'สมาร์ทการ์ด' บัตรประชาชนไฮเทค




ปลอมยาก...ใบเดียวเบ็ดเสร็จ

ช่วงเวลานี้ถ้าใครไม่พกบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า บัตรสมาร์ทการ์ด (Smart Card) ถือว่าเชยมาก...ก!!
   
“บัตรประจำตัวประชาชน” เป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย เพื่อพิสูจน์ทราบ และยืนยันตัวบุคคล นับได้ว่าเป็นเอกสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ จะนำไปสู่การมีสิทธิด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้สิทธิเลือกตั้ง การสมัครงาน การติดต่อธุรกิจการค้า การทำนิติกรรมสัญญา รวมทั้งการติดต่อประสานงาน      กับส่วนราชการหรือภาคเอกชน  นอกจากนั้น ยังเป็นหลักฐานที่หน่วยงานต่าง ๆ ใช้ตรวจสอบบุคคล เพื่อประกอบการออกหนังสือสำคัญต่าง ๆ เช่น บัตรประจำตัว  ผู้ป่วยของโรงพยาบาล ใบอนุญาตขับขี่ หนังสือเดินทาง รวมทั้งบัตรเครดิตประเภทต่าง ๆ
   
หลักฐานทางประวัติศาสตร์     ที่สามารถชี้ชัดได้ว่า คนไทยเริ่ม     มีการใช้หนังสือยืนยันตัวบุคคล ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ปีพุทธศักราช 2457 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาตรา 90 ที่บัญญัติว่า  “กรมการอำเภอเป็นพนักงานทำหนังสือเดินทางสำหรับราษฎรในท้องที่อำเภอนั้น จะนำไปมาค้าขายในท้องที่อื่น”
   
คนไทยเริ่มรู้จักและใช้   บัตรประจำตัวประชาชนอย่างเป็น  ทางการ ในปี พ.ศ. 2486 รัชสมัย  ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โดยการนำของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอออกกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นมาบังคับใช้เป็นการเฉพาะครั้งแรก เรียกว่า   “พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พุทธศักราช 2486” นับเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวกับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่คนไทย แต่ประกาศและบังคับใช้เฉพาะราษฎรใน 2 จังหวัดเท่านั้น คือ จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี (กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) 
   
ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนชนิดใหม่ที่เรียกกันว่า บัตรประชาชนอเนกประสงค์ หรือบัตรสมาร์ทการ์ด ขึ้นมา ทำให้ประชาชนทั่ว ประเทศต่างทยอยไปทำบัตรใหม่กัน ซึ่งรุ่นใหม่หน้าบัตรจะมีรูปครุฑอยู่ด้านบนซ้าย ที่สามารถเก็บข้อมูล ได้มากขึ้นกว่าเดิมจาก 64 กิโลไบต์ เป็น 80 กิโลไบต์ โดยบัตรสมาร์ทการ์ดจะมีลักษณะแตกต่างจากบัตรทุกรุ่นที่ผ่านมา คือ ตัวบัตรทำด้วยพลาสติกชนิดพิเศษ มีความแข็งแรงทนทาน รายการในบัตรมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษกำกับในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างสากล มีไอซี ชิพ (IC Chip) สำหรับจัดเก็บข้อมูลจากหลายหน่วยงาน พร้อมลายพิมพ์      นิ้วมือเจ้าของบัตร เพื่อใช้ในการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลในการขอรับบริการต่าง ๆ จากหน่วยงานภาค  รัฐและเอกชน และมีสัญลักษณ์สำหรับตรวจสอบป้องกันการปลอมแปลงบัตรที่มีประสิทธิภาพยากแก่การปลอมแปลง 
   
ไอซี ชิพ ที่ฝังไว้ในตัว     บัตรสมาร์ทการ์ด เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ที่มีประสิทธิ ภาพสูง สามารถเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและหน่วยงานได้อย่างมหาศาล ซึ่งปัจจุบัน    มีหน่วยงานต่าง ๆ นำมาใช้แล้ว เช่น สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร      ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานเหล่านั้น
   
สมดี คชายั่งยืน ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการเข้าถึงบัตรสมาร์ทการ์ดของประชาชนให้ฟังว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีประชาชนที่ถือบัตรประชาชนอยู่ประมาณ 43 ล้านคน กระทรวงมหาดไทยได้ทยอยทำบัตรสมาร์ทการ์ดให้กับประชาชนไปแล้วประมาณ 20 ล้านคน หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถือบัตรประจำตัวประชาชนได้ใช้บัตรสมาร์ทการ์ดแล้ว และจะทยอยทำให้จนครบทั่วทั้งประเทศ
   
“ใครที่มีบัตรประจำตัวประชาชนเก่าและยังไม่หมดอายุ สามารถใช้ต่อไปได้จนกว่าบัตรจะหมดอายุ หรือหากต้องการเปลี่ยน เป็นบัตรสมาร์ท การ์ดก็สามารถทำได้ แต่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทำบัตรคนละ 20 บาท แต่บัตรประจำตัวประชาชนแบบเดิม จะไม่ได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการจากหน่วยงาน เนื่องจากบัตรเก่าไม่มี ไอซี ชิพ ซึ่งเป็นโปรแกรมอ่านหน้าบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเข้ารับบริการ อาทิ ธนาคาร บัตรสมาร์ทการ์ดที่มี ไอซี ชิพ จะสามารถตรวจสอบข้อมูลเจ้าของบัตรได้ เพราะไม่ใช่ดูเพียงข้อมูลจากหน้าบัตรเท่านั้น เพื่อป้องกันการปลอมแปลงบัตร”
   
รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข จะเริ่มใช้บัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์รุ่นใหม่แทนบัตรทองในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการพัฒนา การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศกับศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และศูนย์เทคโนโลยี สารสนเทศของกระทรวงสาธารณสุข ในการให้บริการผู้ป่วย
   
โดยทางสถานบริการสามารถตรวจสอบข้อมูลการเข้าใช้บริการของผู้ป่วยได้ตลอดเวลา ป้องกันการใช้บริการซ้ำซ้อน ซึ่งขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีแผนบูรณาการบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ ซึ่ง จะบรรจุข้อมูลสิทธิหลักประกันสุขภาพได้อย่างครบถ้วนทั้ง 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักบริหารการทะเบียนของ กระทรวงมหาดไทย ทำให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
   
นอกจากนี้ จะมีการนำข้อ มูลมาจัดเก็บเพิ่มเติมใน ไอซี       ชิพ อีกหลายหน่วยงาน เช่น   กระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับประวัติของเด็ก รวมทั้ง สภากาชาดไทย ซึ่งจะใช้ในการจัดเก็บข้อมูลของผู้บริจาคอวัยวะ และ  ในอนาคตหากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐทุกแห่งนำข้อมูลมาจัดเก็บไว้ในไอซี ชิพ มากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น เพราะสามารถใช้บัตรเพียงใบเดียวขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องพกพาเอกสารอื่นอีกต่อไป แม้กระทั่งสมุดทะเบียนบ้าน
    
บัตรสมาร์ทการ์ด นอกจากจะใช้เพื่อแสดงตนในการรับบริการ หรือทำนิติกรรมกับหน่วยงาน      ต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถใช้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อตรวจสอบข้อมูลของตนเอง รวมทั้ง  การตรวจสอบคัดรับรองสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ตลอดจนการตรวจ สอบสิทธิเลือกตั้ง ผ่านทางเครื่องบริการประชาชนแบบอเนกประสงค์ หรือ เครื่องเอ็มพีเอ็มซึ่งกรมการปกครองจะนำมาติดตั้งให้บริการในปลายปีนี้ โดยในระยะแรกจะติดตั้ง ณ สำนักทะเบียนอำเภอที่เป็นที่ตั้งของศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 9 จังหวัด และจะทยอยติดตั้งให้ครบทุกจังหวัด
    
“ถึงแม้จะมีการจัดเก็บข้อมูลของประชาชน หรือของหน่วยงานหลาย ๆ เรื่องไว้ใน บัตรสมาร์ทการ์ดก็ตาม แต่การจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้งานได้ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของบัตรด้วย โดยการเสียบบัตรเข้ากับเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ดและให้เจ้าของบัตรวางนิ้วชี้ เพื่ออนุญาตให้อ่านข้อมูลก่อนทุกครั้ง 
   
ประชาชนทุกคนที่มีบัตรสมาร์ทการ์ดจึงไม่ต้องกังวลว่าบุคคลภายนอกจะล่วงรู้ข้อมูลส่วนตัวที่จัดเก็บไว้ในบัตร และไม่ว่าบัตรของท่านจะสูญหายหรือบุคคลใดเก็บบัตรได้ แล้วนำบัตรไปเสียบเข้าเครื่องอ่านบัตรก็ไม่สามารถอ่านข้อมูลในบัตรของท่านได้เลย ตราบใดที่ท่านไม่ได้อนุญาตโดยการวางนิ้วบนเครื่องอ่านบัตร    ยกเว้นหน่วยงานที่ออกบัตรเท่านั้น และ หากพบการทุจริตปลอมแปลงบัตรสามารถแจ้งมาได้ที่เบอร์ 1548” ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กล่าวทิ้งท้าย
   
ในเมื่อบัตรสมาร์ทการ์ดมีข้อมูลของเจ้าของบัตรอยู่มากมาย...เพราะฉะนั้นนับจากนี้ควรเก็บรักษาไว้ให้ดี เดินทางไปไหนติดตัวไว้ตลอด!!.


วิวัฒนาการบัตรประชาชน

นับตั้งแต่เริ่มมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนมาจนถึงฉบับปัจจุบัน คนไทยมีบัตรประจำตัวประชาชนใช้  กันมาแล้ว 5 รุ่น ด้วยกัน ได้แก่
   
บัตรรุ่นแรก ทำด้วยกระดาษ มีลักษณะคล้ายบัตรยืมหนังสือของห้องสมุด พับเป็น 4 ตอน มี 8 หน้า เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 ถึง พ.ศ. 2505 ออกให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัด  พระนครและธนบุรี (กรุงเทพฯในปัจจุบัน)                                
   
บัตรรุ่นที่ 2 ตัวบัตรทำด้วยกระดาษทรง   สี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดพกพา มีรูปถ่ายผู้ถือบัตร  เป็นรูปขาว-ดำ พิมพ์รายการผู้ถือบัตรด้วยเครื่อง พิมพ์ดีดธรรมดาและเคลือบด้วยพลาสติกใส เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2506
   
บัตรรุ่นที่ 3 ตัวบัตรทำด้วยกระดาษ มีลักษณะคล้ายกับบัตรรุ่นที่สอง จุดแตกต่าง คือ รูปถ่ายผู้ถือบัตรเป็นรูปสีธรรมชาติ รายการผู้ถือบัตรพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ และเคลือบด้วยวัสดุป้องกันการปลอมแปลงชนิดพิเศษ เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 
   
บัตรรุ่นที่ 4 ตัวบัตรทำด้วยพลาสติก มีลักษณะคล้ายบัตรเครดิต มีแถบแม่เหล็กสำหรับบันทึกข้อมูลโดยมีสำนักทะเบียนเป็นผู้ผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ สามารถรับบัตรได้ภายใน 15 นาที เริ่มใช้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ในเขตท้องที่อำเภอเมือง จ.ปทุมธานีและทุกสำนักงานเขตในกรุงเทพฯ 
   
ต่อมา ได้ขยายระบบคอมพิวเตอร์ครอบคลุมทุกสำนักทะเบียนทั่วประเทศ  ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2547 ทำให้ประชาชนสามารถยื่น คำขอมีบัตรได้ทุกสำนักทะเบียน โดยไม่ต้องคำนึงถึงที่อยู่ในทะเบียนบ้าน รายการใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้น  มาในบัตรรุ่นนี้ คือ การลงรายการหมู่โลหิตและรายการศาสนาในบัตร ตามความสมัครใจของผู้ขอมีบัตร  บัตรมีอายุ 6 ปี โดยถือว่าวันครบรอบวันเกิด เป็นวันบัตรหมดอายุ
   
บัตรรุ่นที่ 5 บัตรประจำตัวประชาชนแบบ อเนกประสงค์ หรือบัตร Smart Card เริ่ม ใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2548 เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะให้ประชาชนมีบัตรเพียงใบเดียวใช้แทนบัตรทุกประเภทที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกในการพกพา และประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐในการออกบัตรประเภทอื่น ๆ.

Dailynews





Pooyingnaka Wellness