาบนเท่านั้น เป็นการผ่าตัดที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีตาชั้นเดียว ไม่มีไขมันหรือผิวหนังส่วนเกินที่ต้องการการตัดออก
หลังการผ่าตัดควรจะประคบด้วยความเย็น 48-72 ชั่วโมงแรกและนอนหัวสูง เปลือกตาจะบวมมากที่สุดในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นจะค่อยๆยุบลงเรื่อยๆจนเข้าที่ในเวลาประมาณ 3-6 เดือน
อาการแทรกซ้อนของการผ่าตัด
1. เลือดออก หลังผ่าตัดวันแรกอาจมีเลือดออกจากแผลได้บ้าง ถ้าเลือดออกมากให้กดแผลเอาไว้สักครู่ หากเลือดไม่หยุดไหลให้รีบติดต่อแพทย์
2. แผลผ่าตัดติดเชื้อ พบได้ค่อนข้างน้อย
3. อาการแทรกซ้อนทางสายตา พบได้น้อยมาก
4. ชั้นตาเล็กหรือใหญ่เกินไป
5. ชั้นตาสองข้างไม่เท่ากัน
6. ภาวะตาแห้งจากการหลับตาไม่สนิท
ข้อเขียนโดย นพ.นราธิป ทรงทอง ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงาม ประจำรพ.วิภาวดี
คลินิกศัลยกรรมความงาม โทร. 0-2941-2800 ต่อ 2137