รู้ทันมะเร็งลำไส้ใหญ่


จากการเสียชีวิตของ ฟาราห์ ฟอว์เซ็ตต์ 1 ใน 3 นางฟ้าชาร์ลีรุ่นบุกเบิก ที่เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในวัย 62 ปี

เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อปี 2549 และเข้ารับการรักษาหลายครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น โรคมะเร็งได้ลามไปทั่วช่องท้องและตับ ซึ่งก่อนหน้านี้เธอเชื่อว่าสามารถต่อสู้จนหายจากโรคมะเร็งแล้ว แต่โรคก็กำเริบขึ้นอีกอย่างรวดเร็วพร้อมกับอาการที่รุนแรงกว่าเดิมจนเสียชีวิต

มะเร็งลำไส้ใหญ่มีอุบัติการณ์สูงขึ้นตามวัย แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะแรก โดยมีโอกาสหายสนิทหลังการผ่าตัดถึง 60-80% แต่กรณีของฟาราห์ด้วยวัย 62 ปี การเป็นมะเร็งชนิดนี้ก็นับว่าร้ายแรงพอสมควร และเป็นไปได้ว่าตอนที่ตรวจพบโรคอาจอยู่ในระยะที่ลุกลามไปมากแล้ว จึงทำให้ยากแก่การรักษา

นพ.อภิชาต สุรเมธากุล อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี ให้ความรู้ว่าจากสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตปีละ 6 หมื่นคน และอัตราการเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ ตลอดชั่วชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 1 ต่อ 25 เมื่อ 30 ปีก่อน มาเป็น 1 ต่อ 20 ในปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญคือ โอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเพิ่มขึ้นตามวัย โดยปกติจะพบน้อยในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี แต่โอกาสเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 2 เท่าทันทีหลังอายุ 50 ปี ความเสี่ยงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกหากมีปัจจัยเสริม เช่น มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเป็นโรคเนื้องอกของลำไส้ใหญ่ชนิด Familial Polyposis มีประวัติเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือผู้ที่ชอบกินอาหารที่อุดมด้วยไขมันและมีเส้นใยอาหารต่ำ เป็นต้น

มะเร็งทวารหนักคืออะไร

นพ.ยศพร โสภณธนะสิริ แพทย์ทางอายุรกรรม ทางเดินอาหาร โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า คือมะเร็งที่เกิดบริเวณลำไส้ส่วนปลาย โดยลำไส้ของคนเราต่อตรงจากปากถึงก้นและมีการกั้นเป็นระยะทวารหนัก คือ ส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ตอนปลายเราเรียกทวารหนัก มะเร็งส่วนปลายส่วนลำไส้ใหญ่จึงเรียก “มะเร็งทวารหนัก” ซึ่งสาเหตุของการเกิดมะเร็งในลำไส้จึงเป็นสาเหตุเดียวกันกับมะเร็งทวารหนักด้วยเช่นกัน

เพื่อการรู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร ได้แนะนำให้พึงสังเกตอาการเบื้องต้นเหล่านี้คือ มีเลือดออกทางทวารหนัก อุปนิสัยการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป เช่น เคยท้องผูกกลับถ่ายเหลวบ่อยๆ เคยถ่ายปกติกลับท้องผูก มีอาการปวดมวนในท้องหรือปวดท้องบ่อยๆ โลหิตจาง หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่พึงตระหนักไว้คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ จะเริ่มมีอาการต่อเมื่อโรคมีการพัฒนาระดับหนึ่งแล้ว แต่หากรอจนมีอาการดังกล่าวข้างต้น อาจหมายถึงก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่มาก หรือมีการลุกลามเกิดขึ้น ดังนั้นในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุมาก หรือมีอาการที่สงสัยจึงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้

ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่

นักวิจัยทางการแพทย์ พยายามคิดค้นวิธีการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สะดวกและให้ผลละเอียดแม่นยำ เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น ในปัจจุบันมีหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อจำกัดต่างกัน ดังนี้

1.การใช้นิ้วมือตรวจบริเวณทวารหนัก เป็นการตรวจเบื้องต้น โดยแพทย์จะสวมถุงมือทาสารหล่อลื่น และสอดนิ้วชี้ผ่านเข้าไปทางรูทวารหนัก เพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก จัดเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และไม่เจ็บ สามารถทำได้ที่ห้องตรวจของหมอทั่วไป แต่ข้อจำกัดคือสามารถตรวจได้เฉพาะบริเวณทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเท่านั้น

2.การตรวจหาเลือดในอุจจาระ ปกติอุจจาระที่เราขับถ่ายจะไม่มีเลือดปนอยู่ แต่ถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจพบหยดเลือดออกมาจากเนื้อร้าย ซึ่งเลือดเพียงนิดเดียวเวลาปนเปื้อนมาในอุจจาระจะสามารถตรวจพบได้ ข้อดีของวิธีนี้คือทำง่ายไม่แพง ไม่เจ็บ แต่มีความผิดพลาดในการวินิจฉัยได้ระดับหนึ่ง

3.การส่องกล้องตรวจทวารหนัก เนื่องจากมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนหนึ่งอาจเป็นบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายต่อเนื่องถึงทวารหนัก การใช้กล้องส่องตรวจทวารหนักแบบสั้นซึ่งมีความยาว 25 ซม. ส่องดูผนังทวารหนัก ซึ่งจะวินิจฉัยเนื้องอกโพลิปและมะเร็งขนาด 1 ซม. ขึ้นไป ได้ผลแม่นยำกว่า 95% แต่สามารถตรวจได้เพียง 25 ซม.ของลำไส้ใหญ่ วิธีนี้มีความแม่นยำในการวินิจฉัย และในหลายกรณีสามารถทำการผ่าตัดเนื้องอกหรือเนื้อร้ายออกได้เลย ต่อมามีการประดิษฐ์กล้องส่องตรวจที่ยาวขึ้น และเป็นกล้องงอได้ยาวประมาณ 60 ซม. ทำให้สามารถส่องดูลำไส้ใหญ่ได้ยาวขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดคล้ายกล้องส่องที่สั้นกว่า คือยังดูได้ไม่ทั่วลำไส้ใหญ่

4.การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นวิธีการมาตรฐานในปัจจุบัน แพทย์จะใช้กล้องพิเศษซึ่งเป็นท่อยาวขนาดเล็กสอดผ่านทวารหนักเพื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่ได้ มีข้อดีที่หากพบความผิดปกติ เช่น ติ่งเนื้อ เนื้องอก หรือเนื้อผิดปกติอื่นที่ยังแยกได้ไม่ชัดเจน แพทย์สามารถทำการตัดชิ้นเนื้อ หรือติ่งเนื้อนั้นออกมาตรวจได้โดยตรง ซึ่งในกรณีที่เป็นติ่งเนื้อหรือเนื้องอก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็ง หลังจากตัดออกผ่านกล้องแล้ว โรคก็จะหายสนิท โดยไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ หรือหากพบเป็นเนื้อที่ผิดปกติ การส่งชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยาถือเป็นวิธีการตรวจยืนยันมะเร็งที่ดีที่สุดในปัจจุบัน

5.การถ่ายภาพรังสีของลำไส้ใหญ่ โดยการสวนแป้งเข้าไปฉาบลำไส้ใหญ่แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์เรียกว่า “แบเรียม เอเนมา” ใช้เวลาตรวจประมาณ 30 นาที ซึ่งอาจสวนแป้งแบเรียมร่วมกับลมเข้าไปด้วยเรียกว่า Double Contrast Barium Enema ช่วยวินิจฉัยให้แม่นยำขึ้น

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ผู้รับการตรวจต้องสัมผัสรังสีและเมื่อตรวจพบเนื้องอก ก็ต้องไปส่องกล้องตรวจซ้ำเพื่อตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ วิธีนี้มีข้อดีคือสามารถตรวจลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด แม่นยำพอสมควร และมีความปลอดภัย

เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป จึงอาจมีโรคแฝงอยู่โดยไม่มีอาการแสดงอยู่เป็นปี แต่ถ้าโชคดีตรวจพบได้แต่เนิ่นๆ อาจทำให้รักษาหายขาดได้ ดังนั้น ในกรณีที่มีอายุเกิน 50 ปีแล้ว การตรวจร่างกายประจำปีเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ด้วยแล้ว ควรระมัดระวังให้มากขึ้น และเข้ารับการตรวจคัดกรองดังแนวทางข้างต้น

สาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

สิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว เนื่องจากมะเร็งเกือบทุกชนิดในโลกมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งทวารหนักนั้นจะพบว่ามี 2 ปัจจัยหลักดังนี้

1.ปัจจัยภายนอก เช่น การกินอาหารที่มีกากใยน้อย อาหารที่มีไขมันสูง ถ้ากินเป็นเวลานานอาจเกิดความเสี่ยงกับการเป็นมะเร็ง และจากผลการวิจัยยังพบว่าผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งทวารหนักด้วยเช่นกัน

2.ปัจจัยภายใน เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่ครอบครัวไม่มีประวัติจะไม่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง จากการวิจัยพบว่า มีโรคลำไส้บางชนิดที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งทวารหนัก เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเนื้องอกของลำไส้บางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

อาการเบื้องต้นที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งทวารหนัก ถ้ารอจนกว่าจะมีอาการให้เห็นก็อาจสายเกินแก้ไข โดยมากมักจะเป็นระยะค่อนข้างสุดท้าย โดยอาการที่พบได้เริ่มต้น คือ ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายไม่สุด ถ่ายยาก อุจจาระมีขนาดเล็ก น้ำหนักลด มีอาการซีด ดังนั้น ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแพทย์แนะนำให้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้

คำแนะนำ

1.ไม่มีสารเคมีหรือยาอะไรที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ ดังนั้นไม่ควรเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริม หรือการทำดีทอกซ์ลำไส้ใหญ่ เพราะนอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนจากสารเคมีบางชนิดในอาหารเสริมบางตัว เช่น การเกิดตับอักเสบ

2.การทำดีทอกซ์มีความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดการอักเสบหรือการแตกของลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อเทียบกับผลดีกับผลเสียที่ได้รับนั้นไม่มีความคุ้มค่า เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ถึงประโยชน์ชัดเจนที่ได้รับจากการดีทอกซ์

3.หากการกินอาหารเสริมและการทำดีทอกซ์ได้ผลดีจริง รัฐบาลเองคงออกนโยบายให้ประชาชนกินอาหารเสริมและทำดีทอกซ์ เพราะค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการเสียเงินรักษาโรคมะเร็งหลายเท่า

ชีวิตห่างไกลมะเร็งลำไส้ใหญ่

1.การเลือกกินอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ เช่น ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง การควบคุมไม่ให้น้ำหนักเกินมาตรฐานเกินไป

2.ควรรับการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น ด้วยการส่องกล้องในผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งในระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป (ข้อแนะนำในประเทศสหรัฐอเมริกา) รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังต่อเนื่องมายาวนาน

3.ผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีเนื้องอกที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางประเภท ก็จำเป็นต้องได้รับการคัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement