คำพังเพยโบราณของไทย ที่มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า คนที่พูดภาษาใดก็จะเป็นคนชาตินั้น ภาษาในโลกนี้มีมากมายหลายพันหลายหมื่นภาษา บางทีชาติเดียวกันก็ยังมีภาษาที่แตกต่างกัน แต่ภาษาที่เป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กันจนเป็นภาษาสากลแล้วมีไม่กี่ภาษา ดังเช่น ภาษาอังกฤษ ก็เป็นหนึ่งในจำนวนหลายภาษาที่นับว่าเป็นภาษาสากลที่มีคนนิยมใช้กันมาก ในการติดต่อสื่อสารเจรจาความเมืองเซ็นสัญญา ข้อตกลง หรือข้อกฎหมายต่างๆ มักจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพราะเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
นอกจากนี้แล้ว ในปัจจุบันยังมีภาษาคอมพิวเตอร์ ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าและทันสมัยที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารด้วยอินเทอร์เน็ต หรืออีเมล ที่ทำได้อย่างรวดเร็ว และทำให้โลกใบใหญ่นี้แคบเข้าอย่างชัดเจน
คนเราเกิดมา หากไม่เป็นใบ้ ย่อมพูดได้ และภาษาที่พูดได้ภาษาแรกก็คือ ภาษาของตนเองที่เรียกว่า ภาษาพ่อ-ภาษาแม่ จากนั้นหากได้ศึกษาเล่าเรียนเพิ่มขึ้น ก็อาจพูดได้เป็นภาษาที่สอง ที่สาม ที่สี่ แล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล จากความสำคัญของภาษานี่เอง จึงมีคำกล่าวว่า
หากรู้ภาษาเพิ่มขึ้นอีก 1 ภาษา ก็จะเป็นคนเพิ่มขึ้นอีก 1 คน
เมื่อนำมาพิจารณาแล้ว ก็น่าจะมีเหตุผลและเป็นความจริงตามคำกล่าวนี้ เพราะการที่เรารู้ภาษาเพิ่มขึ้นอีก 1 ภาษา ก็จะได้รับรู้สามารถเจรจาติดต่อสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับเจ้าของภาษานั้นๆ ได้เพิ่มขึ้นอีก กลายเป็นอีกคนหนึ่งได้
ภาษาอังกฤษที่กล่าวว่าเป็นภาษาสากลภาษาหนึ่งนั้น สำหรับคนไทยแล้วยังถือว่าเป็นของที่ไม่คุ้นเคยนัก ไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นเก่า ซึ่งอาจจะได้รับการศึกษามาน้อย หรือศึกษาไม่ถูกแนวทาง ประกอบกับโลกยุคเก่ากับโลกยุคปัจจุบันแตกต่างกัน เพราะปัจจุบันนี้มีความเจริญก้าวหน้ามากกว่า สามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้คนยุคใหม่มีความรู้ในภาษาอังกฤษมากกว่าคนยุคก่อน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่จะนำพาประเทศชาติให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น นำไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้น ดังนั้นจึงสมควรสนับสนุนให้มีการศึกษาเล่าเรียนภาษาอังกฤษกันอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
มีการถกเถียงกันว่า ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษใครเรียนยากกว่ากัน คนที่บอกว่าภาษาอังกฤษง่ายกว่า เพราะมีพยัญชนะเพียง 26 ตัว ส่วนภาษาไทยมีตั้ง 44 ตัว และยังมีสระ มีวรรณยุกต์อีกมากมาย ส่วนคนที่บอกว่าภาษาไทยเรียนง่ายกว่า เพราะมีหลักเกณฑ์ แม้จะมีสระ มีวรรณยุกต์ ก็สามารถผันได้ทุกเสียง เช่น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า หรือ ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า ส่วนภาษาอังกฤษนั้นไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน เช่น DO อ่านว่า ดู แต่ GO ทำไมไม่อ่านว่า กู หรือ BEAR อ่าน แบร์ แต่ HEAR ทำไมอ่าน เฮียร์ ฟังแล้วก็ขำดี
เราคงตัดสินไม่ได้ว่า ภาษาอะไรเรียนง่ายหรือยากกว่ากัน เพราะเราเป็นคนไทย ต้องให้คนกลาง (ที่ไม่ใช่คนไทย) ตัดสินจะดีกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม หากเรายอมรับว่าการรู้ภาษาเพิ่มอีก 1 ภาษา ก็จะเป็นคนเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ก็ควรจะรีบขวนขวายเรียนรู้ภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง หรือสอง หรือสามภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่โลกยอมรับแล้วว่าเป็นภาษาสากล มีความสำคัญและมีความจำเป็นในการสื่อถึงกันและกัน ซึ่งจะทำให้เราก้าวหน้าทันโลก ทันยุค ทันสมัย และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
ในศัพท์ภาษาอังกฤษหลายๆ คำ เมื่อออกสำเนียงเป็นภาษาไทยแล้ว จะเกิดความหมายอีกอย่างหนึ่ง
วัยรุ่นสมัยนี้เขาถามปัญหากันว่า ห้องน้ำผู้ชายกับห้องน้ำผู้หญิง ใครจะเหม็นกว่ากัน
คำตอบก็คือ ห้องน้ำผู้หญิงเหม็นกว่า เพราะว่าหน้าห้องน้ำของผู้ชายจะเขียนคำว่า MEN เหม็น ส่วนของผู้หญิงจะเขียนคำว่า WOMEN วู้! เหม็น
คุณป้า วัยใกล้ 70 แกไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษเลย เป็นแม่ค้าขายผลไม้อยู่ในตลาด วันหนึ่งมีลูกค้าเป็นฝรั่งเดินมาซื้อผลไม้ หยิบกล้วยหอมสุกในกระจาดขึ้นมาบีบ แล้วถามว่า
What is this?
คุณป้าเห็นเข้าก็ร้อง แบนแน่-แน่! แบนแน่-แน่!
ฝรั่งก็ถึงบ้างอ้อ ร้อง Oh! I see Banana Banana
จากนั้นก็หันไปบีบมะละกอสุก ถามคำเดิม What is this?
ป้าแกโมโห เพราะบีบกล้วยหอมแบนไปแล้ว จะมาบีบมะละกอของแกอีก แกคว้าไม้จะฟาดหัวฝรั่ง ฝ่ายหลานสาวอยู่หลังร้านเข้า ก็ร้องห้าม ป้า ป้า อย่า ป้า ป้า อย่า
ฝรั่งอุทานออกมาเสียงลั่น
Oh I see Papaya Papaya
เออ! ไม่รู้ว่าฝรั่งโง่-ไทยฉลาด หรือฝรั่งฉลาด-ไทยโง่กันแน่