มะเร็งปากมดลูก...ถึงเวลาที่ต้องระวัง


จากสถิติ พบว่า ในทุกๆ 2 นาที มีผู้หญิง 1 คนจากทั่วโลกที่ต้องเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก...’ เรียกได้ว่าเพียงอ่านประโยคนี้จบ ก็มีคนคนหนึ่งกำลังจากไปด้วยโรคนี้... ก็แล้วเราควรจะทำอย่างไรเพื่อดูแลรักษาตัวเองให้พ้นจากอัตราเสี่ยงของการเกิดโรค ในประเทศไทยเอง มีสถิติที่บอกชัดว่ามะเร็งปากมดลูกคือมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย จำนวนผู้เสียชีวิตมีมากเฉลี่ยสูงถึง 7 คนต่อวัน พบผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 6,000 คนต่อปี และผู้มีเชื้อนี้กว่าครึ่งต้องเสียชีวิต กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงเหล่านี้อยู่ในวัย 30 – 60 ปี ที่น่าวิตกมากคือ ผู้หญิง 8 ใน 10 คนทั่วโลกมีโอกาสติดเชื้อนี้เป็นเปอร์เซ็นต์สูงถึงช่วงวัย 50 ปี โดยวัย 18 – 28 ปี คือช่วงที่พบการติดเชื้อได้สูงที่สุด
 
มะเร็งปากมดลูกเกิดจาก
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ‘ฮิวแมนแพปพิลโลมา’ (Human papillomavirus) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อเอชพีวี (HPV) เชื้อชนิดนี้เป็นเชื้อที่ทนทานต่อความร้อน และความแห้งแล้งได้ดี สามารถเกาะติดตามผิวหนัง อวัยวะเพศ เสื้อผ้า หรือแม้แต่กระจายอยู่รอบตัวในรูปของละอองฝุ่น ซึ่งเชื้อ HPV ชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ เชื้อหมายเลข 16 และ 18 นับว่าเป็นสาเหตุถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของมะเร็ง
ปากมดลูก  
 
ในเรื่องการติดต่อของเชื้อ...
HPV ติดต่อได้ง่ายมากโดยเฉพาะจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนที่คิดจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ จึงนับว่ามีอัตราเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนี้... อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อมักหายได้เอง ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย มีเพียงส่วนน้อยที่การติดเชื้อยังดำเนินต่อไป สร้างความผิดปกติให้กับเยื่อบุปากมดลูก และทำให้กลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา
 
จะรู้ได้อย่างไร ว่าติดเชื้อ HPV
โดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อ HPV จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆดังนั้น วิธีการตรวจว่าติดหรือไม่คุณจึงต้องทำการตรวจภายในหรือที่เรียกว่า แพปสเมียร์ (Pap Smear)
 
เพื่อค้นหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกก่อนที่อาการของโรคจะเกิด ทำให้รักษาได้ทันท่วงที และรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่เข้าตรวจเป็นประจำ แต่มาตรวจเมื่อมีอาการผิดปกติ คือมีอาการตกขาวหรือมีเลือดออกผิดปกติที่บริเวณปากช่องคลอด ฯลฯ เมื่อถึงเวลานั้น อาการที่เห็นมักเป็นการลุกลามของมะเร็งที่แพร่กระจายไปมากแล้ว ทำให้ยากแก่การรักษาให้หายขาด อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป มะเร็งปากมดลูก จะมีการดำเนินของโรคค่อนข้างช้า ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุเกิน 25 ปีขึ้นไป หรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว จึงควรเข้ารับการตรวจหามะเร็งปากมดลูกปีละครั้ง เพื่อค้นหาความผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก  

อะไรคือแพปสเมียร์

แพปสเมียร์ คือวิธีการตรวจหาความผิดปกติหรือมะเร็งปากมดลูกที่ค่อนข้างง่าย ใช้เวลาเพียง 2–3 นาทีเท่านั้น เป็นการตรวจที่ทำควบคู่ไปกับการตรวจภายในของผู้หญิง แพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด เมื่อเห็นปากมดลูก ก็จะใช้ไม้ขนาดเล็กขูดเบาๆ เพื่อเก็บเซลล์มาป้ายบนแผ่นกระจก และนำไปตรวจหาความผิดปกติ โดยก่อนที่จะตรวจ ควรตรวจร่างกายให้พร้อม ไม่ควรตรวจในช่วงระหว่างมีประจำเดือน งดการมีเพศสัมพันธ์ และงดการสวนล้างช่องคลอด หรือสอดยาใดๆ ก่อนเข้าทำการตรวจ ข้อดีคือ วิธีการตรวจแบบแพปสเมียร์นี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ 
 
วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

หลายๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องการรณรงค์ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ความจริงแล้ว ระดับการป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีหลายระดับ โดยระดับแรกของการป้องกันคือ การฉีดวัคซีน ที่เชื่อว่าลดความเสี่ยงได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ การป้องกันขั้นพื้นฐานด้วยการตรวจแพปสเมียร์เป็นประจำก็เป็นเรื่องสำคัญ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกา เด็กและหญิงสาวที่อายุต่ำกว่า 26 ปี ซึ่งไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน สามารถรับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ HPV ส่วนหญิงสาวที่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว ควรตรวจคัดกรองมะเร็ง
 
หรือ แพปสเมียร์ เสียก่อน เพราะเป็นไปได้ว่าอาจพบการติดเชื้อ หรือมีความผิดปกติ ซึ่งจะต้องทำการรักษาให้หายเสียก่อน จึงจะรับการฉีดวัคซีนได้ในเวลาต่อมา ส่วนวัยที่ควรเริ่มฉีดวัคซีนชนิดนี้คือ 9 ปีขึ้นไป และการใช้วัคซีนในผู้หญิงวัย 9 – 26 ปี จะป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 
 
มีอะไรในวัคซีน
คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจากสหรัฐอเมริกา ได้วิจัยแล้ว พบว่าวัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่สังเคราะห์เลียนแบบโครงสร้างเฉพาะส่วนเปลือกของเชื้อ HPV โดยที่ไม่ได้นำสายพันธุ์ (DNA) ของเชื้อไวรัสที่เป็นตัวการในการติดเชื้อมาใช้ผลิตวัคซีน เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนจะสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อ โดยอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนพบได้น้อยมาก ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนในเด็กหญิงจะมีผลดีในเรื่องการตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว
 
วัคซีนที่ผ่านการอนุมัติแล้วมีสองชนิดคือ วัคซีน HPV 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันครอบคลุมทั้ง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด และหูดอวัยวะเพศ และอีกชนิดหนึ่งคือ วัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ ซึ่งได้รับการรับรองว่าใช้ป้องกันสำหรับมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจากการศึกษาและติดตามผลเป็นระยะเวลา 5 ปีเต็ม พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนยังคงอยู่ในระดับสูง โดยปัจจุบัน ได้มีการวิจัย และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และพบว่าแนวโน้วภูมิคุ้มกันของวัคซีน HPV ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี ช่วงแรกของการใช้ จะยังไม่ทราบระยะเวลาคุ้มกันที่ชัดเจน ต่อมาก็พบว่าภูมิคุ้มกันมีโอกาสอยู่ต่อไปได้ตลอดชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องมีการฉีดกระตุ้น
 
ลักษณะวัคซีน
เมื่อตัดสินใจในการฉีดวัคซีนแล้ว จะต้องรับการฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนฉีดวัคซีน ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ แพทย์จะฉีดวัคซีนให้ที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน ผลข้างเคียงที่รุนแรงพบได้น้อยมาก ที่พบได้ชัดคือ มีอาการบวมแดงเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินใจฉีดวัคซีน คุณควรเข้ารับคำปรึกษาที่ชัดเจนจากแพทย์ เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจมะเร็ง
ปากมดลูกให้ดีขึ้น
 
ปัจจัยอันตราย ส่งเสริมมะเร็งปากมดลูก
- การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- การมีคู่นอนหลายคน หรือฝ่ายชายที่เราร่วมหลับนอนมีคู่นอนหลายคน
- การคลอดบุตรจำนวนหลายคน
- การสูบบุหรี่
- การมีภาวะคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเป็นโรคเอดส์  
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจากคลินิกสูตินรีเวช เที่ยงคืน โรงพยาบาลเจ้าพระยา และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ 
madame FIGARO Oct 2008





Pooyingnaka Wellness