ประวัติวันวาเลนไทน์




วันวาเลนไทน์ ..

วันวาเลนไทน์ นั้นมีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน ในกรุงโรมสมัยก่อนนั้น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันเฉลิมฉลองของจูโน่ ซึ่งเป็นราชินีแห่งเหล่าเทพและเทพธิดาของโรมัน ชาวโรมันรู้จักเธอในนามของเทพธิดาแห่ง อิสตรีและการแต่งงาน และในวันถัดมาคือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ก็จะเป็นวันเริ่มต้นงานเลี้ยงของ Lupercalia การดำเนินชีวิตของเด็กหนุ่มและเด็กสาวในสมัยนั้นจะถูกแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเพณี อย่างนึง ซึ่งเด็กหนุ่มสาวยัง สืบทอดต่อกันมา คือ คืนก่อนวันเฉลิมฉลอง Lupercalia นั้นชื่อของเด็กสาวทุกคนจะถูกเขียนลงในเศษกระดาษเล็ก ๆ และจะใส่เอาไว้ในเหยือก เด็กหนุ่มแต่ละคนจะดึงชื่อของเด็กสาวออกจากเหยือก แล้วหลังจากนั้นก็จะจับคู่กันในงานเฉลิมฉลอง บางครั้งการจับคู่นี้ ท้ายที่สุดก็จะจบลงด้วยการ ที่เด็กหนุ่มและเด็กสาวทั้งสองนั้นได้ตกหลุมรักกันและแต่งงานกันในที่สุด

ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง (Claudius II) นั้น กรุงโรมได้เกิดสงครามหลายครั้ง และคลอดิอุสเองก็ประสบกับปัญหาในการที่จะหาทหารจำนวนมากมายมหาศาลมาเข้าร่วมในศึกสงคราม และเขาเชื่อว่าเหตุผลสำคัญก็คือ ผู้ชายโรมันหลายคนไม่ต้องการจากครอบครัวและคนอันเป็นที่รักไป และด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้จักรพรรดิคลอดิอุสประกาศให้ยกเลิกงานแต่งงานและงานหมั้นทั้งหมดในกรุงโรม ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีนักบุญผู้ใจดีคนหนึ่งซึ่งชื่อว่า ท่านนักบุญ " วาเลนไทน์ " ท่านเป็นพระที่กรุงโรมในสมัยของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สองท่าน นักบุญ วาเลนไทน์ และนักบุญ มาริอุส ได้จัดตั้งกลุ่มองค์กรเล็กๆ เพื่อช่วยเหลือชาวคริสเตียนที่ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้ และได้จัดให้มีการแต่งงานของคู่รักอย่างลับๆด้วย

 และจากการกระทำเหล่านี้เอง ทำให้ นักบุญ วาเลนไทน์ ถูกจับและถูกตัดสินประหารโดยการตัดศรีษะ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ประมาณปีคริสต์ศักราชที่ 270 ซึ่งถือเป็นวันที่ท่านได้ทนทุกข์ทรมานและเสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์ 
 
 
 
.. ทำไมจึงชื่อ " วันวาเลนไทน์ " ..

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น วันวาเลนไทน์ ซึ่งพวกหนุ่มสาวมักจะรีบไปซื้อบัตรส่งทักทายกันส่งใจถึงกัน นับเป็นความนิยมมากขึ้น ประเพณีนี้เข้ามาสู่ประเทศไทยทีละเล็กละน้อย และดูเหมือนจะเป็นที่นิยมมากขึ้นทุกปี เป็นประเพณีที่หนุ่มสาวนิยมกันมากเป็นพิเศษที่สหรัฐอเมริกาและที่ประเทศอังกฤษ

ทำไมจึงมีชื่อว่า “ วันวาเลนไทน์ ” และความหมายที่แท้จริงของวันนี้คืออะไร? และมาจากไหน?

นักบุญ วาเลนไทน์ (Valentine) เป็นสงฆ์คาทอลิกองค์หนึ่งที่ได้ถูกประหารชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คริสตศักราช 270 ในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิโรมัน เกลาดิอุส ที่ 2 ( Clanoius) โดยแท้จริงแล้วท่านนักบุญไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเพณีการเลือกคู่ หรือหาคู่ หรือหาแฟน หรือความรัก ความสนใจระหว่างหนุ่มสาว ท่านก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วยเลย ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำไมจึงเลือกนักบุญองค์นี้มาเป็นองค์อุปถัมภ์สำหรับผู้ที่กำลังหาคู่ เลือกคู่หรือเลือกแฟนกันได้เล่า ? เหตุผลที่ค้นพบได้ก็คือ ที่มาของวันวาเลนไทน์ ไม่ขึ้นอยู่กับคนผู้นี้ แต่ขึ้นอยู่กับวันที่ 14 กุมภาพันธ์

ประเพณีเลือกคู่ หรือหาคู่นี้มีมาแต่โบร่ำโบราณในทุกชาติ ดูเหมือนกับว่าได้เกิดขึ้นพร้อมกับวิวัฒนาการของมนุษย์ก็ว่าได้ ประเพณี วาเลนไทน์ นี้ก็มีต้นเหตุหรือ ที่มาสมัยที่จักรวรรดิโรมันแผ่อิทธิพลไปทั่ว ชาวโรมันสมัย โบราณมีการฉลองเทพเจ้าองค์หนึ่งชื่อ ลูแปร์คูส (Lupercus) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ และถือว่าเป็นการฉลองใหญ่ ส่วนหนึ่งของการฉลองใหญ่นี้ก็จะเป็นการจัดงานหาคู่ของพวกหนุ่มสาว ซึ่งจัดขึ้นในวันก่อนวันฉลองใหญ่ 1 วัน คือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้จะถือโอกาสให้พวกหนุ่มสาวเสนอตัวเป็นคนรักกันชั่วระยะเวลา 1 ปี ช่วงนี้จะเรียกว่าเป็นช่วงทดลองมิตรภาพเพื่อดูว่าทั้งคู่จะมีนิสัยใจคอเข้ากันได้หรือไม่ ชาวโรมันเป็นคนศรัทธาในเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ก็มีความเชื่อกันว่าพวกตนมีเทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งเขาขอให้เป็นผู้ดูแลความรักของเขาในระหว่างช่วงระยะเวลาการทดลองเป็นคู่รักกัน 1 ปี นั้น เทพเจ้าองค์นี้เป็นหญิงชื่อเทพธิดา Juno Februata ซึ่งตาม เทพนิยายของชาวโรมันเป็นมเหสีของ Jupiter องค์มหาเทพเจ้าทั้งหลาย

ครั้นต่อมา เมื่อชาวโรมันส่วนใหญ่กลับใจมาถือศาสนาคริสต์ (ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 4 ) ประเพณีของหนุ่มสาวที่จะหาคู่เพื่อทดลองเป็นคนรักกัน เพื่อจะแต่งงานกันในเวลาต่อไปนั้นก็ยังนิยมทำกันอยู่ แม้ว่าจะเป็นคริสตชนแล้วก็ตาม ฉะนั้นเขาก็ยังรักษาประเพณีการเลือกคู่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นั้นอยู่ตลอดมา เพียงแต่ว่าหนุ่มสาว โรมันชาวคริสต์ได้หันมาเปลี่ยนตัวผู้อุปถัมภ์องค์ใหม่ เพราะคริสตชนไม่นับถือเทพเจ้าหรือเทพธิดาอย่างกาลก่อน เขาจึงหันมาเลือกหานักบุญในคริสตศาสนาที่มี วันฉลองในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็มี นักบุญวาเลนไทน์องค์นี้เอง จึงขอยืมชื่อท่านมาเป็นองค์อุปถัมภ์แทนเทพเจ้าเดิมของชาวโรมัน เรื่องราวความเป็นมามีดังนี้ ฉะนั้นถ้าท่านนักบุญมีชีวิตอยู่ท่านอาจรู้สึกงงงวยในตำแหน่งที่หนุ่มสาวได้เลือกตั้งและแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้อุปถัมภ์ โดยที่ท่านไม่ได้รู้เรื่องทางโลกของหนุ่มสาวด้วยเลยแม้แต่น้อย

ความรักระหว่างหนุ่มสาวนั้นอาจจะเผชิญกับอันตรายบางอย่าง และอาจจะเป็นโอกาสให้พลังและความรักนั้นทำลายความสัมพันธ์อันสูงส่งระหว่างหนุ่มสาวนั้นเอง ความหมายของการมี วันวาเลนไทน์ นี้ก็คือการช่วยหนุ่มสาวหาวิธีการเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วยใจบริสุทธิ์

ความหมายเห็นได้ชัดในคำว่า “You are my Valentine” ที่มักจะเขียนลงในบัตรส่งใจถึงกันและกัน ประโยคตามความหมายเดิม หมายถึงว่า “ข้าพเจ้าขอเสนอตัวเป็นเพื่อนสนิทของท่านในช่วงเวลา 1 ปี และข้าพเจ้าพร้อมที่จะตกลงแต่งงานกับท่าน ถ้ามิตรภาพของเรานี้เป็นสิ่งที่ยืนยง”

ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวที่จะช่วยให้ก้าวหน้าในความรักที่แท้จริงนั้น ก็ควรจะประกอบด้วย 3 ข้อด้วยกัน ดังนี้

1. ให้รู้จักกันทั้งในด้านดี ในด้านเสีย และข้อผิดพลาดซึ่งต่างก็มีอยู่ และยอมรับซึ่งกันและกันในข้อเหล่านั้น
2. ให้เคารพและเห็นใจกัน โดยเสียสละต่อกันเพื่อให้คนรักของตนได้รับความดี และความสุขใจในทางที่บริสุทธิ์งดงาม
3. ให้มีการปรับปรุง และเปลี่ยนนิสัยของตนในส่วนที่บกพร่อง เพื่อจะอยู่กันด้วยความสุขในอนาคต

ลักษณะทั้งสามดังกล่าวนี้ คงจะเป็นประโยชน์สำหรับหนุ่มสาวไทยไม่เฉพาะ ในวันวาเลนไทน์หรือสำหรับกลุ่มที่นิยมประเพณีต่างประเทศเท่านั้น แต่สำหรับทุกคู่ที่แสวงหาวิธีการเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันอัน จะนำไปสู่ความรักที่มั่นคงและยั่งยืนชั่วชีวิต
 
 
 
.. คิวปิด ..

คนทั่วไปรู้จัก คิวปิด ในภาพของเด็กน่ารักที่มีปีก มือถือคันธนูกับลูกศรและมีชื่อเสียงในเรื่องการยิงศรรักปักหัวใจของใครต่อใคร ศรรักของ คิวปิด หมายถึงความปรารถนาและอารมณ์แห่งความรัก คิวปิด จะเล็งลูกศรไปที่พระเจ้าและมนุษย์เพื่อทำให้พระเจ้ากับมนุษย์รักกัน
คิวปิดมักจะมีบทบาทในการเฉลิมฉลองความรัก ในกรีกโบราณ คิวปิด เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า เอโรส ลูกชาย แอฟโพไดท์ เทพธิดาแห่งความรักและความสวยงามแต่สำหรับพวกโรมัน เขาคือ คิวปิด และแม่ของเขาคือ วีนัส

มีเรื่องน่าสนใจพอสมควรเกี่ยวกับ คิวปิด และ ไซคี เจ้าสาวของเขาในเทพนิยายโรมัน ผมขอแนะนำผู้อ่านให้รู้จักคู่รักของ คิวปิด สักนิดนะครับว่าเธอเป็นเทพธิดารูปงามในนิยายกรีกโบราณมีปีกเป็นผีเสื้อ และเพราะความงามนี้เองที่ทำให้ วีนัส อิจฉา นางจึงได้สั่ง คิวปิด ให้ลงโทษว่าที่ลูกสะใภ้เสีย แต่ คิวปิด ตกหลุมรักเธอเกินกว่าที่จะทำตามความต้องการของแม่ ดังนั้น แทนที่จะลงโทษเธอ คิวปิด กลับเอาเธอเป็นภรรยาเสียเลย แต่เนื่องจาก ไซคี มิได้เป็นอมตะ เธอจึงถูกห้ามมิให้มองเขา (ตรงนี้ผมไม่ทร าบเหมือนกันนะครับว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ได้เธอเป็นภรรยาแล้วภรรยามองไม่ได้ แต่อย่าไปคิดอะไรมากนะครับ เพราะเทพนิยายฝรั่งก็ไม่แตกต่างอะไรไปจากละครน้ำเน่าบ้านเรา)

หลังจากตกเป็นภรรยาของ คิวปิด แล้ว ไซคี ก็มีความสุขเรื่อยมา (ก็แหงละ) จนกระทั่งพี่สาวของเธอได้รบเร้าให้เธอมอง คิวปิด ทันทีที่เธอมอง คิวปิด คิวปิด ก็ลงโทษเธอด้วยการทิ้งเธอไปทันที พร้อมกันนั้นปราสาทและสวนอันสวยงามของเธอก็ต้องมลายหายไปด้วย หลังจากนั้นไซคี ก็พบว่าตัวเองอยู่ตามลำพังในทุ่งโล่งแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆหรือ คิวปิด ปรากฏให้เห็นเลย

ในขณะที่เธอออกเดินทางค้นหาคนรักของเธอนั้น เธอก็มาถึงวิหารของ วีนัส โดยบังเอิญ เมื่อ วีนัส เทพธิดาแห่งความรักพบว่า ไซคี ยังมีชีวิตอยู่ เธอก็ปราถนาที่จะ ทำลาย ไซคี ด้วยการให้งานที่หนักและอันตรายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ งานสุดท้ายที่ ไซคี ได้รับมิใช่งานขับเครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดครับ หากแต่เธอได้รับกล่องใบหนึ่งมาและได้ถูกสั่งให้ลงไปยังใต้โลกเพื่อเอา ความงามของ โพรเซอร์พีน ภรรยาของ พลูโต ใส่กล่องใบนี้มา ในระหว่างที่เธอเดินทางอยู่นั้น เธอก็ได้รับคำแนะนำให้รู้จักการหลีกเลี่ยงอันตรายจากอาณาจักรแห่งความตาย นอกจากนั้นแล้ว เธอยังได้ถูกเตือนมิให้เปิดกล่องใบนั้นอีกด้วย แต่เพราะทนไม่ไหวหรือเพราะความอยากรู้อยากเห็นหรืออะไรก็ไม่ทราบ เธอได้เปิดกล่องใบนั้น แต่แทนที่จะพบกับความงาม เธอกลับต้องหลับเป็นตาย

ต่อมา คิวปิด ได้มาพบร่างอันไร้ชีวิตของเธอบนพื้นดิน เขาจึงได้นำเอาอาการหลับเป็นตายออกจากร่างของเธอและนำมันไปเก็บไว้ในกล่อง หลังจากนั้น คิวปิด ก็ได้ให้อภัยเธอเช่นเดียวกับ วีนัส เมื่อเทพเจ้าทั้งหลายเห็นความรักที่เธอมีต่อ คิวปิด จึงได้ตั้งให้เธอเป็นเทพธิดาองค์หนึ่ง

ปัจจุบันนี้รูป คิวปิด แผลงศรเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักที่ผู้คนมักนิยมใช้กัน และเมื่อศรรักของ คิวปิด พุ่งโดนหัวใจหนุ่มสาวคนใดในวันวาเลนไทน์ หนุ่มสาวคนนั้นก็จะออกอาการ "สติวปิ้ด" จากศรรักของ คิวปิด ขึ้นมาทันที อาการนี้จะเห็นได้จากการส่งดอกกุหลาบสีแดง ส่งช็อคโกแล็ต การส่งบัตรอวยพรและอื่นๆ อีกครับ

หมายเหตุท้ายบท : "สติวปิ้ด" เป็นภาษาอังกฤษแปลว่า "โง่" ครับ เหมือนคำบางคำที่เราอาจเคยได้ยินว่า "ความรักบางครั้งก็ทำให้คนตาบอด และ มองไม่เห็นข้อบกพร่องของคนที่เรารัก"
 
 ขอบคุณ edupark.com ค่ะ





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement