ในคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์แต่ประจำเดือนไม่มา มาน้อยหรือนาน ๆมาครั้ง สาเหตุที่พบมาจาก 4 สภาวะคือ
1. วัยที่ประจำเดือนเพิ่งมาครั้งแรก
2. วัยที่กำลังหมดประจำเดือน
3. ได้รับฮอร์โมนเข้าไปในร่างกาย
4. ฮอร์โมนผิดปกติ
วัยที่ประเดือนเพิ่มมาครั้งแรก ปัจจุบันประจำเดือนของเด็กผู้หญิงทั่วโลกมาเร็วกว่าสมัยก่อน จากอายุเฉลี่ยที่ประจำเดือนมาครั้งแรกอายุ 16-17 ปี เมื่อสมัย 100 ปีก่อน กลายเป็น 14-15 ปี เมื่อ 50 ปีก่อน 12-13 ปี เมื่อ 30 ปีก่อน และปัจจุบันอายุเฉลี่ยในการมีประจำเดือนครั้งแรกลดลงเหลืออายุเพียง 11-12 ปี
เชื่อว่าที่ประจำเดือนมาเร็วนั้นเกี่ยวข้องกับอาหาร การกินอยู่ที่ดี สิ่งแวดล้อมที่มีแสงสว่างหรือรังสีมากระตุ้นประสาทสมองของเด็กผู้หญิง ทำให้สมองทำงานเร็วกว่าปกติส่งฮอร์โมนไปกระตุ้นรังไข่ให้ปล่อยฮอร์โมนเพศออกมากระตุ้นเยื่อบุมดลูก แต่เนื่องจากรังไข่ของเด็กผู้หญิงที่มีอายุน้อยนั้นยังไม่พร้อมจะทำงาน เมื่อมีฮอร์โมนจากสมองมากระตุ้นก็ปล่อยฮอร์โมนได้บ้างปล่อยไม่ได้บ้าง ประจำเดือนจึงมักมาบ้างไม่มาบ้างจนกว่ารังไข่จะทำงานได้เต็มที่ ดังนั้นกรณีนี้จึงถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติต่อไปนี้ควรพามาพบแพทย์
1. ประจำเดือนมาเร็วกว่าอายุ 8 ปี เรียกว่าเป็นสาวเร็วไปอาจทำให้ตัวเตี้ยได้ เพราะกระดูกอ่อนปิดเร็วขึ้นจากการได้รับฮอร์โมนเพศ
2. ประจำเดือนขาดหายไปนานกว่า 3 เดือน หากไม่รักษาเวลาประจำเดือนมามักมามากกว่าปกติ
3. ประจำเดือนไม่ค่อยมา แต่มาครั้งหนึ่งนานและมากเกิน 1 สัปดาห์ หากไม่รักษาจะทำให้เกิดโรคโลหิตจางหรือภาวะซีดได้
4. ประจำเดือนมากระปริบกระปรอยตลอดทั้งเดือน
วัยที่กำลังหมดประจำเดือน ในวัยหมดประจำเดือนอยู่ในช่วงอายุ 45-50 ปี รังไข่เริ่มทำงานน้อยลงส่งผลให้ขาดหรือหมดฮอร์โมน ประจำเดือนจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บางคนเริ่มเปลี่ยนแปลงเร็วตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป อาการปกติของวัยที่จะหมดประจำเดือนมีดังนี้
1. ประจำเดือนมาเร็วขึ้น เช่น เคยมาเดือนละ 1 ครั้งก็อาจมาหัวเดือนท้ายเดือนหรือ 20 วันมาครั้งหนึ่ง
2. ประจำเดือนมาน้อยลงหรือเริ่มขาดหาย 2-3 เดือนมา 1 ครั้ง
3. ประจำเดือนมามาก แต่ต้องไม่มากจนเป็นอาการของการตกเลือด
ส่วนอาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์คือ
1. ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือมีก้อนเลือดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโตเกิน 3 ซ.ม.ออกมา
2. ประจำเดือนมาเกิน 7 วัน
3. มีเลือดออกหลังยกของหนักหรือมีเพศสัมพันธ์(อาจเป็นอาการของมะเร็งปากมดลูกได้)
4. เลือดประจำเดือนมีกลิ่นเหม็น(อาจเป็นการอักเสบภายในได้)
. ประจำเดือนขาด มีอาการทางร่างกายและจิตใจผิดปกติรุนแรง หงุดหงิดง่าย ร้อนวูบวาบ ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ ฯลฯ
ได้รับฮอร์โมนเข้าร่างกาย การได้รับฮอร์โมนมักมีผลกระทบกับประจำเดือนทำให้ประจำเดือนขาดหายได้ เช่น
1. การรับประทานยาคุมกำเนิดนาน ๆ บางเดือนอาจไม่มีประจำเดือน
2. การฉีดยาคุมกำเนิด มักไม่มีประจำเดือนเลย หรือนานๆจะมีประจำเดือนกระปริบกระปรอย
ทั้ง 2 กรณีถือว่าปกติ แต่หากพบความผิดปกติตามที่ได้กล่าวข้างต้นควรมาพบแพทย์
ฮอร์โมนผิดปกติ เป็นสาเหตุสุดท้ายที่ทำให้ประจำเดือนมาน้อยหรือไม่ค่อยมา อาจมาจากสาเหตุฮอร์โมนไม่เพียงพอที่จะขับเยื่อบุโพรงมดลูกให้กลายเป็นประจำเดือน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด อ้วนมากไป ผอมมากไป ทำให้สมองไม่ส่งสารเคมีออกมากระตุ้นการสร้างฮอร์โมนจากรังไข่ ส่วนสาเหตุอื่นที่พบได้คือมีฮอร์โมนเพศชายมากจากโรครังไข่หนา รังไข่ทำงานน้อยจากโรคโลหิตจาง มีเนื้องอกในสมอง ฯลฯ ส่วนการแก้ไขควรแก้ไขตามสาเหตุ
- อ้วน ลดความอ้วน
- ผอม บำรุงเพิ่มน้ำหนัก
- เครียด ลดความเครียดโดยการออกกำลังกาย ปรับวิธีคิด ฯลฯ
- ซีด เสริมธาตุเหล็กเพื่อช่วยบำรุงเลือด
- ขาดฮอร์โมน เติมฮอร์โมนที่ขาด เช่น ถ้าขาดฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจน อาจรับประทานยาสตรีที่มีส่วนผสมของว่านชักมดลูก เพราะในว่านชักมดลูกจะมีฮอร์โมน ฟีโทสโตรเจน จากธรรมชาติ ซึ่งมีฤทธิ์ประเภทเดียวกับฮอร์โมน เอสโตรเจน ที่มีในร่างกายผู้หญิง มีสรรพคุณช่วยบำรุงระบบการไหลเวียนเลือด ช่วยให้รอบเดือนมาเป็นปกติ ทำให้สุขภาพดี ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล ดูมีเลือดฝาด แต่หากมีฮอร์โมนเพศชายมากใช้ยาลดฮอร์โมนเพศชาย
แต่จะรักษาอย่างไรควรต้องไปปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนนะคะ