ง่าย ๆ ด้วย...การหมั่นตรวจเต้านม โดยวิธีดังต่อไปนี้
ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป
ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 3 ปี ตั้งแต่อายุ 20 ปีเป็นต้นไปหลังอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี
ควรทำแมมโมแกรมและ/หรือ อัลตร้าซาวน์ ในช่วงอายุ 35-40 ปี 1 ครั้ง หลังอายุ 40 ปีเป็นต้นไป ควรทำทุก 1-2 ปี
ในผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ควรเริ่มทำการตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็น ลบออก 5 ปี ในรายที่มีความเสี่ยงสูง หรือเต้านมมีความหนาแน่นมาก การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะช่วยให้มีการค้นพบมะเร็งได้มากขึ้นกว่าการทำแมมโมแกรม การตัดสินใจว่าจะตรวจหรือไม่ควรปรึกษา แพทย์เฉพาะทาง
ง่ายๆ ด้วย...การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
เป็นการตรวจที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ถ้าเราทำเป็นประจำจะเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่มีความคุ้มค่ามากที่ สุด โดย
ตรวจเป็นประจำทุกเดือน
ตรวจหลังประจำเดือนมา 7 10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน
ตรวจวันเดียวกันของทุกเดือนถ้าคุณไม่มีประจำเดือนแล้ว
วิธีการตรวจ
1. ยืนหน้ากระจกแล้วดูที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง แล้วสังเกตว่า ขนาด รูปร่าง สีผิว ตำแหน่งของเต้านม หัวนม เป็นอย่างไร และควรเทียบการเปลี่ยนแปลงกับเดือนก่อน
2. หลังจากนั้นให้ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้างแล้วดูที่เต้านมอีกครั้ง ค่อยๆ หมุนตัวช้า ๆ เพื่อที่จะดูบริเวณด้านข้างของเต้านม
3. มือเท้าเอวและโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย ดูความเปลี่ยนแปลงซ้ำอีกครั้ง
4. ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบา ๆ ดูว่ามีเลือด หนอง หรือน้ำไหลออกจากหัวนมหรือไม่
5. เริ่มคลำเต้านม ให้คลำตั้งแต่กระดูกไหปลาร้าลงมา ใช้มือซ้ายคลำเต้านมข้างขวา ให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ทั้ง 3 นิ้วค่อยๆ กดลงบนผิวหนังเบา ๆ และกดแรงขึ้น จนกระทั่งสัมผัสกระดูกซี่โครง คลำเต้านมให้ทั่วทิศทาง การคลำทำได้หลายแบบ สิ่งที่ สำคัญคือต้องคลำให้ทั่วเต้านมไปจนถึงบริเวณรัก แร้ใต้วงแขน หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำ อีกข้างแบบเดียวกัน
6. เมื่อเสร็จการคลำในท่ายืนแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นคลำในท่านอน ใช้หมอนหนุนไหล่ข้างที่จะคลำ แล้วคลำซ้ำเหมือนท่ายืน
สิ่งตรวจพบที่ต้องระวังและควรมาพบแพทย์ ได้แก่
ก้อนหรือเนื้อเต้านมหนากว่าปกติ
ผิวหนังแดง หรือร้อน
รูขุมขนใหญ่ขึ้นเหมือนผิวส้ม ผิวหนังบุ๋ม หรือมีการหดรั้งมีการนูนของผิว
ปวดกว่าปกติที่เคย
คัน มีผื่น โดยเฉพาะบริเวณหัวนม และฐานรอบหัวนม หัวนมบุ๋ม การชี้ของหัวนมเปลี่ยนทิศทาง
เลือดไหลออกจากหัวนม หรือมีแผลที่หายยากของเต้านม หัวนม